ลำไส้สั้น (Short bowel syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 เมษายน 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- กลุ่มอาการลำไส้สั้นมีสาเหตุจากอะไร?
- กลุ่มอาการลำไส้สั้นมีอาการอย่างไร?
- กลุ่มอาการลำไส้สั้นก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการลำไส้สั้นได้อย่างไร?
- มีแนวทางรักษากลุ่มอาการลำไส้สั้นอย่างไร?
- กลุ่มอาการลำไส้สั้นรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการลำไส้สั้นไหม?
- ป้องกันกลุ่มอาการลำไส้สั้นได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- ลำไส้เล็กอักเสบ (Enteritis)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- ยาแก้ปวดท้อง ยาบรรเทาอาการปวดท้อง (Antispasmodic drugs)
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร (Gastric acid suppression medications)
- ท้องเสีย ท้องร่วง ท้องเดิน (Diarrhea)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimentary system)
- ลำไส้เล็กอักเสบ (Enteritis)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ลำไส้สั้น หรือ กลุ่มอาการลำไส้สั้น(Short bowel syndrome ย่อว่า เอสบีเอส/ SBS)คือ โรค /ภาวะ /กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของลำไส้เล็ก จากพื้นที่ดูดซึมสารอาหารลดลง(ลำไส้เล็กสั้น/ลำไส้สั้น) ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารทุกชนิดลดลงอย่างรุนแรง ส่งผลต่อเนื่องให้ร่างกายเกิดภาวะขาดสารอาหารทุกชนิด(ทุพโภชนา) ทั้ง โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, รวมถึง น้ำ, วิตามิน, และเกลือแร่/ แร่ธาตุ, ร่างกายจึงขาดพลังงานจนเกิดอาการผิดปกติต่างๆ(ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’)ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
ทั้งนี้สาเหตุลำไส้สั้นอาจเกิดจาก
- การผ่าตัดลำไส้เล็กออกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของความยาวลำไส้เล็ก โดยความยาวของลำไส้เล็กปกติที่เหลืออยู่ ’ยาวน้อยกว่า 2 เมตร’ จากสาเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุในช่องท้อง, มะเร็งลำไส้เล็ก ฯลฯ
- ลำไส้เล็กอักเสบเรื้อรังรุนแรงจนเนื้อเยื่อลำไส้เล็กถูกทำลายเป็นอย่างมาก
- ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ เช่น บีบตัวย่อยอาหารได้ช้ากว่าปกติมาก
ลำไส้สั้น/ กลุ่มอาการลำไส้สั้น หรือ ชื่อภาษาอังกฤษทั่วไป คือ ‘Short gut’ เป็นโรคพบน้อย แต่พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด(ความพิการแต่กำเนิดที่มีลำไส้เล็กสั้นผิดปกติ)จนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายพบใกล้เคียงกัน ซึ่งมีรายงานพบโรคนี้ได้ ประมาณ 2-3รายต่อประชากร 1 ล้านคน
อนึ่ง: ลำไส้เล็ก เป็นทางเดินอาหารที่ต่อจากกระเพาะอาหารและมีส่วนปลายเชื่อมต่อกับลำไส้ใหญ่ ความยาวเฉลี่ยประมาณ 6-7เมตร มีหน้าที่ย่อยอาหารกึ่งของเหลว(Chyme)ที่ย่อยมาก่อนจากกระเพาะอาหาร ร่วมกับการดูดซึมอาหาร/สารอาหารทุกชนิดและน้ำเข้าสู่ร่างกาย ลำไส้เล็กแบ่งเป็น 3ส่วน ได้แก่
- ลำไส้เล็กส่วนต้น/ตอนบน ที่ต่อจากกระเพาะอาหาร เรียกว่า Duodenum ซึ่งมีหน้าที่ดูดซึมธาตุเหล็ก และแร่ธาตุต่างๆ
- ลำไส้เล็กตอนกลาง ที่ต่อจากDuodenum เรียกว่า Jejunum เป็นส่วนดูดซึม โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต , ไขมัน, และวิตามินต่างๆเกือบทุกชนิด
- ลำไส้เล็กตอนปลาย จะต่อจาก Jejunum และส่วนปลายจะต่อกับลำไส้ใหญ่ เป็นส่วนที่ดูดซึม วิตามินบี12 และกรดน้ำดี/น้ำดี
กลุ่มอาการลำไส้สั้นมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของ ลำไส้สั้น หรือ กลุ่มอาการลำไส้สั้น ที่พบบ่อยที่สุด คือ การผ่าตัดเอาลำไส้เล็กส่วนที่เกิดพยาธิสภาพจนไม่สามารถทำงานได้ออกทิ้งไป ซึ่งมักต้องผ่าตัดออกมากจนส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ทั่วไป คือเหลือยาวไม่ถึง 2 เมตร
ทั้งนี้ การผ่าตัดลำไส้เล็กออกไป มักเป็นการรักษาภาวะ/โรคบางโรค เช่น
