ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ตอน สิทธิการรักษาบัตรทองไม่ดีเลย จริงหรือเปล่า
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 6 สิงหาคม 2562
- Tweet
การเจ็บป่วย การมีโรคต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่าย ต้องเสียสุขภาพ และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก ทั้งต่อผู้ป่วยและครอบครัว โดยเฉพาะถ้าการเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นกับคนที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี ยิ่งมีความกังวลใจว่าเมื่อไม่มีเงิน หมอจะรักษาให้หายได้หรือไม่ ผมขอยกตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท ลองติดตามดูครับ
ผู้ป่วยชายอายุ 25 ปี เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวหนึ่ง ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานขับรถของบริษัทแห่งหนึ่ง มีอาการเจ็บป่วย คือ มีอาการแขน ขาอ่อนแรง จนเดินไม่ได้ภายใน 1 สัปดาห์ผลการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบที่เรียกว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจีบีเอส (Guillain Barre syndrome: GBS) ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดและเป็นมาตรฐานในระดับนานาชาติ คือ การรักษาด้วยการให้ยาอิมมูโนกลอบบลูลิน ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก คือ ประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งแพทย์ได้อธิบายให้ผู้ป่วย และญาติฟังว่า โรคที่ผู้ป่วยเป็นนั้น ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวนั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนบาท แต่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้ญาติเบาใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ทำไมคนถึงไม่มั่นใจว่า ถ้ารักษาด้วยสิทธิการรักษาบัตรทองแล้วจะได้รับการรักษาที่ไม่ดี เหมือนสิทธิข้าราชการ ผมเข้าใจว่าคนก็จะเข้าใจว่า ของฟรีจะดีได้อย่างไร แล้วก็ไม่รู้จักใคร ไม่มีความรู้ ไม่ได้เป็นคนสำคัญ หมอจะรักษาด้วยวิธีที่ดีได้อย่างไร ซึ่งผมอยากบอกว่า การตัดสินใจการรักษานั้นไม่ได้เกี่ยวเลยว่าผู้ป่วยเป็นใคร มีความรู้ หรือไม่มีความรู้ เป็นคนสำคัญหรือไม่สำคัญ มีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียง แพทย์เราตัดสินใจให้การรักษาผู้ป่วยทุกคนเหมือนกันหมด คือ โรคหรือภาวะที่มีความสำคัญ ที่ส่งผลเสียต่อชีวิต หรือมีอันตรายต่อชีวิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจ สิทธิการรักษานั้นมีผลต่อการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาน้อยมาก ๆ แพทย์จะทำต่อเมื่อการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล มีการรักษาที่ยังมีข้อมูลทางการศึกษาไม่มาก ยังไม่เป็นมาตรฐานการรักษาของประเทศไทย แต่อาจจะได้ผลในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีแบบนี้สิทธิการรักษาอาจส่งผลต่อการเลือกใช้วิธีการรักษาได้ แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ไม่บ่อย
ผมจึงอยากให้คนไทยที่ใช้สิทธิการรักษาบัตรทอง หรือประกันสังคมมีความมั่นใจว่า การรักษาที่จะได้รับนั้นแทบจะไม่มีความแตกต่างกับสิทธิข้าราชการในภาพรวม แต่ถ้าเป็นเฉพาะกรณีอาจมีความต่างกันบ้างครับ