ริลพิไวรีน (Rilpivirine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาริลพิไวรีน(Rilpivirine ย่อว่า RPV หรือ Rilpivirine hydrochloride หรือ Rilpivirine HCl) เป็นยาประเภท Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors(NNRTIS) รุ่นที่ 2 ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคเอชไอวีชนิดย่อย1(Human immunodeficiedcy virus type 1) จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์แรง สามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนานประมาณ 50 ชั่วโมง และยังมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายา Efavirenz ยาริลพิไวรีนมีการออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์ที่ไวรัสเอชไอวีใช้ถอดรหัสจากสารพันธุกรรม RNA ไปเป็น DNA เป็นเหตุให้การเพิ่มจำนวนของไวรัสรุ่นใหม่หยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม ยานี้ไม่สามารถรักษาโรคเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่สามารถยืดอายุของผู้ป่วยให้ยาวนานยิ่งขึ้น

ยาริลพิไวรีน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทานที่ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้ากระแสเลือดได้ประมาณ 40% และต้องรับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหารอาหาร

ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยาริลพิไวรีน จะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อระบุชนิดของเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้จะต้องตรวจหาปริมาณซีดีโฟร์ (CD4+ cell) หากต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตรจะเป็นการสนับสนุนว่าป่วยด้วยโรคเอชไอวีอย่างแน่นอนแล้ว

ยาริลพิไวรีนเป็นยาที่ใช้รักษาผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และต้องมีน้ำหนักตัว 35 กิโลกรัมเป็นอย่างต่ำ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตรงขนาด ตรงเวลาในแต่ละวัน และเฝ้าระวังอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่น การแพ้ยา มีอาการซึมเศร้า พิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจจะเกิดกับตับ รวมถึงอาการข้างเคียงอื่นอีกๆหลายประการ ตลอดจนกระทั่งการควบคุมการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยชาย เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีไปสู่อีกบุคคล

กรณีที่อาการป่วยดีขึ้นจนดูคล้ายเป็นปกติ ห้ามมิให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยาริลพิไวรีน แต่ต้องรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าแพทย์จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือกรณีที่รับประทานยานี้แล้ว อาการกลับทรุดหนักหรือไม่ดีขึ้นเลย ผู้ป่วยต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

ยาริลพิไวรีน เป็นยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ผู้ป่วยจะต้องมารับยาชนิดนี้ที่สถานพยาบาลเท่านั้น ด้วยไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป

ริลพิไวรีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร ?

ริลพิไวรีน

ยาริลพิไวรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งชี้ เช่น

  • บำบัดอาการโรคเอชไอวีวัน (HIV1)โดยใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นที่ใช้รักษาโรคเอชไอวี/ยาต้านรีโทรไวรัส
  • แพทย์จะใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ตรวจพบปริมาณเอชไอวี วัน อาร์เอ็นเอ (RNA copies) ตั้งแต่ 100,000 สำเนาต่อมิลลิลิตร และเป็นผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการรักษาด้วย ยาริลพิไวรีนมาก่อน

ริลพิไวรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาริลพิไวรีนเป็นยาในกลุ่ม NNRTIs มีการออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ชื่อ Reverse transcriptase ของไวรัสเอชไอวีวัน ทำให้สูญเสียความสามารถในการถอดรหัสสารพันธุกรรม RNA ที่จะเปลี่ยนไปเป็น DNA ด้วยกลไกนี้ ทำให้ไวรัสฯขาดคุณสมบัติในการสร้างไวรัสรุ่นใหม่จึงส่งผลต่อผู้ป่วยทำให้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ

ริลพิไวรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาริลพิไวรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Rilpivirine hydrochloride ขนาด 27.5 มิลลิกรัม/เม็ด (ซึ่งเทียบเท่ากับตัวยา Rilpivirine 25 มิลลิกรัม/เม็ด)

ริลพิไวรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาริลพิไวรีน มีขนาดรับประทานสำหรับบำบัดอาการโรคเอชไอวีวัน(HIV1) ดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ควรรับประทานยาพร้อมอาหารเพื่อช่วยการดูดซึม
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยา ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็กวัยดังกล่าว

