ลอร์คาเซริน (Lorcaserin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ลอร์คาเซรินสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ลอร์คาเซรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลอร์คาเซรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลอร์คาเซรินมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ลอร์คาเซรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลอร์คาเซรินอย่างไร?
- ลอร์คาเซรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลอร์คาเซรินอย่างไร?
- ลอร์คาเซรินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Serotonin 2C receptor agonist)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease)
บทนำ
ยาลอร์คาเซริน(Lorcaserin หรือ Lorcaserin hydrochloride หรือ Lorqess) เป็นยาของกลุ่มซีโรโทนิน 2ซี รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Serotonin 2C receptor agonist) ตัวยามีการออกฤทธิ์ที่สมองบริเวณที่ใช้ควบคุมความอยากอาหาร ส่งผลให้ผู้ที่ไดรับยานี้รับประทานอาหารได้น้อยลง ยานี้ถูกขึ้นทะเบียนและเป็นที่ยอมรับทางคลินิกให้ใช้เป็นยาลดน้ำหนักตั้งแต่ปีค.ศ.2012(พ.ศ. 2555) ซึ่งการใช้ยาลอร์คาเซรินอย่างมีประสิทธิผล จะต้องกระทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายเสมอ
เภสัชภัณฑ์ของยาลอร์คาเซริน เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้ยังจะกระจายเข้าสู่น้ำไขสันหลัง และผ่านเข้าสมองได้เป็นอย่างดี ยานี้จะถูกทำลายโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะ และมีส่วนน้อยที่ออกไปกับอุจจาระ
เพื่อความปลอดภัยของการใช้ยาต่างๆรวมถึงยาลอร์คาเซริน ควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง อาทิเช่น โรคเบาหวาน หัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจ โรคความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เช่น เม็ดเลือดแดงรูปเคียว(Sickle cell disease, โรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่พบน้อย ที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายที่ส่งผลให้เกิดภาวะซีด) โรคไต โรคตับ และห้ามมิให้ใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
โดยทั่วไป การรับประทานยาลอร์คาเซรินที่เป็นชนิดออกฤทธิ์ทันที ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง แต่หากเป็นชนิดออกฤทธิ์นาน สามารถรับประทานยาเพียงวันละ1ครั้งก็พอแล้ว ระหว่างที่มีการรับประทานยานี้ใน 12 สัปดาห์แรกร่วมกับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย จะเริ่มเห็นน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5% เป็นอย่างต่ำ กรณีที่น้ำหนักตัวไม่ลดลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้ป่วยควรต้องกลับมาขอคำปรึกษาจากแพท/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
ยาลอร์คาเซริน จัดว่าเป็นยาอันตรายมากพอสมควร จึงไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน รวมถึงห้ามใช้ยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วนชนิดอื่นร่วมกับการใช้ยาลอร์คาเซรินโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน หรือกรณีที่ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์แล้ว แต่กลับพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ดังต่อไปนี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เช่น
- มีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยน หรือมีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเองเกิดขึ้น
- เกิดความรู้สึกว่า เห็นตนเองยืนอยู่ข้างๆ อาจจะเรียกว่าเห็นภาพหลอน/ประสาทหลอนเกิดขึ้นก็ได้
- ขาดสมาธิและมีปัญหาทำให้ความจำของตนเองแย่ลง
- เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว หายใจขัด/หายใจลำบาก วิงเวียน มือ-แขน-ขา-เท้ามีอาการบวม และอ่อนเพลีย
- มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย สูญเสียการทรงตัว และเป็นลม
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาบางประเภทที่ห้ามใช้หรือควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาลอร์คาเซริน อาทิเช่นยา Cabergoline, Linezolid, Lithium, St. John's wort, Tramadol, Tryptophan, Dextromethorphan, Avanafil, Sildenafil, Tadalafil/ Cialis, Levitra /Vardenafil, Viagra, Almotriptan, Frovatriptan, Rizatriptan/Maxalt, Sumatriptan, Zolmitriptan/Imitrex/Zomig ด้วยยาเหล่านี้สามารถทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปกิกิริยาระหว่างยา)กับยาลอร์คาเซริน และส่งผลเสียต่อผู้ใช้ยาเหล่านี้ได้อย่างรุนแรง
ปัจจุบันอาจไม่พบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทย แต่ต่างประเทศเราจะพบเห็นการใช้และจัดจำหน่ายยาลอร์คาเซรินภายใต้ชื่อการค้าว่า “Belviq”
ลอร์คาเซรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร
ยาลอร์คาเซรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน ในผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
ลอร์คาเซรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ขิงยาลอร์คาเซรินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อเรียกว่า 5-HT2C receptor(5-hydroxytryptamine 2C receptor)ซึ่งอยู่บริเวณสมองส่วนไฮโปธาลามัส มีผลให้ลดความอยากอาหาร แต่ผู้ป่วยจะต้องควบคุมและจำกัดการรับประทานอาหาร พร้อมการออกกำลังกาย ตามคำแนะนำของแพทย์ควบคู่กันไป จากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลลดปริมาณพลังงานที่ผู้ป่วยได้รับในแต่ละวัน จนทำให้น้ำหนักตัวลดลงตามมา
