ลาแทโนโพรสต์ (Latanoprost)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลาแทโนโพรสต์ (Latanoprost) เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin analog) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาหยอดตาเพื่อบำบัดโรคต้อหิน และช่วยลดความดันภายในลูกตา เมื่อหยอดตาด้วยยาลาแทโนโพรสต์ ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระจกตาและกระแสเลือด โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงจะมีระดับยาสูงสุดในกระแสเลือด ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ของยานี้จะอยู่นานประมาณ 24 ชั่วโมง หรือน้อยกว่าเล็กน้อย ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง และยานี้จะถูกกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะ

แพทย์จะสั่งให้ใช้ยาลาแทโนโพรสต์เพียงวันละ 1 ครั้งก่อนนอน ขนาดความเข้มข้นของสูตรตำรับยานี้ที่พบเห็นการใช้ในประเทศไทยคือ 0.005% บางสูตรตำรับยายังมีการนำเอาตัวยา Timolol มาผสมร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาลาแทโนโพรสต์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลที่ควรมีสำรองไว้ให้บริการกับประชาชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้สูตรตำรับยาหยอดตาลาแทโนโพรสต์เป็นยาอันตรายชนิดสำหรับใช้ภายนอก

ยาลาแทโนโพรสต์ สามารถทำให้ขนตาของผู้ใช้มีสีเข้มดำ หนาตัว และงอกเร็วขึ้น สำหรับผู้ที่สวมคอนแทคเลนส์ จะต้องถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อนหยอดยานี้เสมอ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาลาแทโนโพรสต์ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เช่น

  • สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ผู้ที่เพิ่งรับการผ่าตัดตามาใหม่ๆ รวมถึงผู้ที่มีบาดแผลในตา หรือขณะนั้นผู้ป่วยมีอาการตาบวม หรือมีตาอักเสบด้วยติดเชื้อเริม

ยาลาแทโนโพรสต์เป็นยาหยอดตา จึงห้ามนำมารับประทาน หรือหยอดจมูกโดยเด็ดขาด ก่อนและหลังใช้ยานี้ต้องล้างมือเพื่อความสะอาดทุกครั้งเพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนสิ่งสกปรกให้กับตัวยา การหยอดยาต้องมิให้ปลายขวด/หลอด (Applicator) สัมผัสกับนิ้ว หรือแม้แต่กับเปลือกตา/หนังตาของผู้ป่วย

หากผู้ป่วยมีการใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว ต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบเพื่อจะได้ปรับวิธีการใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน

หลังการใช้ยาลาแทโนโพรสต์แล้ว หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจสอบและคัดกรองอาการอีกครั้ง ไม่ควรหยุดการรักษาเอง

ข้อคำนึงที่สำคัญสำหรับผู้บริโภค/ผู้ใช้ยาลาแทโนโพรสต์ คือ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้ปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้งเสมอ เพื่อให้แพทย์ประเมินความก้าวหน้าของการรักษาได้อย่างเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด

ลาแทโนโพรสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

บีแพนเธน

ยาลาแทโนโพรสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการโรคต้อหิน (Open angle glaucoma)
  • ช่วยลดความดันของลูกตา

ลาแทโนโพรสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาลาแทโนโพรสต์ เป็นยาที่มีโครงสร้างเลียนแบบสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ สามารถลดความดันของลูกตาลงได้ โดยทำให้ของเหลว/สารน้ำในลูกตามีการไหลเวียนออกจากลูกตาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ด้วยกลไกนี้ จึงทำให้ความดันในลูกตาลดลง และเป็นผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ลาแทโนโพรสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลาแทโนโพรสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.005%
  • ยาหยอดตา ที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Latanoprost 50 ไมโครกรัม + Timolol maleate 6.8 มิลลิกรัม / มิลลิลิตร

ลาแทโนโพรสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาลาแทโนโพรสต์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยอดยา 1 หยด ในตาข้างที่เป็นต้อหิน หรือข้างมีความดันของลูกตาสูง วันละ 1ครั้ง ก่อนนอน
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*อนึ่ง:

  • การเลือกใช้ยาขนาด 0.005% หรือเลือกใช้สูตรตำรับที่มียาTimolol อยู่ด้วย ให้เป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลาแทโนโพรสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลาแทโนโพรสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดตาด้วยยาลาแทโนโพรสต์ สามารถหยอดตาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดตาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรหยอดยาลาแทโนโพรสต์ ตรงเวลา

ลาแทโนโพรสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไบมาโตโพรสต์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น เกิดอาการ คัน แสบ ตา ขนตางอกยาวเร็วหนาตัว และมีสีดำมากขึ้น ระคายเคืองบริเวณตา ม่านตามีสีเข้มขึ้น ตาพร่า มีการบวมของจอตา
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น สีผิวบริเวณหนังตาเปลี่ยนไป มีผื่นคันบริเวณหนังตา
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาการหอบหืด เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ และวิงเวียน
  • ผลต่อตับ: เช่น อาจพบว่าตับมีการทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก ชีพจร /หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ

มีข้อควรระวังการใช้ลาแทโนโพรสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลาแทโนโพรสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ขณะที่ใช้ยานี้หยอดตา
  • ห้ามใช้ยาที่เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม เช่น สีเปลี่ยนไป ตัวยาขุ่น หรือตกตะกอน
  • ห้ามปรับปริมาณการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยมิได้มีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้น เช่น มีอาการอึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม หรือมีผื่นคันขึ้นเต็มตัว กรณีที่พบอาการแพ้ยา ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบจักษุแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลาแทโนโพรสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลาแทโนโพรสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลาแทโนโพรสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาลาแทโนโพรสต์ร่วมกับยาหยอดตา Bimatoprost (ยารักษาต้อหิน) อาจทำให้ความดันของตาเพิ่มสูงขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาลาแทโนโพรสต์อย่างไร?

ควรเก็บรักษาลาแทโนโพรสต์ ดังนี้ เช่น ยาลาแทโนโพรสต์ ที่ยังไม่ได้เปิดขวดใช้ ให้เก็บในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ยานี้ที่เปิดขวดใช้แล้วให้เก็บในช่วงอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส โดยยาที่เปิดใช้แล้วนี้จะมีอายุเหลือสำหรับการใช้เพียง 4 - 6 สัปดาห์หลังเปิดขวดยา

นอกจากนั้นคือ ห้ามเก็บยานี้ในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ลาแทโนโพรสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลาแทโนโพรสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Xalacom (ซาลาคอม)Pfizer
Xalatan (ซาลาแทน)Pfizer
Xaprost (ซาโพรสต์) Mylan

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=latanoprost [2016,Aug27]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Latanoprost [2016,Aug27]
  3. https://www.drugs.com/cdi/latanoprost-drops.html [2016,Aug27]
  4. https://www.drugs.com/sfx/latanoprost-ophthalmic-side-effects.html [2016,Aug27]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/xaprost/?type=brief [2016,Aug27]