รามูซิรูแมบ (Ramucirumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยารามูซิรูแมบ(Ramucirumab หรือชื่อแรกๆคือ LY3009806 หรือ IMC-1121B) เป็นยาประเภทโมโนโคลนอลแอนตีบอดี(Monoclonal Antibodies) ทางคลินิกนำมาใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแพร่กระจาย มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต ยารามูซิรูแมบจัดอยู่ในประเภทยารักษาตรงเป้า (ยารักษาจำเพาะเซลล์มะเร็ง)ที่มีการออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งโดยตรง จึงก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)น้อยต่อเซลล์ปกติ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างเส้นเลือด/หลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเซลล์ มะเร็ง จึงเป็นผลให้เซลล์มะเร็งค่อยๆตายลง

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยารามูซิรูแมบเป็นยาฉีด แบบสารละลายปราศจากเชื้อ ตัวยามีระยะเวลาของการเสื่อมสลายภายในร่างกายยาวนานประมาณ 14 วัน ผู้ป่วยที่ได้รับการให้ยานี้เพียงหนึ่งครั้งต่อ 2 สัปดาห์ ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลของการรักษาได้แล้ว

ทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งต่างๆมักจะใช้ยารักษามะเร็งตัวอื่นร่วมด้วย ทางการแพทย์อาจใช้ยาเคมีบำบัด เช่น Docetaxel หรือ Paclitaxel หรือ FOLFIRI(Folinic acid + Fluorouracil+Irinotecan) ร่วมในการรักษาพร้อมกับยารามูซิรูแมบ

ระหว่างที่ได้รับยารามูซิรูแมบ ยังมีข้อควรระวังและคำเตือนต่างๆที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างสม่ำเสมอดังนี้ เช่น

  • ยารามูซิรูแมบสามารถสร้างความเสี่ยงต่อการตกเลือดในทางเดินอาหาร/เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้ ร่วมกับยาPaclitaxel แพทย์จึงต้องเฝ้าระวังและทำการตรวจระบบทางเดินอาหารเป็นระยะๆไป
  • ระวังภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงภาวะขาดเลือดในสมอง กรณีพบเห็นอาการเหล่านี้ แพทย์มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดใช้ยารามูซิรูแมบทันที
  • เฝ้าระวังเรื่องความดันโลหิตสูงระหว่าที่ได้รับยารามูซิรูแมบ กรณีที่ใช้ยาป้องกันแล้วอาการความดันโลหิตสูงไม่ดีขึ้น แพทย์จะหยุดใช้ยารามูซิรูแมบ แล้วเปลี่ยนไปใช้แนวทางการรักษาแบบอื่น
  • ระหว่างหยดยานี้เข้าหลอดเลือดดำแล้วทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง ได้แก่ อาการชัก เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก / หายใจไม่ออก/มีอาการหลอดลมหดเกร็งตัว และความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกห้ามใช้ยารามูซิรูแมบตลอดไป

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้ยารามูซิรูแมบเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แต่ผู้เดียว เราจึงพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้/ยานี้แต่ในสถาน พยาบาลเท่านั้น ซึ่งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยารามูซิรูแมบ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากแพทย์หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้ตลอดเวลา

รามูซิรูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

รามูซิรูแมบ

ยารามูซิรูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)
  • บำบัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย(Metastasis colon cancer)
  • บำบัดรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต(Non small cell lung cancer)

รามูซิรูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยารามูซิรูแมบ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ของเซลล์มะเร็งซึ่งมีชื่อเรียกว่า Vascular endothelial growth factor receptor 2 (VEGFR2) ตัวรับชนิดนี้มีหน้าที่รับส่งสัญญาณคำสั่งในการสร้างหลอดเลือดเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอาหารให้กับเซลล์มะเร็ง การรวมตัวของยารามูซิรูแมบกับ VEGFR2 จะทำให้เกิดการปิดกั้นสัญญาณหรือคำสั่งที่ใช้ในการสร้างหลอดเลือด เมื่อเซลล์มะเร็งขาดเส้นทางการลำเลียงสารอาหาร จึงทำให้ตัวมันหยุดการแพร่กระจายและตายลงในที่สุด

รามูซิรูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารามูซิรูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Ramucirumab 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

รามูซิรูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยารามูซิรูแมบกับผู้ป่วยมะเร็งจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยา ได้แก่ น้ำหนักของร่างกายผู้ป่วยรวมถึงอายุและประวัติการการ

