รูฟินาไมด์ (Rufinamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยารูฟินาไมด์(Rufinamide) เป็นยารักษาอาการชัก สามารถใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อรักษากลุ่มอาการชักที่มีชื่อเรียกว่า Lennox-Gastaut syndrome ยารูฟินาไมด์ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) โดยบริษัท Novartis Pharma รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน

ยารูฟินาไมด์จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 85% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6–10 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ตัวยานี้สามารถใช้ได้กับผู้ใหญ่และกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

ยารูฟินาไมด์มีข้อจำกัดการใช้กับผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง โรคหัวใจ และโรคไต รวมถึงต้องเพิ่มความระมัดระวังหากต้องใช้ยารูฟินาไมด์กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวช และผู้ที่มีประวัติทำร้ายตนเอง ทั้งนี้มีข้อมูลทางคลินิกพบว่า การใช้ยารูฟินาไมด์กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะทำให้อาการป่วยรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามใช้ยาชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยารูฟินาไมด์สามารถส่งผ่านไปถึงทารก และก่อให้เกิดอันตรายขึ้นกับทารกได้

การรับประทานยารูฟินาไมด์เพื่อควบคุมอาการชัก จะต้องอาศัยการรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดรับประทานยานี้กะทันหันเพราะจะทำให้เกิดอาการชักขึ้นมาอีกได้ แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้ยานี้ หรือหยุดการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด

สำหรับการรับประทานยารูฟินาไมด์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร และตรงเวลาในแต่ละวัน ถึงแม้จะรู้สึกว่าไม่มีอาการชักเกิดขึ้นแล้วและดูเหมือนร่างกายเป็นปกติ ก็ยังคงต้องรับประทานต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์

อนึ่ง ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยารูฟินาไมด์ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์ ด้วยมียาหลายรายการที่สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยารูฟินาไมด์เพิ่มมากขึ้น หรืออาจทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาของยารูฟินาไมด์ลดลงเมื่อใช้ร่วมกันกับยาเหล่านั้น

กรณีใช้ยารูฟินาไมด์แล้วมีอาการวิงเวียน ห้ามมิให้ผู้ป่วยขับขี่ยวดพาหนะต่างๆ และ/หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยสามารถจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ยารูฟินาไมด์เป็นยาที่สามารถก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับร่างกายได้หากใช้ไม่ถูกวิธี ดังนั้นการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

ปัจจุบันเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยารูฟินาไมด์ ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Banzel” และ “Inovelon”

รูฟินาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

รูฟินาไมด์

ยารูฟินาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษากลุ่มอาการชักที่เรียกว่า Lennox-Gastaut syndrome

รูฟินาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยารูฟินาไมด์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะปรับค่าศักย์ไฟฟ้าของสมองหรือที่เรียกกันว่า Voltage-gated sodium channels ทำให้ลดกระแสประสาทที่คอยกระตุ้นให้เกิดอาการชัก ด้วยกลไกนี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

รูฟินาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารูฟินาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Rufinamide 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด

รูฟินาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยารูฟินาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400 – 800 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น พร้อมอาหาร แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้น 400–800 มิลลิกรัมทุกๆ 2 วัน ขึ้นกับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย โดยขนาดรับประทานสูงสุดของผู้ใหญ่ห้ามเกิน 3,200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น พร้อมอาหาร โดยแพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นอีก 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยขนาดสูงสุดไม่ควรเกิน 45 มิลลิกรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือ 3,200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยารูฟินาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคจิตประสาท/โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยารูฟินาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยารูฟินาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ

แต่การหยุดรับประทานยารูฟินาไมด์ทันที อาจก่อให้เกิดอาการถอนยาตามมา

รูฟินาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยารูฟินาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ วิงเวียน การทรงตัวผิดปกติ อาจเกิดอาการชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง เกิดสิว
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง มีภาวะขาดธาตุเหล็ก เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ อยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน หนังตากระตุก

มีข้อควรระวังการใช้รูฟินาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารูฟินาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับขั้นรุนแรง โรคหัวใจ โรคไต การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้ทันทีทันใด เพราะอาจเกิดอาการชักขึ้นใหม่ได้ การหยุดใช้ยานี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้ยาเป็นลำดับลงมา
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล/อาการชักไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารูฟินาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

รูฟินาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยารูฟินาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยารูฟินาไมด์ร่วมกับยา Divalproex, Valproic acid ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากรูฟินาไมด์มากขึ้น
  • ห้ามใช้ยารูฟินาไมด์ร่วมกับยา Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, Primidone, เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยารูฟินาไมด์ลดต่ำลง
  • ห้ามใช้ยารูฟินาไมด์ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด ด้วยจะทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดลดน้อยลง จึงต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยขณะใช้ยานี้ เช่น ถุงยาอนามัยชาย หรือ ใส่ห่วงอนามัย

ควรเก็บรักษารูฟินาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยารูฟินาไมด์ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

รูฟินาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารูฟินาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Banzel (แบนเซล)Eisai
Inovelon (ไอโนวีลอน)Eisai

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/banzel.html[2017,July29]
  2. https://www.drugs.com/banzel-images.html[2017,July29]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Rufinamide[2017,July29]
  4. http://www.mims.com/hongkong/drug/info/inovelon/?type=brief[2017,July29]