ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ตอน ทำไมต้องจ่ายค่ารักษาเพิ่ม เพราะเป็นบัตรทอง?
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 30 สิงหาคม 2562
- Tweet
การรักษาอาการเจ็บป่วยนั้น นอกจากยาแล้วยังอาจต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ เพิ่มเติม หรือยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือยาที่ยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทยในบางกรณี ดังนั้นการรักษาของผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษานั้นจะมีการครอบคลุมด้านค่าใช้จ่าย ตามสิทธิ์พื้นฐานแต่ละสิทธิการรักษา ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละสิทธิ์ หมายความว่าการรักษาบางครั้งผู้ป่วยต้องมีการร่วมจ่ายในบางรายการ
“ทำไมผมต้องออกค่ารักษาเพิ่มเติมด้วยครับ เมื่อทุกคนมีสิทธิการรักษาอยู่แล้ว และรัฐบาลก็บอกอยู่ตลอดว่า 30 บาทรักษาทุกโรค หรือผมเป็นบัตรทองคนจน ไม่มีชื่อเสียง ก็เลยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม” ผมถูกผู้ป่วยถามกลับเมื่ออธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่า โรคที่ผู้ป่วยเป็นนั้นต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม เนื่องจากการรักษาด้วยการฉีดโบทูไลนุ่มทอกซินในการรักษาโรคตากระปริบ (blephalospasm)
ผมขออธิบายเพิ่มเติม เนื่องจากการรักษาด้วยยาโบทูไลนุ่มทอกซินในปัจจุบันนั้นสามารถใช้สิทธิ์การรักษาได้เพียง 2 โรคเท่านั้น คือ โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (hemifacial spasm) กับโรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (dystonia) ส่วนโรคอื่น ๆ ไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาได้ในทุกสิทธิ์ หรือกล่าวในอีกมุมหนึ่ง คือ ทุกสิทธิ์มีสิทธิการรักษาที่เหมือนกัน คำถามที่น่าสนใจ คือทำไมสิทธิ์ไม่ครอบคลุม คำตอบ คือ จากคณะกรรมการพิจารณาสิทธิการรักษานั้นอาจพิจารณาหลักฐานทางการแพทย์แล้วว่า โรคใดบ้างที่ได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยโบทูไลนุ่มทอกซิน จึงได้ระบุไว้ในสิทธิการรักษาดังกล่าว
ดังนั้นการรักษาใด ๆ ที่รัฐบาลได้พิจารณาแล้วว่ายังมีหลักฐานทางการแพทย์และความคุ้มค่าที่ไม่มากพอ ก็จะยังไม่ถูกกำหนดในสิทธิการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยที่ต้องใช้การรักษาวิธีนี้ ก็ต้องจ่ายค่ารักษาเพิ่มเติมครับ ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจด้วยครับ และก็อยากให้รัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ให้คนไทยเข้าใจและทราบเรื่องดังกล่าวด้วยครับ