ลิชมาเนีย (Leishmaniasis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคลิชมาเนีย หรือ โรคลิชมาไนอะซิส(Leishmaniasis) คือ โรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อปรสิตที่เป็นสัตว์เซลล์เดียว(Protozoa: โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว) โดยมีแมลงที่เรียกว่า “ริ้นฝอยทราย (Sandfly)”เป็นพาหะโรค ซึ่งปรสิตที่ก่อโรคนี้คือชนิด(Species)ที่ชื่อ Leishmania(ลิชมาเนีย หรือ ไลช์มาเนีย ย่อว่า L.) อยู่ในสกุล(Genus)ชื่อเดียวกัน คือ Leishmania ทั้งนี้ปรสิตนี้มีได้หลากหลายชนิดย่อย ที่พบก่อโรคได้บ่อย เช่น L. tropica, L. donovani, L. braziliensis, L. Mexicana

อนึ่ง บางท่านออกเสียงโรคนี้ว่า ไลช์มาเนีย หรือ ไลช์มาไนอะซิส

ปรสิตลิชมาเนีย/ไลช์มาเนีย พบทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นของ อเมริกาใต้ อัฟริกา เอเซีย และบางประเทศในยุโรป โดยมีคน และสัตว์เลือดอุ่นที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่น สุนัข แมว หนู)ที่เป็นได้ทั้งโฮสต์(Host) และรังโรค

ปรสิตลิชมาเนีย/ไลช์มาเนีย ถูกฆ่าตายได้จาก การอบแห้ง(Autoclave)ที่อุณหภูมิ 121.0 องศาเซลเซียส(Celsius, องศา C)ในเวลา 15 นาที, และถูกฆ่าตายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 1% Sodium hypochlorite, 70% Alcohol, Formaldehyde, และสบู่ที่ใช้ล้างมือ (Hand soap), ส่วนเมื่ออยู่นอกโฮสต์ เชื้อนี้จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเชื้ออยู่ในเลือดที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 35 วัน

ริ้นฝอยทราย เป็นแมลงมีขนาดเล็กกว่ายุง อาศัยในถิ่นอากาศร้อน อับชื้น เช่น บริเวณชายป่าในประเทศร้อนชื้น แหล่งชุมชนแออัด ขาดสุขอนามัยพื้นฐาน ริ้นฝอยทราย เป็นพาหะโรค โดยกัดดูดเลือดคนและสัตว์เป็นอาหาร ดังนั้นเมื่อดูดเลือดคนและ/หรือสัตว์ที่มีเชื้อนี้และไปกัดคนอื่นๆ คนอื่นๆที่ถูกกัดจึงติดเชื้อนี้ได้

โรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส พบทุกวัย พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่าซึ่งเชื้อว่า เป็นเพราะผู้ชายมีโอกาสสัมผัสเชื้อจากการงานนอกบ้านมากกว่าผู้หญิงที่ทำงานในบ้าน

โรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส ชนิดเกิดที่ผิวหนัง พบแต่ละปีประมาณ 0.7-1.2 ล้านคนในทวีปอเมริกา เอเซียตะวันตก และแถบทะเลเมดิเทอราเนียน ส่วนชนิดที่เกิดที่อวัยวะต่างๆ แต่ละปีพบได้ประมาณ 0.2-0.4 ล้านคน ใน บังคลาเทศ อัฟริกา และลาตินอเมริกา

ในประเทศไทย พบโรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส ประปรายในคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยหรือเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ส่วนที่เกิดในคนไทย(ในประเทศไทย) พบประปรายในคนไทยที่กลับจากทำงานในตะวันออกกลาง โดยรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 ส่วนในคนไทยที่อาศัยในประเทศไทย มีรายงานพบโรคนี้ประปรายเช่นกัน โดยพบครั้งแรกที่สุราษฎร์ธานี ในปีพ.ศ. 2539

โรคลิชมาเนียมีสาเหตุจากอะไร?ติดต่อได้อย่างไร?