- อุบัติเหตุ/การบาดเจ็บรุนแรงต่อลำไส้เล็ก
- มะเร็งลำไส้เล็ก
- ภาวะลำไส้เล็กบิดเกลียว(Volvulus small bowel)
- ลำไส้เล็กเน่าจากอักเสบและขาดเลือดรุนแรงที่มักพบในเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก)
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้เพื่อรักษาโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- การผ่าตัดรักษาโรคโครห์น
ส่วนโรคอื่นๆของลำไส้เล็ก ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาลำไส้เล็กออก ที่อาจพบได้แต่น้อยกว่าโรคดังได้กล่าวแล้ว เช่น
- ความพิการแต่กำเนิดที่ไม่มีลำไส้เล็ก หรือมีแต่สั้นมาก
- โรคโครห์นชนิดรุนแรงที่ยังไม่เคยรักษาด้วยการผ่าตัด
กลุ่มอาการลำไส้สั้นมีอาการอย่างไร?
อาการของลำไส้สั้น หรือ โรค/กลุ่มอาการลำไส้สั้น คือ อาการจากขาดอาหารที่รุนแรง(ภาวะทุพโภชนา)ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ ทุกชนิด จนร่างกายขาดพลังงาน ที่เกิดจากลำไส้เล็กสั้น หรือลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาการที่พบคือ
- ท้องเสียเป็นน้ำเรื้อรัง และอุจจาระมีไขมันปนซึ่งมักมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ และถ้ารุนแรงต่อเนื่อง จะเป็นเหตุให้ตายได้จากเป็นต้นเหตุให้เกิด
- ภาวะขาดน้ำรุนแรง
- ภาวะขาดอาหาร(ทุพโภชนา)รุนแรง ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และ แร่ธาตุ
- อาการอื่นๆ เช่น
- ปวดท้องเรื้อรัง โดยตำแหน่งปวดเกิดได้ทั่วช่องท้อง
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สมากในท้อง
- มีกรดมากในกระเพาะอาหาร จนเป็นเหตุเกิดอาการแสบร้อนกลางอก/ กรดไหลย้อน
- อาจคลื่นไส้-อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักตัวลดรวดเร็ว
- บวมน้ำทั้งตัว รวมมือเท้า จากร่างกายขาดอาหาร/สารอาหารโดยเฉพาะขาดโปรตีน
- อ่อนเพลีย
กลุ่มอาการลำไส้สั้นก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจาก ลำไส้สั้น หรือ กลุ่มอาการลำไส้สั้น ถ้ารุนแรง จะเป็นสาเหตุให้ตาย ได้ ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้ คือ
- ภาวะทุพโภชนา ขาดอาหารทุกชนิด รวมถึง วิตามิน แร่ธาตุ ทุกชนิด จนร่างกายขาดพลังงาน
- ภาวะขาดน้ำ
- แผลในกระเพาะอาหาร (แผลเปบติค)จากกระเพาะอาหารสร้างกรดมาก
- มีโรคติดเชื้อทางเดินอาหารเรื้อรัง จากแบคทีเรียในลำไส้เกิดเจริญเติบโตสูงขึ้นมากกว่าปกติ
- เกิดนิ่วในไต: จากร่างกายขาดสารอาหารที่จะช่วยลดการตกตะกอนของสารเคมีที่จะตกตะกอนในปัสสาวะ จึงส่งผลให้สารเคมีเหล่านี้ตกตะกอนได้ง่ายในปัสสาวะจนเกิดเป็นนิ่วในไตได้ง่าย
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการท้องเสียต่อเนื่องเรื้อรัง ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับ อุจจาระเป็นน้ำ และ/หรือ ปนไขมัน, อ่อนเพลีย, น้ำหนักตัวลด/ผอมลงต่อเนื่อง
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการลำไส้สั้นได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัย ลำไส้สั้น/โรคลำไส้สั้น/กลุ่มอาการลำไส้สั้น ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการโดยเฉพาะการถ่ายอุจจาระและลักษณะอุจจาระ ประวัติการคลอด ประวัติอุบัติเหตุ
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ
- ตรวจเลือดดูค่าสำคัญต่างๆของร่างกาย เช่น
- ซีบีซี/CBC
- เกลือแร่ในเลือด
- สารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีน, วิตามิน, แร่ธาตุ ต่างๆ
- การทำงานของ ตับ ไต
- ตรวจปัสสาวะ (ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ) ดูความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจอุจจาระ ที่รวมถึงการตรวจค่าปริมาณไขมันที่ปนออกมาในอุจจาระ
- การตรวจภาพช่องท้องด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
- การตรวจภาพเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารด้วยการกลืนแป้ง
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
มีแนวทางรักษากลุ่มอาการลำไส้สั้นอย่างไร?
