ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ตอน วิกฤติระบบสาธารณสุขไทย
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 27 กันยายน 2562
- Tweet
ปัญหาของระบบสาธารณสุขไทยในมุมมองของผม น่าจะวิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมในหลายประเด็น ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มากขึ้น วิธีการรักษาโรคต่าง ๆ ที่มากขึ้น ความต้องการ ความคาดหวังของสังคม และระบบสุขภาพของประเทศที่รักษาฟรี ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสังคมดังกล่าวส่งผลต่อการบริการของทีมสุขภาพต่อผู้ป่วย ดังนี้
1. สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราจะสังเกตเห็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยในมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยสูงอายุมากขึ้น โรคที่ผู้สูงอายุเจ็บป่วยก็ยากต่อการรักษา มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่าย ฟื้นฟูสภาพได้ยาก ทำให้ต้องนอนรักษาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เสียค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งทุกคนสามารถมองเห็นสิ่งนี้ได้เมื่อเดินเข้าไปในหอผู้ป่วยทุกโรงพยาบาล จะเห็นผู้สูงอายุนอนรักษาจำนวนมาก
2. การรักษาผู้สูงอายุนั้นนอกจากต้องใช้งบประมาณ ค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ยังต้องมีทีมรักษาหลากหลายทีมเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพหลายปัญหา จึงเป็นที่มาของการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างมาก ส่งผลต่อค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นอย่างมาก ที่ผมพูดเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่สูงในผู้สูงอายุ ไม่ได้มีเจตนาหรือตั้งใจว่าไม่ควรรักษาผู้สูงอายุนะครับ แต่สิ่งที่ผมพูดนั้น เพื่อเป็นข้อมูลและความจริงว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับสิ่งนี้อย่างแน่นอน เพื่อหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ
3. วิธีการรักษาโรคต่าง ๆ ในปัจจุบันนั้นมีวิธีที่หลากหลาย ทั้งการใช้ยาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างมาก ส่งผลให้การรักษานั้นได้ผลดีขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน ส่วนจะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนค่าใช้จ่ายจำนวนมากหรือไม่นั้น ผมว่าเป็นเรื่องที่วิเคราะห์ได้ยาก แล้วก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมากในการวิเคราะห์ความคุ้มค่า คุ้มทุน เนื่องจากเป็นการรักษาชีวิตคน ซึ่งความคุ้มค่านั้นเราจะเอาอะไรมาตัดสิน เนื่องจากเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลด้วย ดังนั้นการรักษาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ก็ดูเหมือนจะถูกจำกัดไว้ตามสิทธิการรักษาเป็นหลัก คือ สิทธิข้าราชการก็อาจสามารถใช้การรักษาใหม่ ๆ เทคโนโลยีที่ทันสมัย แม้จะยังไม่ถูกประเมินว่ามีความคุ้มค่าสำหรับคนไทยหรือไม่ ประเด็นนี้ผมว่าก็สำคัญมาก ๆ ครับ เพราะเป็นปัญหาด้านค่าใช้จ่ายมากทีเดียว
4. ความต้องการของคนไทยในปัจจุบันต่อการรักษาพยาบาล คือ ต้องการผลการรักษาที่ดี ผลการรักษาที่เป็นเลิศ ทุกการรักษาผู้ป่วยต้องหาย ต้องดี ต้องไม่พิการ ต้องไม่เสียชีวิต ดังนั้นเมื่อความต้องการที่สูงแบบนี้ ก็ยากต่อการจัดการต่าง ๆ ของทีมสุขภาพอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่เรารู้กันโดยธรรมชาติการดำเนินโรคต่าง ๆ นั้นย่อมมีทั้งแบบที่รักษาหาย รักษาแล้วดีขึ้นแต่ไม่หาย รักษาแล้วทุเลาลง รักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือรักษาอย่างไรก็เสียชีวิต ดังนั้นเมื่อความต้องการของคนไทยเปลี่ยนไป ความต้องการที่สูงเกินกว่าทีมสุขภาพจะรักษาได้ ก็จะเกิดปัญหาการร้องเรียนที่ทำให้ทีมสุขภาพเสียขวัญ หรือหมดกำลังใจ