ลิชมาเนีย

โรคลิชมาเนีย/ ลิชมาไนอะซิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน(Zoonosis) โดยเกือบทั้งหมดเกิดจากปรสิตที่เป็นสัตว์เซลล์เดียวชนิดที่ชื่อ Leishmania ทั้งนี้มีตัวริ้นฝอยทรายเป็นพาหะโรค ดูดเลือดจากสัตว์ที่เป็นโฮสต์ และ/หรือรังโรค ที่มีเชื้อนี้อยู่ และไปกัดคน/กัดสัตว์ที่เป็นโฮสต์/รังโรคอื่นๆต่อ จึงก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีรายงานประปรายว่า โรคนี้/เชื้อนี้ติดต่อได้จากการได้รับเลือดจากคนที่มีเชื้อนี้ในเลือด, จากการมีเพศสัมพันธ์กับคนเป็นโรคนี้, จากมารดาในการคลอดบุตร, จากการปลูกถ่ายอวัยวะ, และจากเข็มฉีดยาที่สัมผัสเลือดคนติดเชื้อนี้

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในผู้ป่วยโรคเอดส์ มักมีการติดเชื้อลิชมาเนียได้ง่าย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่อง ซึ่งโรคลิชมาเนียในผู้ป่วยโรคเอดส์ มักมีอาการรุนแรง รักษาควบคุมโรคได้ยาก และมักเป็นสาเหตุให้ตายได้

โรคลิชมาเนีย เกิดได้อย่างไร?

โรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส เกิดจากคนถูกแมลงริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อปรสิต ลิชมาเนียกัด ภายหลังถูกกัด เชื้อปรสิตนี้จะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า Macrophage ซึ่งในเม็ดเลือดขาวนี้ เชื้อฯจะแบ่งตัวรวดเร็วและมากมาย ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวแตก หลังจากนั้นเชื้อฯก็จะแพร่กระจายสู่เม็ดเลือดขาวเซลล์อื่นๆต่อไป

ในช่วงที่อยู่ในเลือด เมื่อคน/หรือสัตว์ที่เป็นโฮสต์ถูกกัด/ถูกดูดเลือดจากแมลงริ้วฝอยทราย เชื้อลิชมาเนียก็จะเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินอาหารของแมลงริ้วฝอยทราย เจริญเติบโต และแพร่ไปสู่คน/สู่โฮสต์เมื่อแมลงริ้วฝอยทรายกัด/ดูดเลือดคน/โฮสต์นั้นๆ

ทั้งนี้ในคน :

  • เชื้อลิชมาเนีย/ ไลช์มาเนียอาจจำกัดอยู่เฉพาะที่ผิวหนัง และก่อโรคเฉพาะผิวหนัง เรียกว่า “Cutaneous leishmaniasis” หรือ
  • อาจลุกลามเข้าไปก่อโรคในเยื่อเมือกในช่องปากและจมูก เรียกว่า “Mucocutaneous leishmaniasis” หรือ
  • อาจลุกลามเข้ากระแสเลือด/กระแสโลหิต ก่อโรคในอวัยวะภายในต่างๆที่นอกเหนือจากผิวหนังและเยื่อเมือก เรียกว่า “Visceral and viscerotropic leishmania”

อนึ่ง:

  • ระยะฟักตัวของโรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส ที่เกิดที่ผิวหนังและ/หรือที่เกิดทีเยื่อเมือกฯ จะประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานได้ถึงหลายๆเดือน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อแต่ละชนิดย่อย
  • ส่วนโรคชนิดเกิดกับอวัยวะภายใน ระยะฝักตัวของโรคขึ้นกับชนิดย่อยของเชื้อเช่นกัน มีรายงาน ได้ตั้งแต่ 10 วัน ไปจนถึงหลายปี แต่ส่วนใหญ่มักเกิดอาการภายใน 2-6 เดือนหลังได้รับเชื้อ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลิชมาเนีย?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลิชมาเนีย/ ลิชมาไนอะซิส ได้แก่

  • ผู้อาศัย ทำงาน เยี่ยมเยียน ท่องเที่ยว ในถิ่นที่มีโรคลิชมาเนียเป็นโรคประจำถิ่น/ถิ่นที่อาศัยของแมลงริ้นฝอยทราย เช่นดังกล่าวแล้วในหัวข้อ “บทนำ” ในพื้นที่ชายป่า ในภูมิประเทศร้อน ชื้น สถานที่แออัด ขาดสุขอนามัย มีขยะมูลฝอยสะสมมาก ค่ายอพยพ
  • ถิ่นอาศัยมีการบุกรุกทำลายป่า
  • ถิ่นที่มีภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตกมากขึ้น น้ำท่วม ร้อนชื้นมากขึ้น เพราะแมลงริ้นฝอยทรายจะขยายพันธ์ได้มากขึ้น รวดเร็ว
  • ในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ขาดอาหาร(ภาวะทุพโภชนา), ในผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือติดเชื้อเอชไอวี

โรคลิชมาเนียมีอาการอย่างไร?

