ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤษภาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาร็อกซิโทรมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาร็อกซิโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาร็อกซิโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาร็อกซิโทรมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาร็อกซิโทรมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาร็อกซิโทรมัยซินอย่างไร?
- ยาร็อกซิโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาร็อกซิโทรมัยซินอย่างไร?
- ยาร็อกซิโทรมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
บทนำ
ยาร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) เป็นยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์กลุ่ม Macrolide ทางวงการแพทย์ นำมาใช้รักษาการอักเสบที่ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องทางเดินหายใจ ระบบทาง เดินปัสสาวะ และการติดเชื้อตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย
ยาร็อกซิโทรมัยซินจัดเป็นอนุพันธุ์ของ ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพราะมีโครง สร้างทางเคมีใกล้เคียงกัน หลังจากร่างกายได้รับยานี้ อวัยวะตับจะเป็นตัวเปลี่ยนโครงสร้างโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจะใช้เวลาอีก 11 – 12 ชั่วโมง เพื่อกำจัดระดับยาออกจากร่างกาย 50% (Half Life) โดยผ่านไปทางน้ำดี บางส่วนขับออกทางปัสสาวะและทางลมหายใจ
ในบ้านเรา สามารถพบเห็นร็อกซิโทรมัยซินในชื่อการค้ามากมาย มีขายตามร้ายขายยาทั่ว ไป และมีใช้ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน
ด้วยร็อกซิโทรมัยซินเป็นยาอันตราย การใช้ยาควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้ทำการรัก ษา
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณของยาร็อกซิโทรมัยซิน คือ
- รักษาอาการติดเชื้อที่ หู คอ จมูก
- รักษาการติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ (ไม่รวมโกโนเรีย/หนองใน)
- รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง
- ป้องกันการติดเชื้อไข้สมองอักเสบ
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของร็อกซิโทรมัยซิน คือตัวยาจะเข้าไปจับกับ 50s Ribosome (สารพันธุกรรมชนิดหนึ่ง) ในแบคทีเรีย และรบกวนการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรีย ด้วยกลไกนี้จึงยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในที่สุด
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ต่างประเทศสามารถพบเห็นร็อกซิโทรมัยซินในรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน สำหรับประเทศไทยยาร็อกซิโทรมัยซิน จะมีการจัดจำหน่ายในรูปแบบ
- ยาเม็ดขนาด 100, 150 และ 300 มิลลิกรัม
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีขนาดรับประทาน ดังนี้
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น หรือรับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก: ที่มีน้ำหนัก 24 – 40 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ส่วนในน้ำหนักอื่นๆ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำขนาดยาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ควรรับประทานยาร็อกซิโทรมัยซินก่อนอาหาร 15 - 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ ระยะเวลาในการรับประทานอยู่ในช่วง 5-10 วันต่อเนื่อง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการทางคลินิก ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาร็อกซิโทรมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทาเฉพาะที่ชนิดใดหรือไม่
- มีโรคผิวหนังชนิดเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ และ
- ระยะเวลาของอาการโรคเป็นมานานกี่วัน
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาร็อกซิโทรมัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) โดยอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง สำหรับผลข้าง เคียงที่อาจพบได้น้อย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนเหมือนบ้านหมุน ผื่นคัน ตับทำงานผิดปกติ (ตับอักเสบ) การดมกลิ่นและการรับรสเปลี่ยนไป
มีข้อควรระวังการใช้ยาร็อกซิโทรมัยซินอย่างไร?