แนวทางการรักษา ลำไส้สั้น หรือ โรค/กลุ่มอาการลำไส้สั้น คือ การช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารทุกชนิดอย่างเพียงพอ โดยมีวิธีรักษาหลายวิธีที่ใช้ร่วมกัน และต้องมีความร่วมมือจากผู้ป่วยและครอบครัว, โภชนากร, พยาบาล, และแพทย์หลายสาขา เช่น แพทย์อายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร, ระบบโรคติดเชื้อ, ระบบโภชนาการ, และศัลยแพทย์, ซึ่งทั่วไปวิธีรักษา ได้แก่ การให้ สารอาหาร วิตามิน เกลือแร่/ แร่ธาตุ และน้ำ, การใช้ยา, การผ่าตัดเอาลำไส้เล็กที่มีรอยโรคออกไป
ก. การให้สารอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ: ซึ่งอาจเป็นการกิน, ให้อาหารเหลวทางสายให้อาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กโดยตรง, และ/หรือให้ทางหลอดเลือดดำ ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดสารอาหาร, สภาพร่างกายผู้ป่วย, ประสิทธิภาพการทำงานของลำไส้เล็กส่วนที่เหลืออยู่, รวมถึงดุลพินิจของแพทย์
- การเพิ่มสารอาหารให้ร่างกายทางปากด้วยการกิน/ดื่ม: เช่น
- ให้ดื่มน้ำสะอาด/ต่อวันเพิ่มขึ้น
- ดื่มยาผงเกลือแร่/ โออาร์เอส/ ORS หรือ เครื่องดื่มเกลือแร่ต่างๆที่ไม่มีสารคาเฟอีน/กาเฟอีน
- อาหารที่บริโภคจะมีลักษณะเฉพาะ ตามคำแนะนำของ แพทย์ โภชนากร พยาบาล เช่น
- อาหารรสจืด ใยอาหารต่ำ ไขมันและโปรตีนต่ำ
- เป็นอาหารเหลว(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง ‘ประเภทอาหารทางการแพทย์’ ในเว็บ haamor.com) ที่ดูดซึมได้ง่าย ที่ไม่ทำให้ท้องเสีย
- กินมื้อละน้อยๆ ที่ลำไส้เล็กส่วนดีที่เหลือพอดูดซึมได้ แต่เพิ่มเป็นหลายๆมื้อ
- การให้สารอาหารเหลวทางสายให้อาหารเข้าลำไส้เล็กโดยตรง: เช่น ให้สารอาหารเหลวผ่านทางสายหน้าท้องเข้าลำไส้เล็กโดยตรง เพื่อ
- ลำไส้เล็กดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น
- ลดความเป็นกรดของอาหารจากกระเพาะอาหารสู่ลำไส้เล็ก ที่จะช่วยให้
- เซลล์ลำไส้เล็กลดการเกิดแผลเปบติค(แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก)
- เกิดสมดุลของความเป็นกรดด่างในลำไส้เล็ก ส่งผลให้แบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้เจริญเป็นปกติ ส่งผลต่อเนื่องลดการเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
- การให้สารให้อาหารทางหลอดเลือดดำ: ที่อาจให้ร่วมกับการกินอาหารทางปาก อาจให้เพียงชั่วคราว หรือให้แบบถาวร ขึ้นกับประสิทธิภาพการดูดซึมอาหารของลำไส้เล็กที่เหลืออยู่
ข. การใช้ยาต่างๆ: จะมียาหลากหลายชนิดตามอาการผู้ป่วย และ/หรือ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงของโรคนี้ เช่น
- ยาแก้ท้องเสีย : เช่น ยา Bile acid sequestrants, Cholestyramine, Atropine, Loperamide, Somatostatin,
- ยากดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร : เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้/แผลเปบติค เช่นยากลุ่ม Proton pump inhibitor , H2 antagonist
- ยาเพิ่มการย่อยอาหาร: เพื่อเพิ่มการดูดซึมอาหาร เช่น ยา Pancreatic enzyme
- ยาช่วยเพิ่มการดูดซึมอาหารของลำไส้เล็ก: เช่นยา Teduglutide, ยาในกลุ่ม Growth hormone (Somatropin)
