ราเมลทีออน (Ramelteon)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาราเมลทีออน(Ramelteon) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเมลาโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Melatonin receptor agonists) ตัวยานี้มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายกับฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ถูกสังเคราะห์จากต่อมไพเนียล (Pineal gland)ในสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบการนอนของมนุษย์นั่นเอง ยาราเมลทีออนจะมีการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ชื่อ Melatonin(MT) receptor 2 ชนิด คือ MT1 ซึ่งอยู่ในสมอง กับ MT2 ในลูกตา ส่งผลให้รู้สึกง่วงนอนและสามารถนอนหลับได้

ยาราเมลทีออนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดมีน้อยมากเพียงประมาณ 1.8% เอนไซม์ในตับที่ชื่อ CYP1A2(Cytochrome P450 1A2) จะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยาชนิดนี้ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1–2.6 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและบางส่วนไปกับอุจจาระ

ทางคลินิก แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้เพียงครั้งเดียวก่อนนอนครึ่งชั่วโมง ระยะเวลาของการใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาจากอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

มีข้อจำกัดการใช้ยาราเมลทีออนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบไว้ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาราเมลทีออนกับผู้ป่วยโรคตับ และกับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ/โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
  • ห้ามรับประทานยาราเมลทีออนร่วมกับยา Fluvoxamine ด้วยจะทำให้ระดับยาราเมลทีออนในกระแสเลือดเพิ่มสูงจนส่งผลเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
  • ห้ามรับประทานยาราเมลทีออนร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะลดการดูดซึมยานี้เข้าสู่กระแสเลือด และทำให้ยานี้ออกฤทธิ์ได้ช้าลงหรือได้อ่อนลง จนลดประสิทธิภาพของยานี้
  • ขณะที่รับประทานราเมลทีออนไปแล้ว ต้องไม่ทำกิจกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการ นอนหลับ เช่น การออกกำลังกาย
  • ยาชนิดนี้อาจทำให้มีอาการวิงเวียน ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆและ/หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรเมื่อมีอาการดังกล่าว ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามรับประทานยาราเมลทีออนร่วมกับ เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ยานอนหลับชนิดอื่นๆ ยาคลายกล้ามเนื้อ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยานี้มากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายกับตัวผู้บริโภคเอง
  • หลังจากการใช้ยานี้ครั้งแรกไปแล้ว ผลกระทบหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาอาจเกิดขึ้นในวันถัดมา กรณีนี้ผู้บริโภคจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในกิจกรรมที่ต้องทำ ระหว่างวัน เช่น การขับรถ การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • กรณีใช้ยานี้ต่อเนื่อง 7 – 10 วันแล้วอาการนอนไม่หลับไม่ดีขึ้นเลย ควรต้องปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าตนเองมีโรคประจำตัว รวมถึงปัจจุบันมีการใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาราเมลทีออน หรือเกิดผลกระทบต่อโรคประจำตัวต่างๆที่เป็นอยู่ก่อน เช่น การใช้ยาราเมลทีออนกับผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจะทำให้อาการซึมเศร้าเป็นหนักขึ้น
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบากหรือเกิดอาการผื่นคันตามตัวหลังจากการใช้ยานี้ ต้องหยุดการใช้ยาชนิดนี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ด้วยอาการดังกล่าวอาจบ่งบอกว่าร่างกายของผู้บริโภคแพ้ยาชนิดนี้เข้าแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าราเมลทีออนเป็นยาที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับก็จริง แต่ก็สามารถสร้างผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อร่างกายได้เช่นกันหากใช้ยานี้ไม่ถูกหลักของการรักษา

อนึ่ง เราจะพบเห็นยาราเมลทีออนที่ถูกผลิตในต่างประเทศ และวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า “Rozerem”

ราเมลทีออนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ราเมลทีออน

ราเมลทีออนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการนอนไม่หลับสำหรับผู้ใหญ่

ราเมลทีออนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาราเมลทีออนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Melatonin(MT) receptor อย่างเช่น MT1และMT2 receptor การออกฤทธิ์ที่ตัวรับดังกล่าว ส่งผลกระตุ้นการนอนหลับได้ยาวนานถึงประมาณ 7-8 ชั่วโมง จากกลไกที่กล่าว ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ราเมลทีออนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาราเมลทีออนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Ramelteon 8 มิลลิกรัม/เม็ด

ราเมลทีออนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาราเมลทีออนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 8 มิลลิกรัม ครั้งเดียว/วัน ก่อนเข้านอน 30 นาที
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอในการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ/นอนหลับแล้วหยุดหายใจ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาราเมลทีออน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาราเมลทีออนอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การลืมรับประทานยาราเมลทีออนอาจก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับตามมา แต่อย่างไรก็ตาม กรณีลืมรับประทานยาราเมลทีออน ผู้บริโภคสามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ

ราเมลทีออนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาราเมลทีออนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน อ่อนเพลีย
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับอย่างรุนแรง

มีข้อควรระวังการใช้ราเมลทีออนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาราเมลทีออน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ผู้ป่วยโรคตับ
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และ เด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามขนาดรับประทานที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • กรณีใช้ยานี้ต่อเนื่องแล้วอาการนอนไม่หลับไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เช่น การปรับสภาพจิตใจ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร/เครื่องดื่ม และการพักผ่อน อย่างเหมาะสม
  • ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อแพทย์ติดตามผลการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาราเมลทีออนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ราเมลทีออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ราเมลทีออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาราเมลทีออนร่วมกับยา Fentanyl, Hydrocodone, Tramadol, ด้วยอาจจะทำให้มีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก เกิดภาวะโคม่าและถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
  • ห้ามรับประทานยาราเมลทีออนร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง ด้วยจะทำให้การออกฤทธิ์ของราเมลทีออน ช้ากว่าเดิมจนรบกวนเวลาของการนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาราเมลทีออนร่วมกับยา Chlorpheniramine หรือ ยาDiphenhydramine ด้วยอาจจะทำให้มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ยากขึ้น

ควรเก็บรักษาราเมลทีออนอย่างไร?

ควรเก็บยาราเมลทีออนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ราเมลทีออนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาราเมลทีออน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Rozerem (โรเซอเรม) Takeda

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/ramelteon.html[2017,June17]
  2. https://www.drugs.com/ppa/ramelteon.html[2017,June17]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/ramelteon,rozerem-index.html?filter=3&generic_only=#K[2017,June17]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/021782lbl.pdf[2017,June17]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Ramelteon[2017,June17]