อนึ่ง:

  • แพทย์อาจจ่ายยาริลพิไวรีน ร่วมกับยารักษาโรคเอชไอวีชนิดอื่น เช่น Emtricitabine และ Tenofovir
  • ควรต้องรับประทานยาตรงเวลาและตรงขนาดตามคำสั่งแพทย์
  • กรณีใช้ยาริลพิไวรีนร่วมกับยา Rifabutin แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานของ ยาริลพิไวรีนเป็น 50 มิลลิกรัม/วัน และเมื่อหยุดใช้ยา Rifabutin แพทย์อาจปรับลด ขนาดยาริลพิไวรีนเป็น 25 มิลลิกรัม/วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา ริลพิไวรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคจิตประสาท/โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เช่นยา Carbamazepine, Delavirdine, Dexamethasone, Dexlansoprazole, Efavirenz, Esomeprazole, Etravirine, Lansoprazole, Nevirapine, Omeprazole, Oxcarbazepine , Pantoprazole, Phenobarbital, Phenytoin, Rabeprazole, Rifampin, Rifapentine, เพราะยา เหล่านี้อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่าง ยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาริลพิไวรีน เป็นเวลาน้อยกว่า 12 ชั่วโมงนับจากยามื้อสุดท้าย สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าลืมรับประทานยานานมากกว่า 12 ชั่วโมงขึ้นไปให้รับประทานยาที่ขนาดปกติในเวลาเดิมของวันถัดมา ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรง เพราะจะทำให้อาการโรคกำเริบลุกลามมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีรับประทานยาเมื่อลืมรับประทานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการเจ็บป่วยของโรคแต่ละประเภท ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมรับประทานยา

ริลพิไวรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาริลพิไวรีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลลิรูบินเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ค่าคอเลสเตอรอลรวมเพิ่มขึ้น LDL เพิ่มขึ้น เบื่ออาหาร หน้าอก/เต้านมโต
  • ผลต่อสภาพจิต: เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า อาจเกิดความคิดอยากทำร้ายตนเอง ฝันประหลาด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีอะตินิน(Creatinine)สูง มีไตอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ริลพิไวรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาริลพิไวรีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้ไปเฉยๆโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ทั่วไปขณะใช้ยานี้ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะถูกห้ามการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา ทั้งนี้เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไวรัสเอชไอวีจากน้ำนมมารดาเข้าสู่ทารก แพทย์จึงแนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยผลิตภัณฑ์นมที่มีจำหน่ายตามเกณฑ์มาตรฐานของอายุทารก
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายและรับยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาริลพิไวรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ริลพิไวรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาริลพิไวรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาริลพิไวรีนร่วมกับยา Phenytoin , Phenobarbital , Rifampin ด้วยจะทำให้ระดับยาริลพิไวรีนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษาตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาริลพิไวรีนร่วมกับยา Amiodarone , Cabozantinib , Dolasetron, Efavirens เพราะจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
  • ห้ามรับประทานยาริลพิไวรีนร่วมกับยา Cimetidine , Famotidine เพราะจะทำให้การดูดซึมของยาริลพิไวรีนจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลง
  • ห้ามรับประทานยาริลพิไวรีนร่วมกับยาTeriflunomide เพราะจะทำให้เกิดพิษต่อตับตามมา

ควรเก็บรักษายาริลพิไวรีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาริลพิไวรีน ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ริลพิไวรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาริลพิไวรีนมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Edurant (เอดูแรนท์)Janssen-Cilag

บรรณานุกรม

  1. https://aidsinfo.nih.gov/drugs/426/rilpivirine/0/patient [2018,July14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Rilpivirine [2018,July14]
  3. https://www.drugs.com/cdi/rilpivirine.html [2018,July14]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/rilpivirine/?type=brief&mtype=generic [2018,July14]
  5. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/edurant/indications [2018,July14]
  6. http://www.edurant.com/shared/prescribing-information-edurant.pdf [2018,July14]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/rilpivirine-index.html?filter=3&generic_only= [2018,July14]