ค. การผ่าตัด: ซึ่งมีหลากหลายวิธี ที่เป็นเทคนิคซับซ้อนเพื่อเพิ่มเนื้อที่การดูดซึมอาหารของลำไส้เล็ก ซึ่งต้องรักษาโดยศัลยแพทย์เฉพาะโรค ส่วนจะเลือกใช้วิธีไหนขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ ที่สำคัญขึ้นกับ
- การเสียหายของลำไส้เล็ก ที่สำคัญคือ
- ส่วนที่ยังทำงานมีประสิทธิภาพของลำไส้เล็กที่เหลืออยู่
- การตอบสนองต่อวิธีรักษาอื่นๆดังกล่าวในข้อ ก. และ ข.
- เคยมีการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออกร่วมด้วยหรือไม่
- สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
- ความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว
- ดุลพินิจของแพทย์
ซึ่งวิธีผ่าตัด เช่น
- ผ่าตัดใส่ท่อให้อาหารเหลวเข้าสู่ลำไส้เล็กโดยตรง
- ผ่าตัดขยายช่องทางเดินอาหารของลำไส้เล็กส่วนที่ยังปกติ
- ปลูกถ่ายอวัยวะ/การปลูกถ่ายลำไส้เล็กซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์เชื่อว่า น่าจะทำให้หายจากโรคนี้ได้
กลุ่มอาการลำไส้สั้นรุนแรงไหม?
ลำไส้สั้น หรือ โรค/กลุ่มอาการลำไส้สั้น จัดเป็นโรครุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ที่ต้องการการดูแลรักษาตลอดชีวิต และผู้ป่วยมักมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป มีรายงานอัตรารอดชีวิตเมื่อได้รับการรักษาเต็มที่ เช่น
- ในเด็กแรกเกิด เมื่อได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ มีอัตรารอดชีวิตอยู่ได้นาน 4 ปี ประมาณ 70%
- ในเด็กแรกเกิดที่มีลำไส้เล็กทำงานได้ปกติน้อยกว่า 10% อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 20%
- การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ/เปลี่ยนลำไส้ ปัจจุบัน
- อัตราเสียชีวิตจากการรักษาประมาณ 30%
- อัตรามีชีวิตอยู่ได้1ปีประมาณ 80-90%
- อัตรามีชีวิตอยู่ได้ 4 ปีประมาณ 60%
ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคลำไส้สั้น หรือ กลุ่มอาการลำไส้สั้น ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) สม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต และภาวะทุพโภชนา ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอทุกวันตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง หรือมีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น อุจจาระเป็นเลือด หรือ อาเจียนเป็นเลือด
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น เวียนศีรษะมากต่อเนื่อง ท้องผูกมากต่อเนื่อง
- กังวลในอาการ
มีการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการลำไส้สั้นไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่สามารถตรวจคัดกรองให้พบโรคลำไส้สั้น หรือ กลุ่มอาการลำไส้สั้นตั้งแต่ยังไม่มีอาการ
ป้องกันกลุ่มอาการลำไส้สั้นได้อย่างไร?
เมื่อดูจากสาเหตุ ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคลำไส้สั้น หรือ กลุ่มอาการลำไส้สั้นได้
บรรณานุกรม
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/short-bowel-syndrome [2020,April 11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Short_bowel_syndrome [2020,April 11]
- https://emedicine.medscape.com/article/193391-overview#showall [2020,April 11]
- https://rarediseases.org/rare-diseases/short-bowel-syndrome/ [2020,April 11]