ลิรากลูไทด์ (Liraglutide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ลิรากลูไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ลิรากลูไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลิรากลูไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลิรากลูไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ลิรากลูไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลิรากลูไทด์อย่างไร?
- ลิรากลูไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลิรากลูไทด์อย่างไร?
- ลิรากลูไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อินเครติน มิเมติกส์ (Incretin mimetics)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
บทนำ
ยาลิรากลูไทด์(Liraglutide)เป็นยาที่เป็นสารประเภท Glucagon-like peptide-1 receptor angonist หรือ Incretin mimetics มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้นาน จึงนำมาใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ประโยชน์อีกประการหนึ่งของยานี้ คือใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วนในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินที่คำนวณจากค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาลิรากลูไทด์จะเป็นยาฉีด โดยใช้ฉีดเข้าทางใต้ผิวหนัง และใช้เวลาประมาณ 8 – 12 ชั่วโมง ตัวยาในกระแสเลือดจึงจะมีความเข้มข้นสูงสุด อัตราการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายมีเพียงครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 55% ยาลิรากลูไทด์ในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 98% และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมงขึ้นไปในการขับยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งการใช้ยาลิรากลูไทด์จะต้องมีความต่อเนื่อง และเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
ผู้ที่ได้รับยาลิรากลูไทด์เกินขนาด จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อย่างรุนแรง การช่วยเหลือบำบัดรักษากรณีนี้ แพทย์จะบำบัดรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น(การรักษาประคับประคองตามอาการ)
มีข้อห้ามใช้ประการสำคัญของยาลิรากลูไทด์กับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อไทรอยด์ ชนิด Medullary thyroid carcinoma ย่อว่า MTC) ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ อาจได้รับคำแนะนำให้ตรวจคลำก้อนเนื้อหรือาการบวมในบริเวณลำคอ(บริเวณต่อมไทรอยด์)ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสังเกตการมีอาการเสียงแหบ การกลืน ลำบาก และหายใจขัด/หายใจลำบาก หรือไม่ หากพบอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยควรต้องรีบมาพบแพทย์โดยเร็วโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามใช้ยาลิรากลูไทด์อื่นๆอีกบางประการ ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยานี้ได้ เช่น
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาลิรากลูไทด์มาก่อน
- ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในหลายๆอวัยวะของระบบต่อมไร้ท่อพร้อมกันที่เรียกว่าโรค Multiple endocrine neoplasia(ย่อว่า MEN) syndrome Type2 ก็จัดเป็นกลุ่มที่ห้ามใช้ยาลิรากลูไทด์
- ผู้ที่กำลังใช้ยาอินซูลินลดน้ำตาลในเลือด
- ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบอย่างมาก หากได้รับยานี้จะทำให้อาการโรครุนแรงมากขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยยังไม่มีการประเมินผลดี-ผลเสียของการใช้ยานี้กับเด็กอย่างชัดเจน
- สตรีตั้งครรภ์จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ห้ามใช้ยานี้ ด้วยการลดน้ำหนักตัวของมารดาที่ตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังไม่มีข้อมูลอย่างแน่ชัดว่ายานี้ ผ่านเข้าน้ำนมมารดา และสามารถส่งผ่านไปถึงทารกได้หรือไม่
ทั้งนี้ อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่อาจพบได้บ่อยขณะที่ใช้ยาลิรากลูไทด์ ได้แก่ ท้องผูกหรือท้องเสีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาลิรากลูไทด์อยู่ในหมวดยาอันตราย การจะใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และเรามักพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาล
อนึ่ง หากต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาลิรากลูไทด์เพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้จากแพทย์ และจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
ลิรากลูไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาลิรากลูไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งแพทย์มักจะใช้ยานี้เมื่อการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และสามารถใช้ ยาลิรากลูไทด์ร่วมกับยารักษาเบาหวานตัวอื่นได้ อย่างเช่น Metformin + Liraglutide, Sulfonylurea/Sulphonylurea + Liraglutide, Liraglutide + Metformin + Sulphonylurea, Liraglutide + Metformin + Glitazone, และกรณีที่ใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันแล้ว ก็ยังไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อาจใช้ยาอินซูลินเพื่อช่วยควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือดร่วมด้วยอีกทางหนึ่ง
- ใช้เป็นยาลดน้ำหนักตัว/ยาลดความอ้วน
ลิรากลูไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาลิรากลูไทด์คือ ตัวยาจะไปกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในกระแสเลือด นอกจากนี้ ตัวยานี้ยังออกฤทธิ์ต่อสมอง ส่งผลชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด และลดการอยากอาหาร จากกลไกที่กล่าวมา จึงมีผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ลิรากลูไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลิรากลูไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีด ขนาด 6 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 18 มิลลิกรัม/3 มิลลิลิตร
ลิรากลูไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาลิรากลูไทด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก.สำหรับรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.6 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 1.2 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง แต่หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยังไม่ดีพอ แพทย์อาจเพิ่มขนาดการฉีดยาเป็น 1.8 มิลลิกรัม วันละ 1ครั้ง ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 1.8 มิลลิกรัม/วัน
