ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ตอน สิทธิการรักษาข้าราชการ
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 3 กันยายน 2562
- Tweet
การรักษาพยาบาลด้วยสิทธิการรักษาข้าราชการนั้นเป็นสิทธิของข้าราชการทุกคนและครอบครัว คือ พ่อ แม่ และลูกที่อายุไม่ถึง 20 ปี ซึ่งการรักษาด้วยสิทธิข้าราชการนั้นมีความต่างจากสิทธิการรักษาอื่น ๆ ดังนี้
1. ครอบคลุมตัวข้าราชการเอง และพ่อ แม่ ลูกที่อายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ถ้าลูกมีความพิการไม่สามารถดูแลตนเองได้ ก็สามารถครอบคลุมลูกไปได้ตลอด เมื่อมีคำสั่งศาลว่าเป็นบุคคลไร้ซึ่งความสามารถ
2. สิทธิการรักษาที่ครอบคลุมการรักษาเกือบทั้งหมด ทั้งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และนอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่จัดว่าจำเป็นต่อการรักษาพยาบาล แต่ไม่ได้ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างนะครับ
3. การขึ้นทะเบียนบัตรจ่ายตรง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องชำระเงินแล้วนำไปเบิกภายหลัง ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะใช้บัตรประชาชนแทนการขึ้นทะเบียนบัตรจ่ายตรง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและง่ายต่อการกำกับติดตามการใช้สิทธิการรักษา แต่ก็มียาบางรายการที่ต้องชำระเงินก่อน แล้วนำไปเบิกภายหลัง ตามประกาศของกรมบัญชีกลาง
4. การเข้ารับการรักษาพยาบาลสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่ไหนก็ได้ ตามที่สะดวก การรักษาเมื่อต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล สามารถเข้ารักษาในห้องพิเศษได้ แต่ต้องจ่ายค่าห้องเพิ่มเติมตามระเบียบการเงิน
5. กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน นำเอกสารการเงิน ความจำเป็นในการเข้ารักษาพยาบาล มาเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แต่ไม่เต็มจำนวน
6. การรักษาในบางโรคที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาที่ไม่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นยาใหม่ สามารถสั่งยาดังกล่าวมาใช้เฉพาะผู้ป่วยรายนั้นได้ ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ และแพทย์ยืนยันว่ามีความจำเป็น ก็สามารถใช้สิทธิการรักษานั้นได้ ไม่ต้องเสียค่ายาเพิ่มในบางกรณี
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิทธิการรักษาข้าราชการก็มีความแตกต่างจากสิทธิการรักษาอื่น ๆ