รักแร้เปียก หรือ เหงื่อมากที่รักแร้ (Sweaty armpits)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? มีกี่ประเภท? นิยามเหงื่อปกติ และปัจจัยต่อการสร้างเหงื่อ

รักแร้เปียก (Sweaty armpits) คือ ภาวะในชีวิตประจำวันที่มีเหงื่อออกที่รักแร้มากเกินปกติ, เกินกว่าการระบายความร้อนของร่างกายเพื่อคงอุณหภูมิร่างกายให้ปกติคงที่คือไม่เกิน 37 องศาเซลเซียส (C/Celsius), ทั่วไปมักเกิดกับรักแร้ทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน

รักแร้เปียก/เหงื่อมากที่รักแร้/เหงื่อรักแร้มาก, จะออกจนชุ่มเกินปกติ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นๆ, พบน้อยมากที่เกิดเพียงรักแร้ด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว (กรณีนี้เกิดข้างขวาหรือซ้ายได้เท่ากัน), นอกจากนั้นอาจเกิดร่วมกับเหงื่อออกมากที่ผิวหนังตำแหน่งอื่นเฉพาะบางตำแหน่ง โดยไม่ได้เกิดทั่วทั้งตัว เช่น ที่ฝ่ามือ, ฝ่าเท้า, ใบหน้า และ/หรือ อวัยวะเพศภายนอก  

 ทางแพทย์เรียก ภาวะ‘รักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้’ นี้ว่า ‘รักแร้เปียกเฉพาะจุด/เฉพาะตำแหน่ง(Focal axillary hyperhidrosis)’,  อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่ ‘รักแร้เปียก’ พบเป็นส่วนหนึ่งของเหงื่อออกมากเกินปกติที่เกิดกับต่อมเหงื่อทุกส่วนของร่างกาย กล่าวคือ ‘เหงื่อออกเปียกทั่วตัว/ เหงื่อมาก /ภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Generalized hyperhidrosis)’ กล่าวคือทั้ง ใบหน้า ศีรษะ รักแร้ ลำตัว แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณอวัยวะเพศภายนอก

การมีเหงื่อออกชุ่มผิดปกติเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง เช่นเฉพาะ  รักแร้, ฝ่ามือ, ฝ่าเท้า, ใบหน้า, ศีรษะ, หรือ อวัยวะเพศภายนอก,  พบบ่อยทั่วโลก มักพบในวัยหนุ่มสาวและวัยผู้ใหญ่  แต่ยิ่งสูงอายุอาการจะพบเกิดน้อยลง, ทั่วไป อาการจะค่อยๆดีขึ้นเอง และอาจ กลับเป็นปกติ ซึ่งอาการน้อยลงเองมักพบหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป    

ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานพบอาการเหงื่อออกมากผิดปกติได้ประมาณ 3% ของประชากรทั้งหมด, อายุเฉลี่ยทีเริ่มมีอาการคือ 26 ปี, แต่เมื่อเกิดเฉพาะที่รักแร้มักพบเริ่มมีอาการในอายุน้อยกว่า คือ ตั้งแต่ประมาณ 19 ปีขึ้นไป, และยังพบว่า การเกิดภาวะรักแร้เปียกพบบ่อยเป็นประมาณ 50%ของทั้งหมดของผู้มีเหงื่อออกมากผิดปกติเฉพาะจุด 

อนึ่ง: ชื่ออื่นของรักแร้เปียก คือ  เหงื่อออกมากที่รักแร้, เหงื่อรักแร้มาก,  Axillary hyperhidrosis

ประเภทรักแร้เปียก:     

รักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้ ทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภททราบสาเหตุ, และประเภทไม่ทราบสาเหตุ

ก. ประเภททราบสาเหตุ: เรียกว่า รักแร้เปียกทุติยภูมิ (Secondary hyperhidrosis), ทั่วไปมักเกิดลักษณะ เหงื่อมากเกินปกติตลอดทั่วทั้งตัว/Generalized hyperhidrosis ไม่เฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง, ทั้งนี้สาเหตุ  เช่น