ลอร์คาเซรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลอร์คาเซรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน
- แบบออกฤทธิ์ทันที ที่ประกอบด้วยตัวยา Lorcaserin HCl/Hydrochloride 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- แบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Lorcaserin HCl 20 มิลลิกรัม/เม็ด
ลอร์คาเซรินมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ยาลอร์คาเซรินมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: รับประทานยาแบบออกฤทธิ์ทันทีขนาด 10 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือ รับประทานยาแบบออกฤทธิ์นานขนาด 20 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง โดยสามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในคนกลุ่มวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ห้ามเคี้ยวหรือบดยาก่อนรับประทานให้กลืนยาพร้อมน้ำสะอาด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโรคไตในระดับรุนแรง
- การใช้ยานี้ต้องอาศัยการควบคุมและจำกัดการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายร่วมด้วยจึงจะเห็นประสิทธิผล
- หากน้ำหนักตัวลดลงมาไม่ถึง 5% ภายใน 12 สัปดาห์โดยมีการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามใช้ยานานเกินจากคำสั่งแพทย์
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องเฝ้าระวังเรื่องระดับน้ำตาลในเลือด การเกิดน้ำนมไหล ปริมาณเม็ดเลือดในร่างกายผิดปกติ การเกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท เช่นประสาทหลอน มีภาวะSerotonin syndrome ภาวะซึมเศร้า เกิดพฤติกรรมที่อยากทำร้ายตนเองรวมถึง พฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป/อารมณ์แปรปรวน
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลอร์คาเซริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคระบบประสาท ดรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลอร์คาเซรินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลอร์คาเซรินสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ลอร์คาเซรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลอร์คาเซรินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ง่วงซึม ประสาทหลอน อยากทำร้ายตนเอง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ตัวสั่น สับสน เกิดภาวะSerotonin syndrome
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีการหลั่งเหงื่อมาก/เหงื่อออกมาก
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นช้า
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ ไอ มีน้ำมูกคั่ง/คัดจมูก
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวลดลง ฮีโมโกลบินต่ำ เม็ดเลือดแดงลดลง
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ฮอร์โมนโปรแลคติน/Prolactin เพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก ปากแห้ง อาเจียน ปวดฟัน ระบบทางเดินอาหารอักเสบ เช่น ลำไส้อักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น แพ้อากาศง่าย
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ตาแห้ง เห็นภาพไม่ชัด ระคายเคืองตา
มีข้อควรระวังการใช้ลอร์คาเซรินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลอร์คาเซริน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วรีบมา พบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลอร์คาเซรินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ลอร์คาเซรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลอร์คาเซรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาลอร์คาเซรินร่วมกับยา Fentanyl, Tryptophan, Tramadol, อาจทำให้ เกิดภาวะ Serotonin syndrome ตามมา โดยพบอาการคล้ายประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงโดยอาจต่ำหรือสูง บางกรณีอาจเกิดภาวะโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาลอร์คาเซรินร่วมกับยา Phenylpropanolamine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะผิดปกติทางหัวใจ เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก วิงเวียน เป็นลม ขาและเท้าบวม
- ห้ามใช้ยาลอร์คาเซรินร่วมกับยา Bromocriptine, Ergotamine, ด้วยเพิ่มความเสี่ยงของลิ้นหัวใจถูกทำลาย/โรคลิ้นหัวใจ
- การใช้ยาลอร์คาเซรินร่วมกับยา Timolol อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Timolol มากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาลอร์คาเซรินอย่างไร?
ควรเก็บยาลอร์คาเซริน ในช่วงอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ลอร์คาเซรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลอร์คาเซริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Belviq (เบลวิค) | Eisai Corporation |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/mtm/lorcaserin.html[2017,March11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Lorcaserin[2017,March11]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB04871[2017,March11]
- http://www.aafp.org/afp/2014/1215/p863.pdf[2017,March11]
- http://www.aafp.org/afp/2014/1215/p863.pdf[2017,March11]
- https://www.drugs.com/sfx/lorcaserin-side-effects.html[2017,March11]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/lorcaserin-index.html?filter=3&generic_only=#B[2017,March11]
- https://www.drugs.com/dosage/belviq-xr.html[2017,March11]