ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Leukotriene receptor antagonists)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์(Leukotriene receptor antagonists หรือ Leukotriene antagonists ย่อว่ายา LTRA) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบของร่างกายที่ไม่ใช่กลุ่มยาสเตียรอยด์ (Non-steroidal) ทางคลินิกจะใช้ยานี้ป้องกันภาวะหลอดลมหดเกร็งตัวและอาการหอบหืด โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ในลักษณะปิดกั้นกระบวนการชีวะเคมีในร่างกายที่ก่อให้เกิดการอักเสบ

ยาลิวโคทรีนรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์ ไม่ใช่ยาทางเลือกแรกในการรักษาอาการหอบหืด แพทย์จะใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสเตียรอยด์ชนิด สูดพ่นเข้าทางปากแล้วไม่ได้ผล โดยทั่วไป ยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์จะแสดงฤทธิ์บำบัดอาการหอบหืดได้เต็มที่โดยใช้เวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ ซึ่งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ จะเป็นยาชนิดรับประทาน สามารถใช้กลุ่มยานี้ได้ทั้งกับเด็กและกับผู้ใหญ่ ผู้ป่วยเพียงรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์วันละ 1-2 ครั้งต่อเนื่องก็เพียงพอต่อการคุมอาการของโรคได้แล้ว

อาจแจกแจงรายการยาในหมวดลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ได้ดังนี้

ก. ยา Montelukast: ใช้รักษาอาการของโรคหอบหืด รวมถึงอาการแพ้ที่เกิดในระบบหายใจ รูปแบบของยาแผนปัจจุบันเป็นยาชนิดรับประทาน และตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ปานกลาง แพทย์มักจะใช้ยานี้ร่วมกับยาพ่นชนิด Corticosteroids เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ชื่อการค้าที่พบเห็นและเป็นที่รู้จักกันดี คือยา “Singulair”

ข. Zafirlukast: ทางคลินิกใช้รักษาอาการหอบหืด รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน มักใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นเข้าทางปาก ยา Zafirlukast จัดเป็น ยาที่มีการออกฤทธิ์นาน โดยทั่วไป ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้วันละ 2 ครั้ง ปัจจุบันยานี้ได้ถูกรับรองและขึ้นทะเบียนมากกว่า 60 ประเทศและพบเห็น การจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Accolate”

ค. Pranlukast: เป็นยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในประเทศญี่ปุ่น เป็นยาชนิดรับประทาน ทางคลินิกใช้ขยายหลอดลมและบำบัดอาการหอบหืด ชื่อการค้าที่รู้จักกันในต่างประเทศคือ “Onon”

ในประเทศไทย “ยา Montelukast หรือ Montelukast sodium” เป็นยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ที่ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีเงื่อนไขและข้อควรระวังการใช้ดังนี้ “ชนิดเคี้ยว/ chewable tab 4 mg ใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2-5 ขวบ และควรติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาทาง neuropsychiatric/ทางระบบประสาท จากการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง”

กลุ่มยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์จัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อยามารับประทานเอง

ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ลิวโคทรีนรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์

ยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ
  • รักษาอาการหอบหืด โรคหืด
  • ป้องกันอาการหดเกร็งของหลอดลม

ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์ ที่บริเวณช่องทางเดินหายใจ/หลอดลมของมนุษย์ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวม รวมถึงลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบในช่องทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการขับ น้ำเมือก/สารคัดหลั่งต่างๆที่อุดกั้นทางเดินหายใจให้หลุดออกมาโดยง่าย

ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน หรือชนิดเคี้ยวรับประทาน
  • ยาผงชนิดละลายน้ำก่อนรับประทาน

ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาลิวโคทรีนรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์ มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. Montelukast:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป: รับประทาน 10 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เวลาเย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • เด็กอายุ 2-5 ปี: รับประทาน 4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เวลาเย็น
  • เด็กอายุ 6-14 ปี: รับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง เวลาเย็น

ข. Zafirlukast:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ค. Pranlukast:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 225 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • เด็ก: รับประทาน 3.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ห้ามรับประทานยาเกิน 450 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ช่วงท้องว่าง
  • ห้ามมิให้ใช้ยานี้รักษาภาวะหอบหืดแบบเฉียบพลัน
  • *การได้รับยานี้เกินขนาด อาจทำให้มีอาการ ปวดท้อง ง่วงนอน กระหายน้ำ ปวดศีรษะ อาเจียน ซึ่งถ้าเกิดอาการเหล่านี้ ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด่วน ซึ่ง การรักษา แพทย์จะดูแลและบำบัดตามอาการที่เกิดขึ้น(การรักษาประคับประคองตามอาการ)

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิวโคทรีนรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลิวโคทรีนรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลิวโคทรีนรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์ สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์สามารถก่อให้ อาการ/ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องอืด ปวดท้อง ปวดฟัน กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน วิงเวียน ง่วงนอน มีไข้ นอนไม่หลับ เกิดอาการลมชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดอาการไอ น้ำมูกคั่ง/น้ำมูกมาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ลมพิษ
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจร/หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตัวบวม
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ก้าวร้าว กระสับกระส่าย ฝันแปลกๆ อารมณ์หงุดหงิดง่าย ประสาทหลอน

มีข้อควรระวังการใช้ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการหดเกร็งของหลอดลมแบบเฉียบพลัน/อาการหอบหืดเฉียบพลัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาลาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Montelukast ร่วมกับยา Rifampicin, Phenobarbital และ Phenyltoin อาจทำให้ยา Montelukast ในร่างกายถูกตับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีได้มากยิ่งขึ้นจนส่งผลลดประสิทธิภาพการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Pranlukast ร่วมกับยา Wafarrin อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการเลือดอออกง่ายตามมา หากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยา Zafirlukast ร่วมกับยา Fluconazole อาจทำให้ระดับยา Zafirlukast ในร่างกายเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูงขึ้นติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร

ควรเก็บยาลิวโคทรีนรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์ ในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ลิวโคทรีน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลิวโคทรีนรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Astair (แอสทแอร์)Sriprasit Pharma / SPS Medical
Montek 10 (มอนเทก 10)Silom Medical
Montulair 10 (มอนทูแลร์ 10)Unison
Singulair (ซิงกุลแอร์)MSD
ZUVAIR (ซูแวร์)Dr. Reddy's

บรรณานุกรม

  1. http://www.asthma.ca/adults/treatment/leukotriene.php[2017,June24]
  2. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/54[2017,June24]
  3. http://www.medscape.com/viewarticle/440964_3[2017,June24]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Montelukast[2017,June24]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/020547s027lbl.pdf[2017,June24]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Pranlukast[2017,June24]
  7. http://www.mims.com/india/drug/info/pranlukast/?type=full&mtype=generic#Actions[2017,June24]