  • จากโรคต่างๆ เช่น
    • โรคเกี่ยวกับการสันดาปพลังงานของร่างกาย เช่น เบาหวาน โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน  ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
    • โรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
    • อัมพาต/ โรคหลอดเลือดสมอง
    • วัณโรค
    • โรคพิษสุรา
  • การเปลี่ยนแปลงสมดุลของฮอร์โมนเพศ เช่น วัยใกล้หมดประจำเดือน,  วัยหมดประจำเดือน,  การตั้งครรภ์
  • ผลข้างเคียงจากยาบางกลุ่ม/บางชนิด: เช่น  ยาเบาหวาน,  ยาจิตเวช, ยาแก้ปวด (กลุ่ม โอปิออยด์, เอ็นเสด), ยาไทรอยด์ชนิดเป็นไทรอยด์ฮอร์โมน, ยาฆ่าเชื้อบางชนิด( เช่น ยาต้านไวรัส, ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Quinolone กลุ่ม Cephalosporin )

(*อนึ่ง: ในกลุ่มนี้ มีการดูแลรักษาควบคุมอาการด้วยการดูแลรักษาควบคุมโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดโรค/ภาวะเหล่านั้นเพิ่มเติมได้จากเว็บ haamor.com  เช่น  วัยใกล้หมดประจำเดือน, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, ฯลฯ,  และรวมถึงเรื่อง ‘ภาวะหลั่งเหงื่อมาก’)

ข. กลุ่มไม่ทราบสาเหตุ: เรียกว่า รักแร้เปียกปฐมภูมิ(Primary axillary hyperhidrosis หรือ Essential axillary hyperhidrosis ), กลุ่มนี้ การมีเหงื่อออกชุ่ม จะเกิดเฉพาะรักแร้ที่มักเกิดทั้ง2รักแร้พร้อมกัน, ที่พบน้อย คือเกิดเพียงรักแร้ด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว

นิยามเหงื่อปกติ (Perspiration หรือ Sweating) และปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างเหงื่อ:

ก. นิยามเหงื่อปกติ:

เหงื่อ (Sweating หรือ Perspiration)  คือ ของเหลว/สารน้ำที่สร้างจากต่อมเหงื่อซึ่งกระจายทั่วไปในทุกส่วนของผิวหนังส่วนต่างๆทั่วร่างกาย มีทั้งหมดประมาณ 2-4 ล้านต่อม แต่บางตำแหน่งมีมาก บางตำแหน่งมีน้อย, ตำแหน่งที่มีต่อมเหงื่อมากจะมีเหงื่อออก ปริมามากกว่าตำแหน่งที่มีต่อมเหงื่อน้อย,  โดยตำแหน่งที่มีต่อมเหงื่อมาก ได้แก่  ฝ่าเท้า, ฝ่ามือ, รักแร้, ขาหนีบ, อวัยวะเพศภายนอก, และหนังศีรษะ  

ส่วนประกอบหลักของเหงื่อ คือ ‘น้ำ’ คิดเป็นประมาณ 99%, และอีกประมาณ 1%เป็นสารเคมีและแร่ธาตุต่างๆ เช่น  โซเดียม(ส่งผลให้เหงื่อมีรสเค็ม), แคลเซียม, กรดแลคติค(Lactic acid), ซึ่งเมื่อเหงื่อถูกสันดาปโดยแบคทีเรียบนผิวหนังจะทำให้เกิดเป็น ‘กลิ่นตัว’

ในผู้ใหญ่ปกติ ต่อมเหงื่อทั่วร่างกายจะสร้างเหงื่อสูงสุดได้ประมาณ 2-4 ลิตร/ชั่วโมง  หรือ 10-14 ลิตร/วัน หรือคิดเป็นน้ำหนัก 10-15 กรัม/ต่อนาที/พื้นที่ 1 ตารางเมตร  

