รานิบิซูแมบ (Ranibizumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยารานิบิซูแมบ(Ranibizumab) เป็นยาประเภท โมโนโคลนอลแอนติบอดี/โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal antibody) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคตา/โรคทางตา ที่มีสาเหตุจากพยาธิสภาพของเส้นเลือดในจอประสาทตา/จอตา เช่น โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ, จอตาบวมซึ่งเป็นผลจากหลอดเลือดดำในตาอุดตัน, รวมถึงภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา/เบาหวานขึ้นตา, ยานี้ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมโดยใช้การตัดต่อระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ทดลองจำพวกหนูร่วมกับโปรตีนที่เป็นปัจจัยต่อการเร่งการสร้างเส้นเลือด(Vascular Endothelial growth factor/VEGF)ของมนุษย์ จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้ออกแบบให้แบคทีเรียชนิด E.coli เป็นผู้สร้างตัวยา

ข้อจำกัดของการใช้ยารานิบิซูแมบ คือ ไม่เหมาะต่อผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในตา และต้องระวังการใช้ยารานิบิซูแมบในผู้ป่วยที่มีภาวะต้อหิน หรือมีประวัติลิ่มเลือดอุดตันภายในลูกตา

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยารานิบิซูแมบ เป็นแบบฉีดเข้าลูกตา(Intravitreal injection) และมีกลไกการออกฤทธิ์ในลักษณะยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ๆของเซลล์ภายในลูกตา ซึ่งทั่วไป การใช้ยารานิบิซูแมบในช่วงแรกๆ จะเป็นเพียงเดือนละ 1 ครั้ง จากนั้นผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์เห็นเหมาะสม

นอกจากนี้ ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยารานิบิซูแมบ ผู้ป่วยยังต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงบางประการของยานี้ อาทิ

  • ปวดตา
  • ตาแดงและบวม
  • มีอาการตาแพ้แสง/ ตาไม่สู้แสง
  • เกิดอาการชาที่ตา
  • เกิดเลือดออกในตา
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • รวมถึงปวดศีรษะรุนแรง
  • หรืออาจมีปัญหาในการพูดออกเสียง

กรณีดังได้กล่าวเหล่านี้ แนะนำให้ผู้ป่วยต้องรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลที่ ให้การรักษาโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามการใช้ยารานิบิซูแมบให้เกิดประสิทธิผล จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยมารับการฉีดยานี้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

ตัวยารานิบิซูแมบที่มีจำหน่ายในไทย ได้ถูกกำหนดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย มีราคาขายค่อนข้างสูง จึงอาจเป็นปัญหาต่อการเข้าถึงผู้บริโภคบางกลุ่มได้

รานิบิซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

รานิบิซูแมบ

ยารานิบิซูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ {Neovascular (Wet) Age-related macular degeneration/AMD}
  • จอตาบวมซึ่งมีสาเหตุจากหลอดเลือดดำในจอประสาทตาอุดตัน/ หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน (Macular Edema Following Retinal Vein Occlusion/RVO)
  • จอตาบวมในผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic Macular Edema/DME)
  • เบาหวานเข้าจอประสาทตา/เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy/DR)

รานิบิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยารานิบิซูแมบ มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของปัจจัยที่คอยทำหน้าที่สร้างหลอดเลือด/เส้นเลือด หรือที่มีชื่อเรียกว่า Vascular endothelial growth factor ด้วยกลไกดังกล่าวส่งผลชะลอการสร้างหลอดเลือดใหม่ในบริเวณจอประสาทตา การมีหลอดเลือดใหม่ๆเกิดขึ้นในตามากเกินไปจะทำให้เกิดการคั่งของของเหลวและส่งผลเสียต่อจอประสาทตา จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้อาการโรคจอประสาทตา/โรคจอตาดีขึ้นเป็นลำดับ

รานิบิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารานิบิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่เป็นสารละลายปราศจากเชื้อ ประกอบด้วยตัวยาRanibizumab 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

รานิบิซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยารานิบิซูแมบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาจอประสาทตาอักเสบในผู้สูงอายุ(AMD ชนิด wet):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าในวุ้นตา (Intravitreal injection) ขนาด 0.5 มิลลิกรัม เดือนละ 1ครั้ง (หรือทุก 28 วัน โดยประมาณ)
    • หลังจากฉีดยาไป 3 เข็ม แพทย์อาจปรับระยะเวลาของการฉีดยาให้ห่างขึ้น เช่น ฉีดยาต่ออีก 4–5 เข็ม ภายในเวลา 9 เดือนขึ้นไป
    • ผู้ป่วยบางราย แพทย์จะปรับการให้ยาโดยหลังจากการฉีดยาเดือนละ1ครั้งเป็นเวลา 4เดือน จากนั้นปรับความถี่การฉีดยาเป็น 1 ครั้งทุก 3 เดือน

ข. สำหรับรักษาจอตาบวมด้วยหลอดเลือดดำในจอประสาทตาอุดตัน (RVO):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าในวุ้นตา (Intravitreal injection) ขนาด 0.5 มิลลิกรัม เดือนละ 1ครั้ง (หรือทุก 28 วัน โดยประมาณ)

ค. สำหรับรักษาจอตาบวมในผู้ป่วยเบาหวาน (DME):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าในวุ้นตา (Intravitreal injection) ขนาด 0.3 มิลลิกรัม เดือนละ 1ครั้ง (หรือทุก 28 วัน โดยประมาณ)

ง. สำหรับรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตา/เบาหวานขึ้นตา (DR):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าในวุ้นตา (Intravitreal injection) ขนาด 0.3 มิลลิกรัม เดือนละ 1ครั้ง (หรือทุก 28 วัน โดยประมาณ)

อนึ่ง:

  • แพทย์จะต้องประเมินความดันลูกตาเป็นเวลาประมาณ 30 นาทีก่อนที่จะฉีดยานี้
  • การฉีดยานี้แต่ละครั้ง สามารถรักษาตาข้างที่มีพยาธิสภาพเท่านั้น
  • กรณีที่ตามีพยาธิสภาพหรือเกิดทั้ง 2 ข้าง แพทย์จำเป็นต้องฉีดยาให้ตาข้างละ 1 เข็ม
  • ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาต่อเนื่องตามที่แพทย์นัดหมาย
  • ระยะเวลาของการให้ยานี้ขึ้นอยู่กับความเห็นแพทย์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้าน ความปลอดภัย ผลข้างเคียง ประสิทธิผล และขนาดยา ในการใช้ยานี้กับเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยารานิบิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา อะไรอยู่ เพราะยารานิบิซูแมบ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมมารับการฉีดยารานิบิซูแมบ ให้รีบทำการนัดหมายแพทย์/พยาบาล/หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

รานิบิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยารานิบิซูแมบรักษาตา สามารถก่อให้เกิด ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช่ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า มองเห็นภาพไม่ชัด มีเลือดออกในตา การมองสีผิดเพี้ยน ตาแห้ง ปวดตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา เกิดแผลในตา มองไม่เห็นในตอนกลางคืน ตาแดง ตาบวม คันบริเวณรอบตา เห็นแสงวูบวาบ น้ำตาออกมาก
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก คัดจมูก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดตามร่างกาย ปวดหลัง การเคลื่อนตัวทำได้ยากขึ้น กล้ามเนื้อตึงตัว/หดตัว ข้อบวม
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง ไอ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดหัว เป็นลม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังซีด เหงื่อออกมาก

มีข้อควรระวังการใช้รานิบิซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้รานิบิซูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • การใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และ เด็ก ต้องเป็นไป ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้ระหว่างที่ผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อที่ตา
  • หลังได้รับการให้ยานี้แล้วเกิดอาการตาพร่า/ ตามัว ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิดเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ปวดตามาก ปวดศีรษะรุนแรงหรือต่อเนื่อง เป็นลม ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุก ครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารานิบิซูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

รานิบิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยารานิบิซูแมบ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ ยารานิบิซูแมบ ร่วมกับ ยาVerteporfin ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ ตาอักเสบได้มากขึ้น

ควรเก็บรักษารานิบิซูแมบอย่างไร?

ควรเก็บรักษารานิบิซูแมบ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

รานิบิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารานิบิซูแมบ มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Lucentis (ลูเซนทิส)Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://www.ema.europa.eu/en/documents/scientific-discussion/lucentis-epar-scientific-discussion_en.pdf [2019,Oct19]
  2. https://www.gene.com/download/pdf/lucentis_prescribing.pdf[2019,Oct19]
  3. https://www.drugs.com/mtm/ranibizumab-ophthalmic.html[2019,Oct19]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01270 [2019,Oct19]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/lucentis/?type=brief[2019,Oct19]