ข.สำหรับใช้ลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน:
- ผู้ใหญ่: สัปดาห์แรก: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.6 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง, สัปดาห์ที่2 ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 1.2 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ที่3 ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 1.8 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ที่4 ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 2.4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สัปดาห์ที่5 ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 3 มิลลิกรัม วันละ 1ครั้ง ทั้งนี้ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 3 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- เด็ก: ยังไม่มีขนาดการใช้ยานี้กับเด็ก
- กรณีที่ใช้ร่วมกับยาอินซูลิน แพทย์จะพิจารณาขนาดของยาลิรากลูไทด์ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป เพื่อป้องกันเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- กรณีใช้เพื่อลดน้ำหนักตัว หากใช้ขนาด 3 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งแล้วยังไม่เห็นประสิทธิผล แพทย์จะพิจารณาปรับแนวทางการรักษาใหม่ โดยทั่วไป แพทย์จะมีการประเมินน้ำหนักตัวผู้ป่วยภายใน 16 สัปดาห์หลังได้รับยานี้
- การใช้ยานี้เพื่อลดน้ำหนัก จะใช้กับผู้ใหญ่ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร ขึ้นไป
- การคำนวณค่า ดัชนีมวลกาย ใช้สูตรดังนี้ น้ำหนักตัวผู้ป่วยในหน่วยกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงในหน่วยเมตรยกกำลังสอง [น้ำหนักตัว(กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง2(เมตรยกกำลังสอง)]
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิรากลูไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆอย่าง เช่น โรคมะเร็ง โรคเนื้องอก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลิรากลูไทด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมมารับการฉีดยาลิรากลูไทด์ สามารถมารับการฉีดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ลิรากลูไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลิรากลูไทด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง กรดไหลย้อน ท้องอืด ปากแห้ง ติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหารและลำไส้(ไวรัสลงกระเพาะ ท้องเดินจากไวรัส) ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ เบื่ออาหาร ร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน
- ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อไต: เช่น เป็นพิษกับไต/ไตอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ค่า Calcitonin(ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ตับอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ลิรากลูไทด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลิรากลูไทด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยาที่มีภาชนะบรรจุแตกหัก หรือเกิดการปนเปื้อนในหลอดที่บรรจุยา เช่น สียาเปลี่ยน มีกลิ่นผิดปกติ มีผง เป็นต้น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยประเภท มะเร็งชนิด Medullary thyroid carcinoma และเนื้องอกชนิด Multiple endocrine neoplasia
- ห้ามฉีดยานี้เข้าหลอดเลือด หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ต้องฉีดเฉพาะเข้าใต้ผิวหนัง โดยฉีดเหนือต้นแขน หรือบริเวณหน้าท้องก็ได้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes)
- การใช้ยานี้ไม่ขึ้นกับมื้ออาหาร โดยแพทย์จะเป็นผู้กำกับเวลาการให้ยานี้กับผู้ป่วย
- ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่กันไปตามคำแนะนำของแพทย์
- ผู้ป่วยควรเรียนรู้การปฐมพยาบาลจาก แพทย์ พยาบาล กรณีเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง น้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน)
- มารับการฉีดยานี้ตามคำสั่งแพทย์ กรณีที่มาไม่ได้ตามนัด ควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ทราบ เพื่อนัดหมายการฉีดยากันใหม่ ไม่ควรละเลยหรือละทิ้งการรักษากลางครัน
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลิรากลูไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมถึงต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ลิรากลูไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลิรากลูไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาลิรากลูไทด์ร่วมกับ ยาInsulin, ยา MAOI, Quinolone, Antibiotics, Salicylates, SSRIs, Sulfonylureas, อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาลิรากลูไทด์ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide ด้วยจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของยารักษาเบาหวาน
- การใช้ยาลิรากลูไทด์ร่วมกับยา Bexarotene อาจทำให้เกิดอาการตับอ่อนอักเสบ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาลิรากลูไทด์ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลิรากลูไทด์ด้อยลงไป การใช้ยาร่วมกัน ควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเสมอตามแพทย์แนะนำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลังจากได้รับ ยาลิรากลูไทด์ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงจนควบคุมไม่ได้
ควรเก็บรักษาลิรากลูไทด์อย่างไร?
ควรเก็บยา ลิรากลูไทด์ในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ทั้งนี้ หลังเปิดใช้ยาแล้วอาจเก็บต่อได้อีก 30 วัน โดยเก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส
นอกจากนั้น ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด/แสงสว่าง ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ลิรากลูไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลิรากลูไทด์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Victoza (วิกโทซา) | Novo Nordisk |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Saxenda