เหงื่อ เป็นของเหลวที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อใช้ช่วยควบคุมรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่เป็นปกติ ซึ่งความร้อนภายในร่างกายจะถูกขับออกมากับเหงื่อและเมื่อเหงื่อออกมาที่ผิวหนัง การระเหยของเหงื่อจากผิวหนังจะช่วยพาความร้อนออกไป ส่งผลให้ร่างกายเย็นลง, ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิภายในร่างกายสูง ร่างกาย/ต่อมเหงื่อก็จะสร้างเหงื่อมากขึ้น ในขณะที่เมื่ออุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่าปกติ ต่อมเหงื่อก็จะสร้างเหงื่อน้อยลง,   ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายผ่านทางการสร้างเหงื่อของต่อมเหงื่อ จะควบคุมโดย ‘ระบบประสาทอัตโนมัติ’ ร่วมกับสมองส่วนที่เรียกว่า ‘ไฮโปธาลามัส’

ข.  ปัจจัยทั่วไปที่มีผลต่อการสร้างเหงื่อ: เช่น

  • อุณหภูมิภายในร่างกาย
  • อุณหภูมิในสิ่งแวดล้อม
  • อารมณ์ เช่น เครียด ตื่นเต้น โกรธ กลัว วิตกกังวล อาการปวดมาก
  • รสชาติอาหาร เครื่องดื่ม เช่น เผ็ด  แอลกอฮอล์  คาเฟอีน
  • โรคต่างๆ เช่น อาการไข้, โรคติดเชื้อ, เบาหวาน, ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, โรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งระบบโรคเลือด, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาโรคไทรอยด์ชนิดเป็นไทรอยด์ฮอร์โมน, ยาเบาหวาน, ยามอร์ฟีน/ยากลุ่มโอปิออยด์
  • การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์, วัยใกล้หมดประจำเดือน, วัยหมดประจำเดือน

รักแร้เปียกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

 

รักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้ กรณีที่เกิดตำแหน่งเดียว/จุดเดียว หรืออาจเกิดร่วมกับจุดอื่นๆบางจุด (เช่น ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า) ไม่ได้เกิดทั่วตัว, แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ, การตรวจต่อมเหงื่อทางพยาธิวิทยาร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการตรวจคุณสมบัติต่างๆของเหงื่อพบว่า’ทุกอย่างปกติทั้งหมด’

แพทย์จึงเห็นตรงกันว่า สาเหตุน่ามาจากต่อมเหงื่อส่วนรักแร้สร้างเหงื่อมากเกินปกติจากมีการทำงานมากเกินไปของระบบประสาทอัตโนมัติส่วนที่ควบคุมต่อมเหงื่อของรักแร้ (มักอยู่ที่ไขสันหลังส่วนระดับช่องอก), และอาจเชื่อมโยงถึงการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่ช่วยกันควบคุมการสร้างเหงื่อด้วย

ทั้งนี้ แพทย์ยังพบว่า ในผู้มีเหงื่อออกมากผิดปกติเฉพาะที่/เฉพาะจุดรวมทั้งรักแร้เปียก, ประมาณ 30%-50% จะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ในครอบครัว, และยังมีรายงานว่า เด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติเฉพาะที่มีโอกาสเกิดเหงื่อออกมากผิดปกติเฉพาะที่ได้ประมาณ 25%

มีอาการอะไรร่วมกับรักแร้เปียกไหม?

รักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้ที่เกินปกติ มักเกิดช่วงเวลาใดก็ได้ในช่วงกลางวันไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าร้อน (ถ้าเหงื่อออกกลางคืน ที่จะเป็นภาวะผิดปกติ มักเกิดจากโรคที่อันตรายที่ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล), จะเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ  อาจเกิดเฉพาะที่รักแร้ และอาจเกิดร่วมกับตำแหน่งเฉพาะบางตำแหน่ง แต่ 'ไม่ได้เกิดทั่วตัว'

  • *** อาการ/ประวัติทางการแพทย์ที่แพทย์ใช้ช่วย วินิจฉัยภาวะผิดปกตินี้ คือมักมีอาการเหงื่อมากต่อเนื่อง’อย่างน้อย 6 เดือน’, และร่วมกับอาการอื่นๆดังต่อไปนี้ 'อย่างน้อยอีก 2 อาการ' ได้แก่
  • มีอาการอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
  • อาการมักเกิดก่อนอายุ 25 ปี
  • มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการนี้
  • อาการจะเกิดทั้ง 2 ข้าง ซ้ายขวา เท่าๆ กัน
  • เหงื่อมากจนก่อความรำคาญ เช่น ต้องเปลี่ยนเสื้อ และ/หรือ ต้องอาบน้ำเพราะมีกลิ่นอับ หรือกลิ่นตัว
  • ไม่มีเหงื่อออกผิดปกติช่วงกลางคืน (เหงื่อออกกลางคืน)
  • ก่อให้เกิดอาการทางด้านจิตใจที่ก่อปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น
    • วิตกกังวลจนเป็นปัญหาไม่อยากออกนอกบ้านหรือเข้าสังคม
    • หงุดหงิด รำคาญ ต่ออาการรักแร้เปียก จนอาจเสียงาน ขาดสมาธิ
    • ขาดความมั่นใจ
    • ขึ้นผื่นที่ผิวรักแร้ หรือ คัน
    • รักแร้มีกลิ่น(กลิ่นตัว)บ่อยจนขาดความมั่นใจ จนเกิดความกังวล

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีภาวะรักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ

  • ส่งผลให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก การใช้ชีวิตนอกบ้าน  การงาน การเรียน การเข้าสังคม
  • มีอาการวิตกกังวล หงุดหงิด อาจซึมเศร้า จากอาการ/ภาวะนี้เป็นเหตุ
  • รู้สึกกังวลว่ามีรักแร้เปียกเกินปกติ
  • มีกลิ่นตัวที่แก้ไม่ได้ด้วยสารระงับเหงื่อที่ขายทั่วไปตามร้าน/ห้างสรรพสินค้า
  • รักแร้ มีรูขุมขนอักเสบ เป็นหนอง และ/หรือ มีโรคเชื้อราบ่อยๆ
  • มีเหงื่อออกมากทั้งตัว หรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีไข้ ‘*เหงื่อออกกลางคืน’  คลำพบมีต่อมน้ำเหลืองบวมผิดปกติ ฯลฯ  เพราะอาจเป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังได้กล่าวใน 'หัวข้อ ประเภทของเหงื่อมาก'

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุรักแร้เปียกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะรักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้ ได้จาก

  • ซักถามอาการของผู้ป่วย ประวัติอาการในครอบครัว ประวัติโรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ
  • ****ประวัติทางการแพทย์สำคัญ ดังได้กล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ'
  • การตรวจร่างกายทั่วไป ที่รวมถึง การตรวจดู, การตรวจคลำรักแร้, อาจร่วมกับ ตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และเพื่อให้ได้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะนี้ที่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และอาการผู้ป่วย เช่น
  • ตรวจเลือด:
    • ซีบีซี/CBC ดูโรคเลือด
    • น้ำตาลในเลือด ดูเบาหวาน
  • ตรวจวัดปริมาณเหงื่อที่รักแร้ว่า มีเหงื่อออกมาเกินปกติจริง ด้วยเทคนิควิธีเฉพาะต่างๆ เช่น
    • Iodine patch test
    • Gravimetric analysis
    • Thermoregulatory sweat test

รักษารักแร้เปียกอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะรักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้ มีหลากหลาย ซึ่งแพทย์จะค่อยๆเริ่มจากวิธีง่ายๆ และจะค่อยๆปรับเปลี่ยนเป็นวิธียุ่งยากขึ้นเมื่อวิธีเดิมๆใช้ไม่ได้ผล ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งวิธีต่างๆ เช่น

