ลิซิโนพริล (Lisinopril)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 พฤศจิกายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- ลิซิโนพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ลิซิโนพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลิซิโนพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลิซิโนพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ลิซิโนพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลิซิโนพริลอย่างไร?
- ลิซิโนพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลิซิโนพริลอย่างไร?
- ลิซิโนพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
บทนำ
ยาลิซิโนพริล (Lisinopril) เป็นยาในกลุ่ม ACE inhibitor ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาลดความ ดันโลหิตสูงทั้งกับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป การรักษามักจะทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารประเภทไขมัน การควบคุมโรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการจำกัดอาหารรสเค็ม นอกจากนี้ยังใช้ยาลิซิโนพริลในการรักษาอาการหัวใจล้มเหลว รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต (ตาย) ของกลุ่มผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ 25% โดยประมาณ และต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อพึงระวังบางประการที่แพทย์นำมาประกอบเพื่อพิจารณาก่อนจ่ายยานี้ให้กับคนไข้/ผู้ป่วย เช่น
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาลิซิโนพริลหรือไม่
- หากเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีการใช้ยา Aliskiren อยู่ก่อนแล้ว แพทย์จะไม่เลือกใช้ยา ลิซิโนพริลร่วมด้วยเพราะจะทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงจนส่งผลเสียกับไตของผู้ป่วย และ/หรือเกิดภาวะอัมพาตจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้
- หากเป็นสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร แพทย์จะไม่ใช้ยาลิซิโนพริลกับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเด็ดขาด
- โรคประจำตัวต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาด้วยยาลิซิโนพริลเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะ Marfan syndrome (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในทุกอวัยวะส่งผลให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติเช่น หัวใจ ปอด สมอง ตา) Sjogren’s syndrome และโรคข้อรูมาตอยด์
- ยากลุ่มต่างๆที่ผู้ป่วยต้องใช้เพื่อบำบัดโรคประจำตัวเช่น ยากลุ่มโพแทสเซียม (เช่น Potassium chloride) ยารักษาโรคเบาหวานหรือยาอินซูลิน ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID ล้วนแล้วสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาลิซิโนพริลได้ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) วิธีการรับประทานยา ระยะเวลาในการรับประทาน รวมถึงขนาดยาที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยแพทย์จะตรวจสอบจากการตอบสนองจากอาการผู้ป่วย
ทั้งนี้หากใช้ยาลิซิโนพริลแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดความดันโลหิตเช่น ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาลิซิโนพริลเป็นยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มารับประทานเอง
ลิซิโนพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาลิซิโนพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังนี้
- รักษาอาการโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย
- รักษาภาวะโรคไตด้วยเหตุจากโรคเบาหวาน
ลิซิโนพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาลิซิโนพริลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Angiotensin*-converting-enzyme ทำให้ลดปริมาณการเปลี่ยน Angiotensin I ไปเป็น Angio tensin II ส่งผลให้หลอดเลือดคลายตัวและเป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงลดลง อีกทั้งทำให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักในการสูบฉีดโลหิต จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
อนึ่ง *Angiotensin เป็นฮอร์โมนที่มาจากตับที่ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหดตัว แบ่งได้เป็น 4 ตัวหลักคือ Angiotensin I, Angiotensin II, Angiotensin III, Angiotensin IV
ลิซิโนพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลิซิโนพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5, 5, 10, 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
ลิซิโนพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
โดยทั่วไปยาลิซิโนพริลมีขนาดรับประทานในการควบคุมอาการโรคต่างๆดังกล่าวในหัวข้อสรรพคุณของยานี้เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงการรักษาอยู่ที่ 20 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 0.07 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง
การใช้ยาในขนาดเริ่มต้นห้ามเกิน 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 0.61 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- ผู้สูงอายุ: รับประทานยาเริ่มต้นที่ 2.5 - 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับ ประทานในทุกๆ 1 - 2 สัปดาห์ โดยแพทย์อาจปรับเพิ่มปริมาณครั้งละ 2 - 5 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง
*อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลิซิโนพริลด้วย ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขี้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาลิซิโนพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลิซิโนพริลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาลิซิโนพริลให้ตรงเวลา
ลิซิโนพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลิซิโนพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
ก. อาการข้างเคียงที่อาจพบได้บ่อย: : เช่น ตาพร่า ปัสสาวะขุ่น รู้สึกสับสน ปัสสาวน้อย วิงเวียน เป็นลม เหงื่อออกมาก อ่อนเพลียและไม่มีแรง
ข. อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น ปวดท้อง ปวดตามร่างกาย เจ็บหน้าอก หนาวสั่น คัดจมูก ท้องเสีย เสียงแหบ คลื่นไส้ ไอ จาม เจ็บคอ และอาเจียน
มีข้อควรระวังการใช้ลิซิโนพริลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลิซิโนพริลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเกิดลมพิษขึ้นตามผิวหนังหลังจากใช้ยากลุ่ม ACE inhibitor
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Aliskiren และในผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินมาตรฐาน รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาปรับขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลิซิโนพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ลิซิโนพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลิซิโนพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การรับประทานยาลิซิโนพริลร่วมกับยากลุ่ม Potassium เช่น Potassium chloride และ Potassium bicarbonate อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินจากมาตรฐานส่งผลให้ไตทำงานหนักจนถึงขั้นเกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกัน
- การรับประทานยาลิซิโนพริลร่วมกับยา Olmesartan อาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีภาวะความดันโลหิตต่ำ เกิดความเสียหายที่ไตด้วยเกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในร่างกายเกิน บางกรณีทำให้เกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงหยุดเต้น เพื่อมิให้เสี่ยงต่ออาการที่กล่าวมาจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยาลิซิโนพริลร่วมกับยา HCTZ อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การรับประทานยาลิซิโนพริลร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen, Naproxen อาจทำให้ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตของยาลิซิโนพริลด้อยประสิทธิภาพลง อีกทั้งยังทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาลิซิโนพริลอย่างไร?
ควรเก็บยาลิซิโนพริลในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในห้อง น้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ลิซิโนพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลิซิโนพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Lisinopril Tablet USP (ลิซิโนพริล แทบเลต ยูเอสพี) | Sandoz |
Lisdene (ลิสดีน) | Sandoz |
Lisir (ลิเซอร์) | Kopran |
Lispril (ลิสพริล) | Siam Bheasach |
Zestril (เซสทริล) | AstraZeneca |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Lisinopril [2015,Oct31]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=%20Lisinopril%20 [2015,Oct31]
- http://www.drugs.com/pro/lisinopril.html#LINK_6d30faa1-c754-49eb-afcf-f92bbd503415 [2015,Oct31]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lispril/?type=BRIEF [2015,Oct31]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/lisinopril-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Oct31]