ลาโคซาไมด์ (Lacosamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลาโคซาไมด์(Lacosamide) หรือในชื่ออื่นว่า เออร์โลซาไมด์ (Erlosamide) หรือ ฮาร์เคอโรไซด์ (Harkeroside)เป็นยาที่นำมารักษาอาการชัก/โรคลมชักประเภท Partial-onset seizures ยานี้ใช้ได้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่พบเห็นการใช้ในประเทศไทยเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด

ตัวยาลาโคซาไมด์มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้สูง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 13 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

โดยทั่วไป แพทย์จะสั่งจ่ายยาลาโคซาไมด์ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาที่ขนาดยาต่ำๆ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น แล้วจึงค่อยปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นตามการตอบสนองของอาการผู้ป่วย ซึ่งการใช้ยาลาโคซาไมด์ต้องอาศัยความต่อเนื่อง การหยุดใช้ยาในทันทีทันใด สามารถทำให้เกิดภาวะถอนยาตามมาได้

มีข้อพึงระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาลาโคซาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้ลาโคซาไมด์กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคตับในระยะรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้ร่วมกับผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ด้วยตัวยาสามารถส่งผลต่ออาการโรค เหล่านี้ให้ทวีความรุนแรงขึ้นมาได้
  • ยารักษาโรคลมชักชนิดนี้ สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงประเภทหนึ่ง คือ กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเองหรืออยากฆ่าตัวตาย ดังนั้นญาติของผู้ป่วยจะต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมผู้ป่วยหลังใช้ยานี้ หากผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ยาลาโคซาไมด์สามารถทำให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการเต้นที่ผิดปกติ หรือกระตุ้นทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการป้องกันภาวะดังกล่าว ขณะที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ ผู้ป่วยจะต้องมารับการตรวจการทำงานของหัวใจเป็นระยะๆตามที่แพทย์นัดหมาย
  • ระวังเรื่องการลืมรับประทานยานี้ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดภาวะถอนยาตามมาได้ การหยุดใช้ยานี้จะต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ระหว่างที่ใช้ยาลาโคซาไมด์แล้วพบอาการ วิงเวียน เดินเซ ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะด้วยตนเองหรือหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับ เครื่องจักร ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ง่าย
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาหลายประเภทซึ่งรวมยาลาโคซาไมด์ด้วย การตัดสินใจว่าจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว
  • ทางคลินิกพบว่า การใช้ยาลาโคซาไมด์ขนาด 200 มิลลิกรัม และ 800 มิลลิกรัม โดยรับประทานเพียงครั้งเดียว สามารถทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม และทำให้เกิดความเสี่ยงติดยาต่อผู้ป่วยที่ชอบรับประทานยาเพื่อให้เกิดภาวะเคลิบเคลิ้มดังกล่าว ดังนั้นญาติ/ผู้ดูแลผู้ป่วยควรต้องระวังและควบคุมการใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ใช้ยานี้แบบผิดวัตถุประสงค์ของการรักษา
  • กรณีใช้ยาไปสักระยะหนึ่งตามแพทย์แนะนำ แล้วพบว่าอาการลมชักไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาและเพื่อแพทย์ปรับแนวทางในการเยียวยารักษาผู้ป่วย

ตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขไทย ระบุให้ยาลาโคซาไมด์เป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริโภคจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น สำหรับประเทศไทยจะพบเห็นการจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Vimpat”

ลาโคซาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ลาโคซาไมด์

ยาลาโคซาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคลมชักประเภท Partial-onset seizures โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวๆในการรักษา โดยแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้ผู้ป่วยเป็นระยะๆ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆที่รุนแรงที่อาจเกิดกับผู้ป่วยซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

ลาโคซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า กระแสประสาทที่กระตุ้นให้เกิดอาการชักของร่างกาย ขึ้นอยู่กับความต่างศักย์ทางไฟฟ้าของสมองที่เกิดจากการส่งผ่านประจุของเกลือโซเดียม (Voltage-gated sodium channels) ยาลาโคซาไมด์จะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดการชะลอตัวการส่งผ่านประจุเกลือโซเดียมของเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้ลดการนำกระแสประสาทที่จะกระตุ้นอาการชักของร่างกาย จากกลไกเหล่านี้ จึงเกิดเป็นฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ลาโคซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลาโคซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Lacosamide ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Lacosamide ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ลาโคซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาลาโคซาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่17ปีขึ้นไป: รับประทานยา 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือใช้เป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 200 มิลลิกรัม/วัน แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม ทุกๆ 7 วัน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 150–200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 17 ปี: ห้ามใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • การเริ่มต้นใช้ยานี้กับผู้ป่วย จะใช้เป็นยาชนิดรับประทานหรือเริ่มต้นโดยยาฉีดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตัวผู้ป่วยและดุลพินิจแพทย์
  • สำหรับยาชนิดรับประทาน จะรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • การใช้ยาฉีดสลับกับยารับประทานอยู่ในวิสัยที่กระทำได้ แพทย์สามารถปรับใช้ตามเหตุการณ์และความเหมาะสมของผู้ป่วย
  • ยาฉีดต้องใช้ในลักษณะหยดเข้าหลอดเลือดดำ และควรใช้เวลาของการหยดยาแต่ละครั้งนาน 15–60 นาที
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับระดับความรุนแรงอาการปานกลาง ไม่ควรใช้ยาลาโคซาไมด์เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน และห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับที่อยู่ในระดับอาการรุนแรง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลาโคซาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลาโคซาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลาโคซาไมด์ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติตามเดิม

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาลาโคซาไมด์ สามารถทำให้เกิดภาวะถอนยา หรือเกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์แนะนำ

ลาโคซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลาโคซาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา( ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ เดินเซ ง่วงนอน ตัวสั่น ตากระตุก ความจำแย่ลง ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีผื่นแดง ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว
  • ผลต่อตา: เช่น มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม รู้สึกสับสน นอนไม่หลับ ก้าวร้าว เคลิบเคลิ้ม อยากทำร้ายตัวเอง

*กรณีได้รับยานี้เกินขนาด จะพบอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นหยุดเต้น ซึ่งเมื่อเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งการรักษาผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด แพทย์จะรักษาประคับตามอาการ อาจต้องใช้การ ฟอกเลือด/การล้างไตเข้ามาร่วมในการรักษาด้วย

มีข้อควรระวังการใช้ลาโคซาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลาโคซาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้เองโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน เม็ดยาแตกหัก ยาน้ำมีการตกตะกอนผิดปกติ
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้ระวังเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วย หากพบความผิดปกติ เช่น ทำร้ายตนเอง ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • เฝ้าระวังติดตามและคอยควบคุมอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับ หัวใจ ตับ รวมถึงอวัยวะต่างๆ ซึ่งถ้ามีอาการผิดปกติระหว่างใช้ยานี้ ต้องรีบมาโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลาโคซาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ลาโคซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลาโคซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาลาโคซาไมด์ร่วมกับยา Dolasetron อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้หัวใจ เต้นผิดจังหวะจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลาโคซาไมด์ร่วมกับยา Atazanavir, Saquinavir ด้วยจะก่อให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน ทันทีทันใด และเป็นลม
  • การใช้ยาลาโคซาไมด์ร่วมกับยา Sodium oxybate อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา เช่น ง่วงนอน วิงเวียน รู้สึกสับสน ซึม ความดันโลหิตต่ำ เพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดรับประทาน/การใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาลาโคซาไมด์ร่วมกับยา Thalidomide(ยารักษาโรคมะเร็ง) อาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น วิงเวียน ง่วงนอน เสียสมาธิ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาลาโคซาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาลาโคซาไมด์ ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ลาโคซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลาโคซาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Vimpat (วิมแพท)UCB

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Lacasa, Lacoset, Lacosam

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/sfx/lacosamide-side-effects.html[2017,Feb25]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/vimpat/?type=brief[2017,Feb25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Lacosamide#Dosage[2017,Feb25]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/lacosamide-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Feb25]