  • ทารักแร้ด้วยสารระงับเหงื่อในกลุ่ม Aluminum salts ที่มีความเข็มตัวยามากกว่าที่ใช้ในคนทั่วไป, เป็นชนิดไม่ใส่น้ำหอมหรือสารเคมีที่ก่อการระคายผิวหนัง/ต่อมเหงื่อ (ปรึกษาเภสัชกร เมื่อซื้อใช้เอง), ความบ่อยในการใช้ขึ้นกับคำแนะนำของ แพทย์ เภสัชกร และ/หรือตามฉลากยา/เอกสารกำกับยา
  • ทารักแร้ด้วยยาต่างๆที่เข็มกว่าสารระงับเหงื่อ(สั่งใช้โดยแพทย์เท่านั้น) เช่น ยากลุ่ม แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs), น้ำยาโลชั่นฟอร์มาลดีไฮด์                                     
  • ฉีดสารโบทอกซ์/โบทูไลนัมท็อกซิน เข้ารักแร้ด้านเหงื่อออกเกินปกติ (ฉีดโดยแพทย์เท่านั้น)เพื่อลดการสร้างเหงื่อ
  • จี้ทำลายต่อมเหงื่อรักแร้ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic/microwave)
  • ทำลายต่อมเหงื่อรักแร้ด้วยเลเซอร์
  • ผ่าตัดเอาต่อมเหงื่อรักแร้ออก
  • ให้กินยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิก
  • เมื่อทุกวิธีการดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์อาจเลือกใช้การผ่าตัดระบบประสาทอัตโนมัติส่วนควบคุมต่อมเหงื่อรักแร้ เช่น ส่วนที่อยู่ในช่องอก (Thoracic sympathectomy) ซึ่งปัจจุบันมักเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง

*อนึ่ง: วิธีรักษาด้วยการผ่านประจุไฟฟ้ากำลังอ่อนเข้าต่อมเหงื่อผ่านการใช้น้ำเป็นตัวกลาง(Iontophoresis), ทางเทคนิคยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ที่รักแร้ มักใช้กับกรณีเกิดอาการที่ ฝ่ามือ หรือ ฝ่าเท้า

รักแร้เปียกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจาก อาการ/ภาวะ รักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้ ที่สำคัญ คือ มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านอารมณ์ จิตใจ, การใช้ชีวิตประจำวัน, และรวมถึงอนามัยส่วนตัว เช่น

  • รักแร้เปียกแฉะจนก่อความรำคาญ
  • อาจเป็นปัญหาภาพลักษณ์ในบางคน
  • การมีรอยเหงื่อมักเป็นคราบเหลืองจับที่เสื้อ อาจทำให้บางคนขาดความมั่นใจ
  • บางคนอาจต้องอาบน้ำบ่อย เปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ไม่อยากออกจากบ้าน หรือเข้าสังคม วิตกกังวล ส่งผลถึงการสูญเสียโอกาส
  • บางคนอาจถึงขั้น ซึมเศร้า
  • รักแร้ แฉะ/เปียกจน มักเกิดการระคายเคือง, รู้สึกไม่สบายตัว, แสบ, คัน, อาจผื่นขึ้น, รูขุมขนอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย, ติดโรคเชื้อราได้ง่าย,
  • มีกลิ่นตัว

รักแร้เปียกรักษาหายไหม?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของรักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้ ทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เป็นภาวะที่ไม่อันตราย ไม่ทำให้พิการหรือถึงตาย และการรักษาควบคุมภาวะนี้ทางการแพทย์มีหลากหลายวิธีตามความรุนแรงของอาการและการตอบสนองของแต่ละผู้ป่วย ซึ่งให้ผลสำเร็จในการรักษาควบคุมสูงถึง 90%-95%

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายจะมีปัญหาในการเข้าสังคม การออกนอกบ้าน บางคนในการเรียน การงาน เพราะจะเกิด ความไม่สะดวก ความอาย วิตกกังวล และความเครียด

