ราสบูริเคส (Rasburicase)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาราสบูริเคส(Rasburicase) เป็นยาที่มีฤทธิ์ช่วยกำจัดกรดยูริคออกจากกระแสเลือด โครงสร้างของยาราสบูริเคสเป็นเอนไซม์ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ยูเรทออกซิเดส (Urate oxidase) ยาราสบูริเคสจะเร่งให้เกิดกระบวนการออกซิเดชั่น(Oxidation,ปฏิกิริยาที่เพิ่มออกซเจนในสารประกอบ) ต่อโมเลกุลของกรดยูริค ส่งผลให้เปลี่ยนกรดยูริคไปเป็นสาร Allantoin(สารเคมีชนิดหนึ่ง) และถูกขับทิ้งไปทางปัสสาวะ

ด้วยกลไกนี้ ทำให้ทางการแพทย์ใช้ ยาราสบูริเคสเป็นหนึ่งในกลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะกรดยูริคสูงอันเนื่องจากการได้รับยาเคมีบำบัดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง(Medications to treat hyperuricemia secondary to chemotherapy) การใช้ยาเคมีบำบัดอาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการมะเร็งถูกทำลาย(Tumor lysis syndrome)ที่มีผลสืบเนื่องต่อระบบเมตาบอลิซึม(Metabolism)ของร่างกาย ทำให้มีกรดยูริคเพิ่มในกระแสเลือดมากขึ้น จนก่อให้เกิดโรคเกาต์คุกคามตามมา

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาราสบูริเคส เป็นยาชนิดฉีด โดยการหยดเข้าหลอดเลือดดำวันละ1ครั้ง เป็นเวลา 5 วันเป็นอย่างต่ำ หลังจากได้รับยานี้ภายใน 4 ชั่วโมง ระดับของกรดยูริคในกระแสเลือดจะค่อยๆลดปริมาณลง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 16–23 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด

ยาราสบูริเคสมีข้อจำกัดการใช้ทางคลินิกบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาราสบูริเคส
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติ โลหิตจางเม็ดเลือดแดงแตก
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มี ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี(G6PD deficiency) หน้าที่หนึ่งของ G6PD คือช่วยปกป้องทำให้เม็ดเลือดแดงแข็งแรงไม่แตกง่าย ซึ่งยาราสบูริเคสมี ผลข้างเคียงที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ดังนั้นจึงถือเป็นข้อห้ามใช้ยาราสบูริเคส กับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี

ทั้งนี้ ยาราสบูริเคส ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้อีกหลายประการ กรณีที่พบอาการข้างเคียงหลังการใช้ยาราสบูริเคสดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที เช่น ผิวมีสีเหลือง ซีด ปัสสาวะมีสีเข้ม เกิดแผลหรือมีรอยฝ้าสีขาวรอบๆริมฝีปาก กลืนลำบาก ปากแห้ง หายใจขัด/หายใจลำบาก มีไข้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก เป็นลม เป็นต้น

ยาราสบูริเคสเป็นยาฉีดที่ต้องอาศัยการให้ยาทางหลอดเลือด เราจึงพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ผู้ป่วยด้วยภาวะกรดยูริคในเลือดสูงด้วยเหตุจากยาเคมีบำบัดที่ต้องรักษาโดยใช้ยาราสบูริเคส จะต้องได้รับยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ การมีวินัยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้ตามนัดหมาย จะทำให้ภาวะกรดยูริคที่สูงลดระดับลง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของตัวผู้ป่วยเอง

ราสบูริเคสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ราสบูริเคส

ยาราสบูริเคสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการกรดยูริคสูงด้วยเหตุจากยาเคมีบำบัด(Hyperuricemia Secondary to Chemotherapy)

ราสบูริเคสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาราสบูริเคสมีโครงสร้างเหมือนเอนไซม์ยูเรทออกซิเดส(Urate oxidase) ที่มีกลไกการออกฤท์ที่สามารถเปลี่ยนกรดยูริคในกระแสเลือด ให้กลายเป็นสารประกอบที่มีชื่อว่า Allantoin สารประกอบชนิดนี้จะถูกกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะ ด้วยกลไกนี้ทำให้ระดับกรดยูริคในกระแสเลือดลดลงตามลำดับ

ราสบูริเคสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาราสบูริเคสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Rasburicase ขนาด 1.5 และ 7.5มิลลิกรัม/ขวด(Vial)

ราสบูริเคสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาราสบูริเคส มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้งต่อเนื่อง เป็นเวลา 5 วันขึ้นไป การหยดยาเข้าหลอดเลือดฯควรใช้เวลานาน 30 นาทีขึ้นไป ห้ามฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดฯโดยตรง การเตรียมยานี้ก่อนฉีดให้ผู้ป่วย ต้องละลายผงยาใน 0.9% Sodium chloride ให้ได้ปริมาตร 50 มิลลิลิตรป็นอย่างต่ำ

อนึ่ง:

  • ไม่แนะนำการใช้ยาราสบูริเคส เกินกว่า 1 รอบ (5 วันขึ้นไป) ของการรักษาภาวะกรดยูริคในเลือดสูงเกิน
  • การใช้ยาราสบูริเคส มักพบเห็นการใช้กับผู้ป่วย มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งชนิดต่างๆที่ไม่ใช่มะเร็งระบบโลหิตวิทยา(Solid tumor malignancies)
  • แพทย์จะใช้ระดับของกรดยูริคในกระแสเลือดเป็นตัวควบคุมการตัดสินใจการให้ยาราสบูริเคสกับผู้ป่วย

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาราสบูริเคส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาราสบูริเคสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมมารับการฉีดยาราสบูริเคส ให้ผู้ป่วยทำการนัดหมายกับ แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมารับการบำบัดภาวะกรดยูริกสูงโดยเร็ว ผู้ป่วยไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

ราสบูริเคสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาราสบูริเคส สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแตก ระดับความเข้มข้นของเมธฮีโมโกลบิน(Methemoglobin)ในเลือดสูงมากกว่าปกติ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ค่าฟอสเฟตในเลือดสูง ของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้นมาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ชัก มีไข้
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด เลือดออกภายในปอด/ไอเป็นเลือด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น บิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ

มีข้อควรระวังการใช้ราสบูริเคสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาราสบูริเคส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดขาดเอนไซม์จีซิกพีดี(Glucose-6-phosphatase dehydrogenase, G6PD)
  • มารับการให้ยานี้ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อตรวจติดตามผลการรักษา
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาราสบูริเคสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ราสบูริเคสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาราสบูริเคสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาราสบูริเคสร่วมกับ Sodium nitrite หรือ ยาชาเฉพาะที่อย่าง Prilocaine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ Methemoglobinemia ทำให้การนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายน้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาราสบูริเคสร่วมกับยา Idelalisib/ยารักษามะเร็ง เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษาราสบูริเคสอย่างไร?

ควรเก็บยาราสบูริเคสภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsus) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ราสบูริเคสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาราสบูริเคส มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Elitek (อีลิเทค)sanofi-aventis

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Fasturtec

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Rasburicase [2018,Feb3]
  2. https://www.drugs.com/dosage/rasburicase.html#Usual_Adult_Dose_for_Hyperuricemia_Secondary_to_Chemotherapy [2018,Feb3]
  3. http://medinfo.psu.ac.th/smj2/smj24_4/pdf24_4/11porntap.pdf [2018,Feb3]
  4. https://www.drugs.com/condition/hyperuricemia-secondary-to-chemotherapy.html [2018,Feb3]
  5. https://www.drugs.com/sfx/rasburicase-side-effects.html [2018,Feb3]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/103946s5083lbl.pdf [2018,Feb3]