อาการที่เกิดจากโรคลิชมาเนีย/ ลิชมาไนอะซิส มีได้ 3 รูปแบบหลัก ดังนี้

ก. แบบติดเชื้อที่ผิวหนัง(Cutaneous leishmaniasis): โรคจะติดเชื้อเฉพาะที่ผิวหนัง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นแบบย่อยๆได้อีก 3 แบบ คือ

  • ชนิดเกิดในวงจำกัด(Localized cutaneous leishmaniasis): รอยโรคที่ผิวหนังจะเกิดกับผิวหนังส่วนใดก็ได้ อาจ 1 รอยโรค หรือกระจายได้เป็น สิบๆรอยโรค ขึ้นกับว่าเกิดจากติดเชื้อชนิดย่อยชนิดใด รอยโรคจะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อคล้ายหูด รอยโรคจะอยู่เฉพาะที่ผิวหนัง ไม่กินลึกลงในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ไม่แตกเป็นแผลเปื่อย และไม่เจ็บ แต่ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อแบคที่เรียซ้ำซ้อนก็จะเจ็บ และอาจพบมีต่อมน้ำเหลืองใกล้กับรอยโรค โต คลำพบได้ ซึ่งรอยโรคเหล่านี้อาจหายไปเองได้ (แต่อาจเกิดแผลเป็นตลอดไป) ภายในระยะเวลา เป็นเดือน หรือหลายเดือน หรือเป็นปี ขึ้นกับชนิดย่อยของเชื้อที่ก่อโรค
  • ชนิดเกิดกระจาย (Disseminated/Diffuse cutaneous leishmaniasis): รอยโรคจะเป็นผื่นนูน กระจายไปได้ทั่วผิวหนังทุกส่วน รอยโรคจะไม่กลายเป็นแผลแตก แต่จะกินลึกลงใต้ผิวหนัง ลักษณะรอยโรคจะเหมือนกับในโรคเรื้อน โดยรอยโรคจะเกิดตลอดไปถ้าไม่รักษา ไม่หายได้เอง โรคชนิดนี้มักพบในคนที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
  • ชนิดเกิดเป็นซ้ำ (Leishmaniasis recidivans/Lupoid leishmaniasis): เป็นการติดเชื้อชนิดที่พบได้น้อย กล่าวคือเมื่อรอยโรคเดิมหายไป จะเกิดรอยโรคใหม่ขึ้นในตำแหน่งเดิม มักพบเกิดที่ใบหน้า(มักเกิดที่แก้ม) โดยรอยโรคที่เกิดใหม่มักเกิดตามขอบของรอยโรคเดิม และขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะจะเหมือนกับวัณโรคของผิวหนัง และจะก่อให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังได้อย่างมากมาย

ข. การติดเชื้อที่เยื่อเมือกในช่องปาก และช่องจมูก(Mucocutaneous leishmaniasis): มักเกิดตามหลังการติดเชื้อนี้ที่ผิวหนังประมาณ 1-5 ปี โดยจะเกิดผื่นนูน แดง เกิดขึ้นในเยื่อเมือกที่อยู่ติดกับผิวหนัง เช่น ในช่องจมูก และในช่องปาก และโรคอาจลุกลามกินลึกลงได้ถึงคอหอย และกล่องเสียง ซึ่งจะทำลายเนื้อเยื่อเหล่านี้ ส่งผลให้เสียภาพลักษณ์อย่างมาก และเป็นสาเหตุให้เกิดเลือดออกจากรอยโรคได้มาก เช่น เลือดกำเดา ในบางรายอาจมีการติดเชื้อที่อวัยวะเพศร่วมด้วยได้ ซึ่งรอยโรคเหล่านี้จะลุกลามไปเรื่อยๆ ไม่หายได้เอง ถ้าไม่มีการรักษา