การใช้ยา/บริหารยารามูซิรูแมบรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยา ได้แก่ น้ำหนักตัวของร่างกายผู้ป่วย รวมถึงอายุ และประวัติการเจ็บป่วย หรือโรคประจำตัวต่างๆ แพทย์อาจใช้ยาเคมีบำบัด เช่นยา Paclitaxel หรือ Docetaxel มาเป็นยาสนับสนุนการรักษามะเร็งให้หายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ได้รับยารามูซิรูแมบแล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เช่น

  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป หรือเป็นไข้หนาวสั่น
  • มีความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะมาก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสายตา เช่น ตาพร่า
  • อึดอัด/หายใจไม่ออก มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น
  • คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
  • อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
  • ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ไม่มีแรงหรืออ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • มีอาการปวดขณะปัสสาวะ
  • เกิดแผลในช่องปากและคอ
  • มีภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย
  • ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน
  • รับประทานหรือดื่มน้ำไม่ได้เป็นตลอด 24 ชั่วโมง

ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับรามูซิรูแมบ?

การดูแลตนเองขณะได้รับ ยารามูซิรูแมบ ที่สำคัญ เช่น

  • ยารามูซิรูแมบอาจทำให้เกิดความดันโลหิตเปลี่ยนไป หากผู้ป่วยมียารักษา โรคความดันโลหิต/ยาลดความดันโลหิต หรือยาเพิ่มความดันโลหิต ที่รับประทานอยู่เป็นประจำ ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบเสมอทุกครั้งที่มีการสั่งยา
  • ผลข้างเคียงประการหนึ่งของยารามูซิรูแมบคือ ทำให้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ กรณีนี้ ให้ใส่เสื้อผ้าเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น ดื่มน้ำมากๆ และใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่ายมาเพื่อบรรเทาอาการ
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวันในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับยา รามูซิรูแมบ หรือเป็นไปตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะก่อนรับประทาน และหลังเข้าห้องน้ำ
  • หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง และผู้ป่วยสามารถปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆแต่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมหนัก ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็น แผลเลือดออก
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารมีประโยชน์5หมู่ให้ถูกสัดส่วนตามที่แพทย์ /พยาบาล /เภสัชกร แนะนำ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยารามูซิรูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยารามูซิรูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยารามูซิรูแมบตรงตามเวลาที่แพทย์ นัดหมาย หากลืมมารับการฉีดยานี้ ต้องรีบแจ้งให้ แพทย์/ พยาบาล/บุคคลกรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยทราบ เพื่อทำการนัดหมายการให้ยานี้ครั้งต่อไปโดยเร็ว

รามูซิรูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยารามูซิรูแมบ อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีเลือดกำเดาไหล
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อุดตัน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น บวมปลายมือและเท้า ความดันโลหิตสูง อาจมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ เกลือดโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อไต: เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง

*อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าว อาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคล

มีข้อควรระวังการใช้รามูซิรูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารามูซิรูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หลังจากได้รับยาชนิดนี้ หากพบอาการ อึดอัด/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่าเกิดอาการแพ้ยานี้ และต้องรีบให้ แพทย์/พยาบาลช่วยเหลือโดยเร็ว
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจร่างกาย การตรวจภาวะแทรกซ้อน และรับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอาย

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารามูซิรูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

รามูซิรูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยารามูซิรูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยารามูซิรูแมบร่วมกับยา Aspirin, Bromfenac เพราะเสี่ยงต่ออาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยารามูซิรูแมบร่วมกับยา Betrixaban, Cabozantinib, Tipranavir, ด้วยมี ความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกายตามมา

ควรเก็บรักษารามูซิรูแมบอย่างไร?

ควรเก็บรักษายารามูซิรูแมบ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • การเก็บยาตามเงื่อนไขข้างต้น จะทำให้ยามีอายุการใช้งานยาวนาน 2 ปีนับจากวันผลิต
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

รามูซิรูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารามูซิรูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cyramza (ซีแรมซา) Eli Lilly

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/ramucirumab.aspx [2018,Aug11]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/cyramza/?type=brief [2018,Aug11]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/ramucirumab/?type=brief&mtype=generic [2018,Aug11]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Ramucirumab [2018,Aug11]
  5. https://www.drugs.com/sfx/ramucirumab-side-effects.html [2018,Aug11]