ดังนั้นทุกคนที่มีภาวะนี้, เมื่อเริ่มรู้สึกว่าเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เสมอ

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะรักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้:

ก. เมื่อยังไม่พบแพทย์: ทั่วไป เช่น

  • รักษาอนามัยรักแร้ เช่น อาบน้ำบ่อยขึ้นและใช้สบู่ที่อ่อนโยน พยายามให้รักแร้แห้ง
  • ทารักแร้ด้วยสารระงับเหงื่อชนิดอ่อนโยน ไม่ใส่น้ำหอม ไม่ก่อการระคายเคืองต่อรักแร้, อาจปรึกษาเภสัชกร, กรณีไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยนอกจากเหงื่อรักแร้มาก
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สวมสบาย ไม่รัดแน่น เนื้อผ้าระบายอากาศ/ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย 100%
  • เตรียมเสื้อผ้าไว้เปลี่ยนเมื่อออกนอกบ้าน
  • เตรียมผ้าซับเหงื่อชนิดดูดความชื้นได้ดี ไว้คอยซับเหงื่อ
  • พยายามอยู่ในห้องปรับอากาศ หรือในที่ร่ม ที่ๆถ่ายเทอากาศได้ดี
  • ใช้พัด หรือ พกพาพัดลมเล็กๆส่วนตัวช่วยระบายความร้อน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงกับที่เสียเหงื่อเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ การพบแพทย์ฯ’

ข. กรณีพบแพทย์แล้ว: ทั่วไป เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ใช้ยา/กินยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • ดูแลตนเองทั่วๆไปเช่นเดียวกับที่กล่าวใน ‘ข้อ ก.’
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการเหงื่อออกแย่ลงหลังพบแพทย์ ถึงแม้จะรอจนถึงประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้ว
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

ป้องกันรักแร้เปียกได้ไหม?

การป้องกันภาวะรักแร้เปียก/เหงื่อออกมากที่รักแร้:

ก. กลุ่ม/ชนิด 'ไม่ทราบ/ไม่พบสาเหตุ:' การป้องกันให้ได้เต็มร้อย เป็นไปไม่ได้เพราะเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ และยังเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม, แต่สามารถดูแลตนเองเพื่อให้สามารถคงคุณภาพชีวิตได้ โดยรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น, และ/หรือ เมื่ออาการเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน   

อีกประการที่อาจช่วยผ่อนคลายความรุนแรงของอาการลงได้ คือ การสังเกตว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ หรือให้อาการรุนแรงขึ้น, ให้พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น อุณหภูมิสิ่งแวดล้อม, ก็พยายามอยู่ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง และพยายามอยู่ในที่มีอุณหภูมิที่เย็น (ใช้เครื่องปรับอากาศ) หรือ อยู่ในที่ถ่ายเทอากาศได้ดี เป็นต้น

ส่วนกรณีเป็นอาการเกิดจาก กลุ่ม/ชนิดที่ ‘พบ/ทราบสาเหตุ’ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ป้องกันโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุให้เกิดเหงื่อออกมากผิดปกติ, แต่ถ้าเป็นโรคนั้นแล้ว ก็ต้องดูแลรักษาควบคุมโรคนั้นๆให้ได้เป็นอย่างดี (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้จากเว็บhaamor.com ที่รวมถึง สาเหตุ, การดูแลรักษา,  การดูแลตนเองฯ, และ การป้องกันการเกิดโรคนั้นๆ)

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/1073359-overview#showall [2022,Nov5]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC543948/  [2022,Nov5]
  3. https://sydneynorthneurology.com.au/focal-hyperhidrosis/  [2022,Nov5]
  4. https://www.researchgate.net/publication/51485989_Primary_focal_hyperhidrosis_Current_treatment_options_and_a_step-by-step_approach [2022,Nov5]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Perspiration [2022,Nov5]  
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Focal_hyperhidrosis [2022,Nov5]