ค. การติดเชื้ออวัยวะภายใน(Visceral and viscerotropic leishmaniasis): การติดเชื้อแบบนี้มีอีกชื่อว่า โรค ‘Kala-aza (มาจากภาษา ฮินดู แปลว่า ผิวหนังสีดำ ซึ่งเป็นอาการจากเกิดรอยโรคที่ผิวหนังตามมา)’ เป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป โรคชนิดนี้ มักพบเกิดในแหล่งที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น แต่อาจพบเป็นการติดเชื้อเฉียบพลันได้ ลักษณะทั่วไปคือ มักมีการติดเชื้อที่ผิวหนังนำมาก่อน ต่อจากนั้น จะมีไข้เป็นๆหายๆ ผอมลง เบื่ออาหาร ซีด ตับม้ามโต จึงทำให้มีท้องป่อง มีเกล็ดเลือดต่ำจึงมีเลือดออกในอวัยวะต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะที่ผิวหนังและที่เยื่อเมือก เห็นเป็นจุดเลือดออกแดงๆ กระจายทั่วไปคล้ายในไข้เลือดออก มีเม็ดเลือดขาวต่ำจึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนง่าย ท้องเสียเรื้อรัง ถ้าติดเชื้อที่ปอดด้วยจะไอเรื้อรัง และมีต่อมน้ำเหลืองตามตัว โต คลำได้ ซึ่งอาการมีได้ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเกิดในผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาการจะรุนแรงมาก และหลังจากนั้นอีกประมาณ 6 เดือน จะเกิดมีอาการทางผิวหนังที่เป็นผื่นนูนตามมา เรียกว่า ‘Post-kala-aza dermal leishmaniasis’

Post-kala-aza dermal leishmaniasis: คือ รอยโรคที่ผิวหนัง แต่เกิดตามหลังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ตามหลังการติดเชื้อนี้ที่อวัยวะภายใน โดยผิวหนังเกิดเป็นผื่นนูน หรือเป็นตุ่มนูน ออกสีแดง หรือ ไม่มีสี รอยโรคจะกระจายที่ผิวหนังได้ทั่วไป และคงอยู่ได้นานเป็นสิบๆปี แต่จะค่อยๆหายไปเองได้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” โดยเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ) ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคลิชมาเนียได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส ได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติถิ่นพักอาศัย อาชีพการงาน การท่องเที่ยว/การเดินทาง
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจหาเชื้อจากการขูดเอาเซลล์จากรอยโรคที่ผิวหนังไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือ
  • ตรวจหาเชื้อโรคนี้ จากเลือด จากต่อมน้ำเหลือง และ/หรือ จากไขกระดูก
  • รวมไปถึงการตรวจเพาะเชื้อจากการตัดชิ้นเนื้อที่ ผิวหนัง, ที่ต่อมน้ำเหลือง จากเลือด, และ/หรือ จากไขกระดูกด้วย
  • และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น
    • ตรวจเลือดเพื่อดูสารภูมิต้านทานโรคนี้
    • หรือนำชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่มีรอยโรคตรวจหาเชื้อด้วยเทคนิค ทางพันธุกรรมที่ตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction)

รักษาโรคลิชมาเนียอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส ได้แก่ การให้ยาฆ่าเชื้อปรสิตนี้, การให้ยาปฏิชีวนะ, การรักษาประคับประคองตามอาการ/ การรักษาตามอาการ, และอื่นๆ

ก. การให้ยาฆ่าเชื้อปรสิต: เชื้อลิชมาเนีย มียาฆ่าเชื้อหลายตัว ทั้งยาทารอยโรคที่ผิวหนัง, ยากิน, และยาฉีด, ซึ่งการจะเลือกใช้ยาชนิดใด อย่างไร และให้ยานานเท่าไร ขึ้นกับ ชนิดย่อยของเชื้อ, ความรุนแรงของอาการ, และดุลพินิจของแพทย์, ซึ่งยาฆ่าเชื้อ ลิชมาเนีย เช่นยา Sodium stibogluconate, Amphotericin B, Miltefosine , Ketoconazole, Itraconazole, Allopurinol, Paromomycin, Interferon

ข. ยาปฏิชีวนะ: การจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใด, และให้ยานานเท่าไร, ขึ้นกับว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดใดร่วมด้วย ติดเชื้อฯกับอวัยวะใด และติดเชื้อฯรุนแรงหรือไม่ ดังนั้นการใช้ยาฯจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นแต่ละกรณี

ค. การรักษาตามอาการ คือ การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด/เจ็บ และการทำแผลเป็นต้น

ง. อื่นๆ: เช่น การรักษาแผลที่ผิวหนังด้วยการใช้ความเย็น(Cryotherapy), หรือด้วยความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 40-42 องศาเซลเซียส, และการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีกรณีผู้ป่วยติดเชื้อนี้ร่วมด้วย

โรคลิชมาเนียมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ทั้งนี้รวมไปถึงการติดเชื้อวัณโรค
  • การมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆจากเกล็ดเลือดต่ำ
  • มีม้ามแตกจากม้ามโตมากและเกิดการกระแทกของม้ามจากการใช้ชีวิตประจำวัน
  • นอกจากนั้น คือ เสียภาพลักษณ์จากรอยโรคที่ผิวหนัง

โรคลิชมาเนียมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในโรคลิชมาเนีย/ ลิชมาไนอะซิส ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ชนิดย่อยของเชื้อ, ปริมาณเชื้อที่ได้รับ, เป็นการติดเชื้อในรูปแบบใด, ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติหรือไม่, และมีการติดเชื้อ เอชไอวี ร่วมด้วยหรือไม่

โดยทั่วไป:

  • เมื่อเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือที่เยื่อเมือก มักไม่ทำให้ตาย แต่เสียคุณภาพชีวิตจากรอยโรคที่ผิวหนัง ทั้งขณะติดเชื้อและเมื่อรักษาโรคได้หายแล้ว
  • เมื่อเป็นการติดเชื้อในอวัยวะภายในโดยเฉพาะในผู้ติดเชื้อเอชไอวี โอกาสตายสูง อาจสูงถึง 90% แต่ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และโรคตอบสนองดีต่อยาที่รักษา โอกาสตายจากโรคนี้ลดลงเหลือประมาณ 10-50%

*อย่างไรก็ตาม หลังการรักษาหายแล้ว โรคนี้กลับเป็นซ้ำได้ประมาณ 5-10% ภายใน 6 เดือน

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นโรคลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส หลังแพทย์ให้ดูแลรักษาที่บ้าน ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • ดูแลรักษาแผล ทำแผลตามแพทย์พยาบาลแนะนำ ไม่ให้ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติ ลดโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
  • ดูแลบ้านเรือน และสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขอนามัย ไม่เป็นแหล่งแมลงริ้นฝอยทราย
  • รู้จักใช้มุ้งเพื่อลดโอกาสแมลงริ้นฝอยทรายกัด
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น แผลมีหนองมากขึ้น ปวด/เจ็บแผลมาก ท้องเสียมากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้ หรือมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ
  • อาการที่เคยหายไปแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น อาการไข้ ตับ-ม้ามโต (ท้องป่อง แน่นอึดอัดท้อง)
  • มีผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่แพทย์สั่ง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคลิชมาเนียอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือวัคซีน(กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย)ที่ใช้ป้องกันโรค ลิชมาเนีย/ลิชมาไนอะซิส ดังนั้นการป้องกันขณะนี้ คือ

  • รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในแหล่งที่มีแมลงริ้นฝอยทรายอาศัย ให้รู้จักโรคนี้ และรู้วิธีติดต่อของโรค เพื่อเรียนรู้การป้องกันตนเองจากถูกริ้นนี้กัด
  • รักษาสุขอนามัยของที่อยู่อาศัย และของชุมชน ให้ปลอดขยะสะสม เพื่อลดที่อยู่อาศัยของตัวริ้นนี้
  • รู้จักใช้มุ้ง
  • เมื่ออยู่ในแหล่งของริ้นชนิดเป็นพาหะโรคนี้ ควรสวมใส่เสื้อผ้า แขนยา ขายาว ลดโอกาสถูกริ้นนี้กัด รู้จักทายาป้องกันแมลงเมื่อต้องออกทำงานในแหล่งของริ้นนี้อยู่อาศัย
  • ลดความรุนแรงของโรค โดยรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในกลุ่มปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ”

บรรณานุกรม

  1. ธีรยุทธ สุขมี. http://www.boe.moph.go.th/Annual/aesr2553/wesr_2553/wk53_3S.pdf [2020, Jun 13].
  2. Markle,W., and Makhoul,K. (2004). Am Fam Physician.69,455-460
  3. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/leishmania.html[2020, Jun 13].
  4. https://www.cdc.gov/parasites/leishmaniasis/ [2020, Jun 13].
  5. https://emedicine.medscape.com/article/220298-overview#showall [2020, Jun 13].
  6. http://www.cfsph.iastate.edu/Factsheets/pdfs/leishmaniasis.pdf [2020, Jun 13].
  7. https://patient.info/doctor/leishmaniasis [2020, Jun 13].