ข้อควระวังในการใช้ยาร็อกซิโทรมัยซิน คือ
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาร็อกซิโทรมัยซิน
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาปวดศีรษะไมเกรน Ergotamine และ Dihydroergotamine
- ระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาร็อกซิโทรมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ร็อกซิโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น คือ
- การใช้ยาร็อกซิโทรมัยซินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจส่งผลให้เกิดอาการเลือดออกได้ง่าย หรือทำให้ระยะเวลาของเลือดหยุดไหลเมื่อมีบาดแผลยาวนานขึ้น ยาต้านการแข็งตัวของเลือดดังกล่าว เช่น Warfarin
- การใช้ยาร็อกซิโทรมัยซินร่วมกับยาขยายหลอดลม สามารถส่งผลให้ระดับยาขยายหลอดลมในกระแสเลือดมีระดับสูงขึ้น ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงของยาขยายหลอดลมติด ตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน สมควรต้องปรับเปลี่ยนขนาดและระยะเวลารับประ ทานให้เหมาะสม ยาขยายหลอดลมดังกล่าว เช่น Theophylline
- การใช้ยาร็อกซิโทรมัยซินร่วมกับยากลุ่ม Ergot Alkaloids (เช่น ยารักษาไมเกรน) ถือ เป็นข้อที่ต้องระมัดระวังอย่างสูง ด้วยเคยมีรายงานผลที่มีการใช้ยา 2 กลุ่มนี้ร่วมกัน มีความเป็น ไปได้ที่อาจก่อให้เกิดการตายของเนื้อเยื้อ และมีการเสื่อมสภาพของเซลล์ติดตามมา ยากลุ่ม Ergot Alkaloids ดังกล่าว เช่น Ergotamine Dihydroergotamine
- การใช้ยาร็อกซิโทรมัยซินร่วมกับยาต้านสารฮีสตามีน (Histamine) บางตัว อาจทำให้ระดับยาต้านฮีสตามีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา ยาต้านฮีสตามีนดังกล่าว เช่น Terfenadine
ควรเก็บรักษายาร็อกซิโทรมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาร็อกซิโทรมัยซินภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
ยาร็อกซิโทรมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาร็อกซิโทรมัยซินในประเทศไทย มีชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ammirox (แอมมิร็อก) | MacroPhar |
Coroxin (โคโรซิน) | Community Pharm PCL |
Eroxade (อีโรเสด) | Osoth Interlab |
I-Throcin (ไอ-โทรซิน) | T.C. Pharma-Chem |
Manroxin-150 (แมนร็อกซิน-150) | T. Man Pharma |
Poliroxin (โพลิร็อกซิน) | Polipharm |
Rocitro (โรซิโทร) | Thai Nakorn Patana |
Romed (โรเมด) | Medicpharma |
Rothricin/Rothricin Pediatric(โรทริซิน/โรทริซิน พิดิเอทริก) | Siam Bheasach |
Roxamycin(ร็อกซามายซิน) | Inpac Pharma |
Roxcin(ร็อกซิน) | Biolab |
Roxicin (ร็อกซิซิน) | Atlantic Lab |
Roxifect(ร็อกซิเฟ็ก) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Roxilan (ร็อกซิแลน) | Olan-Kemed |
Roximed (ร็อกซิเมด) | Burapha |
Roximin (ร็อกซิมิน) | Pharmaland |
Roxino(ร็อกซิโน) | Suphong Bhaesaj |
Roxinox(ร็อกซิน็อก) | Charoen Bhaesaj Lab |
Roxinpac(ร็อกซินแพค) | Inpac Pharma |
Roxithro(ร็อกซิโทร) | Millimed |
Roxithromycin Central (ร็อกซิโทรมัยซิน เซ็นทรัล) | Pharmasant Lab |
Roxithroxyl (ร็อกซิโทรซิล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Roxitin (ร็อกซิติน) | T P Drug |
Roxitop (ร็อกซิทอป) | Farmaline |
Roxitron (ร็อกซิตรอน) | R.X. |
Roxlecon (ร็อกเลคอน) | Pond’s Chemical |
Roxthomed (ร็อกโทเมด) | Medicine Products |
Roxthrin (ร็อกทริน) | T.O. Chemicals |
Roxto (ร็อกโท) | M & H Manufacturing |
Roxtrocin (ร็อกโทรซิน) | Greater Pharma |
Roxy (ร็อกซี) | Sriprasit Pharma |
Rucin (รูซิน) | General Drugs House |
Rulid (รูลิด) | sanofi-aventis |
Rulosone (รูโลโซน) | P P Lab |
Ruxitex (รูซิเท็ก) | The United Drug (1996) |
Saroxxo (ซาร็อกโซ) | Pharmahof |
Uonin (โอนิน) | Unison |
Utolid (ยูโทลิด) | Utopian |
Vesthromycin (เวสโทรมายซิน) | Vesco Pharma |
V-Rox 300 (วี-ร็อก 300) | V S Pharma |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Roxithromycin [2014,April 28]
2. http://www.mydr.com.au/medicines/cmis/chemmart-roxithromycin-tablets [2014,April28].
3. http://www.medsafe.govt.nz/profs/datasheet/a/ArrowRoxithromycintab.pdf [2014,April28].
4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Rulid/?q=roxithromycin&type=brief [2014,April28].
5. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=roxithromycin [2014,April28].
6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/rothricin-rothricin%20pediatric/?q=roxithromycin&type=brief [2014,April28].