5. ความคาดหวังของคนไทยต่อระบบบริการด้านสุขภาพว่าต้องดีเลิศ บริการรวดเร็ว ดี สะดวก สบาย ไม่แออัด ไม่รอนาน เจ้าหน้าที่ก็ต้องพูดจาไพเราะ อธิบายข้อมูลอย่างดี อยากมาใช้บริการเมื่อไหร่ก็ต้องได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว รอไม่ได้ ผมถามว่าสิ่งที่สังคมต้องการนั้น คงเกิดขึ้นได้เฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมมาก ๆ เท่านั้น การบริการในภาครัฐอย่างไรก็คงทำได้ไม่ดีแน่นอน เมื่อเป็นแบบนี้ก็เกิดการร้องเรียนปัญหาด้านการบริการอย่างสม่ำเสมอ ดังจะเห็นได้จากทางสื่อต่าง ๆ และเมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ผู้ป่วยรายนั้นก็จะได้รับการบริการอย่างดีตามที่ต้องการ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ให้บริการก็จะเป็นผู้ผิดไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้นปัญหานี้ก็ทำให้เกิดการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของทีมสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐ
6. ระบบสุขภาพของประเทศที่ดีต่อประชาชนคนไทยทุกสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิการรักษาบัตรทองที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของนานาอารยะประเทศ มีคนมาศึกษาดูงานมากมาย ซึ่งผมก็ว่าระบบมันดีจริง ๆ แต่สิ่งที่ผมกังวลคือว่า การที่คนไทยยังมีความคาดหวังกับระบบบริการว่าต้องดี ต้องฟรี ต้องรวดเร็ว สะดวกสบาย ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และโรงพยาบาลของรัฐนั้นก็ได้รับค่าตอบแทนด้านการรักษาพยาบาลที่อาจยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเงินในโรงพยาบาลของรัฐมากมาย จนกระทั่งพี่ตูน ต้องออกมาวิ่งรับบริจาค เพื่อร่วมช่วยซื้อเครื่องมือแพทย์
7. การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจมากนัก พบว่าเมื่อผู้ป่วยมีอาการหนักมาก ทรุดลงจนแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่น่าจะรักษาให้ดีขึ้นได้ ก็จะปรึกษาญาติผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษาในระยะสุดท้าย การตัดสินใจที่ได้ส่วนหนึ่งของญาติ คือ ให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่ไม่ให้ทำการฟื้นกู้ชีพ ซึ่งการตัดสินใจแบบนี้ก็คือ การยืดระยะเวลาการเสียชีวิตของผู้ป่วยออกไปเท่านั้น แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ แพทย์ต้องระดมพละกำลังในการรักษาอย่างมาก ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมากเพื่อให้ผู้ป่วยไม่เสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่สุดท้ายแล้วผลการรักษาไม่ดีแน่นอน
8. ระบบสุขภาพที่ยังเน้นไปในด้านการรักษามากกว่าการส่งเสริม หรือป้องกัน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คนไทยมีอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นเรื่อย ๆ
9. ค่านิยมของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังมีความเชื่อว่าการใช้ยาต้นแบบดีกว่าการใช้ยาชื่อสามัญเสมอ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านมูลค่ายาเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ยาเกือบทุกชนิดที่มียาชื่อสามัญนั้นมีประสิทธิภาพ และผลแทรกซ้อนไม่แตกต่างกับยาต้นแบบ แต่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อย่างมากมาย
10. การตัดสินใจแก้ไขปัญหาหรือนโยบายของผู้บริหาร ไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะยังยึดติดกับข้อมูลที่ได้รับอย่างเป็นทางการ หรือการตัดสินใจตามแนวคิดของตนเอง แต่อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องหรือแนวทางที่ควรจะเป็น
ทั้ง 10 ประการที่ผมเขียนไว้ข้างต้นนี้เกิดจากความเป็นห่วงใยต่อระบบสุขภาพของประเทสไทย เหมือนที่หลายต่อหลายคนได้ทำนายไว้ว่า ระบบสุขภาพไทยอาจล่มสลายในเร็ววันนี้ ถ้าเราทุกคน ทั้งภาครัฐ ประชาชน ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารทุกระดับต้องมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผมยืนยันอีกครั้งว่า ผมหวังดีนะครับ ไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่นใดแอบแฝง