ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin)

สารบัญ

ทั่วไป

ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยามีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายคลึงและใกล้ เคียงกับ ยา Retinoic acid ที่เป็นอนุพันธ์ของวิตามิน-เอ ซึ่งการใช้ยาตัวนี้ต้องอยู่ภายใต้การดู แลของแพทย์เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่มีผลข้างเคียงมากหากใช้ไม่ถูกต้อง (อ่านเพิ่มเติมเรื่องผล ข้างเคียงในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์)

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย (อย.) กำหนดให้ไอโซเตรทติโนอินเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ ทั้งนี้เป็นมาตรการที่สร้างความปลอดภัยจากการซื้อยารับประ ทานเองได้ระดับหนึ่ง

ยาไอโซเตรทติโนอินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาไอโซเตรทติโนอิน

ยาไอโซเตรทติโนอิน มีสรรพคุณใช้รักษาสิวชนิดเรื้อรัง สิวที่ไม่สามารถรักษาได้หายด้วยยาปฏิชีวนะ

ยาไอโซเตรทติโนอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไอโซเตรทติโนอินนี้ จะทำให้ขนาดของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous gland) มีขนาดเล็กลงและลดการผลิตสารไขมัน หลังการรับประทานยา ความเข้มข้นของยาที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดจะขึ้นสูงเป็นระดับที่ใช้รักษาได้ภายใน 1 – 4 ชั่วโมง ซึ่งยานี้จะถูกเปลี่ยน แปลงโครงสร้างที่ตับ และสามารถถูกขับออกจากร่างกายโดยทางปัสสาวะและอุจจาระ

ยาไอโซเตรทติโนอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

การจัดจำหน่ายยาไอโซเตรทติโนอินที่มีในประเทศไทยได้แก่ ยารับประทานที่เป็นแคป ซูลชนิดนิ่ม ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม

ยาไอโซเตรทติโนอินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาไอโซเตรทติโนอินของผู้ใหญ่ คือ

  • ขนาดรับประทานเริ่มต้น คือ 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
  • จากนั้นปรับขนาดเป็น 0.5 – 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
  • ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
  • โดยปกติระยะเวลาที่รับประทานยาอยู่ที่ 16 – 24 สัปดาห์
  • หากจะต้องกลับมารับประทานยาใหม่ ควรเว้นช่วงของการรับประทานยาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ และ
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไอโซเตรทติโนอิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือผิวหนังขึ้นผื่น
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโซเตรทติโนอินนี้อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทรวมทั้งยาไอโซเตรทติโนอิน สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอโซเตรทติโนอิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาไอโซเตรทติโนอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอโซเตรทติโนอินนี้มีผลไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียง คือ อาจทำให้ผิวหนังแห้ง และมีอาการคัน, อาจมีอาการผิวหนังอักเสบร่วมด้วย, เล็บเปราะ แตก, เกิดภาวะผิวคล้ำและเข้มขึ้น, ตาแห้งได้มากๆ, ตามัวโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดตามข้อกระดูก, ซึมเศร้า, ปวดศีรษะ, เพิ่มความดันภายในกะโหลกศีรษะ (ทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน), คลื่นไส้, ชัก, ตับอ่อนอักเสบ, ท้องเสียอย่างรุนแรง, หลอดลมหดเกร็งทำให้หายใจลำบาก, อาจมีการเพิ่มของระดับไตรกลีเซอไรด์ และ/หรือคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดและลดระดับ HDL (อ่านเพิ่มเติมใน เกร็ด ไขมันในเลือด) ในเลือดลง, อาจเกิดภาวะกรดยูริคสูงในร่างกาย, อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุน แรงกับผิวหนัง ได้แก่ สภาวะ Steven-johnson syndrome เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซเตรทติโนอินอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาไอโซเตรทติโนอิน คือ

  • ระวังภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขณะใช้ยานี้
  • ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยด้วยพิษสุราเรื้อรังและผู้ที่อยู่ในภาวะลดน้ำหนัก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ด้วยอาจก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบและ มีอาการแพ้ ขึ้นผื่นรุนแรงเกิดขึ้น
  • ระวังระดับไตรกลีเซอไรด์สูงเกินปกติ จึงควรตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เมื่อใช้ยาอยู่
  • ควรตรวจสอบความผิดปกติของตับด้วยการตรวจเลือดหลังรับประทานยาแล้ว 1 เดือน พร้อมทั้งตรวจซ้ำทุกๆ 3 เดือนเพื่อตรวจหาภาวะตับอักเสบจากยานี้
  • ระหว่างรับประทานยา ควรต้องระวังสำหรับผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือการขับขี่รถยนต์ เพราะยาอาจทำให้มีอาการง่วงนอน หรืออาการวิงเวียนได้
  • ขณะรับประทานยานี้ ห้ามบริจาคโลหิตเพราะจะมียาอยู่ในเลือดที่บริจาค
  • ห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต
  • ห้ามใช้กับผู้อยู่ในภาวะที่วิตามิน-เอสูงเกินมาตรฐาน
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง

***** อนึ่ง ในการใช้ยาทุกชนิดซึ่งรวมทั้งยาไอโซเตรทติโนอิน ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด และเมื่อจะซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ และยาไอโซเตรทติโนอินนี้ เป็นยาที่ต้องสั่งการใช้โดยแพทย์เท่านั้นด้วยเหตุ ผลดังได้กล่าวแล้วตั้งแต่ต้น

ยาไอโซเตรทติโนอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยา ของยาไอโซเตรทติโนอินกับยาตัวอื่น คือการใช้ยาไอโซเตรทติโนอินร่วมกับวิตามิน-เอ อาจไปกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการแพ้วิตามิน-เอ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ชัก ตับอักเสบ) อย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษายาไอโซเตรทติโนอินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไอโซเตรทติโนอินในช่วงอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส พ้นจากแสง แดดและความชื้น และเก็บให้พ้นมือเด็กเสมอ

ยาไอโซเตรทติโนอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่ออื่นและบริษัทผลิตยาไอโซเตรทติโนอินในประเทศไทย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Acnotin (แอคโนติน)Pharmasant Lab
A-Cnotren (เอ-โคเทรน)Pharmathen
Isotane (ไอโซเทน)Shanghai Yanan
Isotrex (ไอโซเทรกซ์)Stiefel
Proacne-10 (โปรแอคเน-10)T. Man Pharma
Roaccutane (โรแอคคูเทน)Roche
Sotret (โซเทรท)Ranbaxy Unichem
Tinoin (ติโนอิน)Okasa Pharma
 

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=isotretinoin [2013,Sept 21].
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Isotretinoin [2013,Sept 21].
  3. http://www.drugs.com/cdi/accutane.html [2013,Sept21].