ยาไดไพริดาโมล (Dipyridamole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไดไพริดาโมล (Dipyridamole) เป็นยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือด ถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดในบริเวณลิ้นหัวใจเทียม วง การแพทย์ได้นำมาใช้ร่วมกับยาแอสไพรินเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต (ตาย) ในผู้ป่วยด้วยโรคหัว ใจวายทั้งในเชิงรักษาและป้องกัน การบริหารยาในผู้ป่วยมีทั้งแบบฉีดและแบบรับประทาน มีการใช้ในรูปลักษณะยาเดี่ยวและผสมร่วมกับยาอื่น

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การศึกษาความเป็นไปเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่าหลังจากยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะมีการจับตัวกับพลาสมาโปรตีนถึง 99% และตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของไดไพริดาโมล ร่างกายต้องใช้เวลา 10 - 12 ชั่วโมงในการกำ จัดยาออกจากร่างกาย 50%

นอกจากการใช้รักษาเชิงป้องกันในผู้ป่วยแล้ว ยาไดไพริดาโมลยังถูกนำไปใช้กับห้องทด ลอง ด้วยวัตถุประสงค์ป้องกันมิให้ตัวอย่างเลือดที่นำมาใช้ศึกษาแข็งตัว หรือนำไปใช้ป้องกันการเจริญเติบโตของพวกคาร์ดิโอไวรัส (Cardiovirus: ไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และอาจทำให้เกิดอัมพาตได้) ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไดไพริดาโมลอยู่ในบัญชียาหลักแห่ง ชาติเพื่อวัตถุประสงค์ใช้ในห้องทดลอง อย่างไรก็ตาม ยาไดไพริดาโมลที่อยู่ในรูปของยาผสม จัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ ส่วนตำรับยาเดี่ยวถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะพิจารณาสั่งจ่ายยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้ป่วย

ยาไดไพริดาโมลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาไดไพริดาโมล

ยาไดไพริดาโมลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาโรคหัวใจขาดเลือด/โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเจ็บหน้าอกด้วยเหตุหัวใจขาดเลือด
  • ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดในบริเวณลิ้นหัวใจเทียม

ยาไดไพริดาโมลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดไพริดาโซลคือ ตัวยานี้จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Adenosine deaminase และ Phosphodiesterase มีผลทำให้ชะลอการรวมตัวของเกล็ดเลือด

ยาไดไพริดาโมลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดไพริดาโมลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเดี่ยวชนิดฉีด ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
  • ยาเดี่ยวชนิดแคปซูล ขนาดความแรง 75 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาผสมชนิดแคปซูล ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัม ร่วมกับกรดอะซิติลซาลิไซลิก (Acetylsalicylic acid) 25 มิลลิกรัม

ยาไดไพริดาโมลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไดไพริดาโมล มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่เปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 300 - 600 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน อาจร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดชนิดอื่น เช่น แอสไพริน

ข. สำหรับป้องกันการเจ็บหน้าอกด้วยเหตุหัวใจขาดเลือด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 75 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหาร 1ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ไม่มีการแนะนำเป็นมาตรฐานสำหรับการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดไพริดาโมล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดไพริดาโมลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไดไพริดาโมล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไดไพริดาโมลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไดไพริดาโมลอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้
  • ผื่นคัน
  • บางรายอาจพบอาการเจ็บหน้าอกเหมือนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • และตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดไพริดาโมลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดไพริดาโมล เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาไดไพริดาโมล
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยอาการเจ็บหน้าอกที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำอยู่ก่อน หรือการใช้ยาเกินขนาดสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และกับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้สามารถถูกขับออกมากับน้ำนมของมารดา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุ บันทุกชนิด (รวมยาไดไพริดาโมลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไดไพริดาโมลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดไพริดาโมลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาไดไพริดาโมลร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่นยา Ibuprofen, Ketoprofen, และ Naproxen อาจก่อให้เกิด
    • อาการตกเลือดหรือมีภาวะเลือดออกได้ง่าย
    • อาจพบอาการ วิงเวียน
    • อุจจาระเป็นเลือด
    • ไอเป็นเลือดสดๆหรือเลือดแห้ง
    • ปวดศีรษะ
    • และอ่อนเพลียร่วมด้วย

*ดังนั้น หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

  • การรับประทานยาไดไพริดาโมลร่วมกับยาหรืออาหารที่มีสารคาเฟอีน (Caffeine) สามารถลดฤทธิ์ในการรักษาของยาไดไพริดาโมล ควรเลี่ยงและเว้นระยะเวลาของการใช้ให้ห่างกัน 12 - 24 ชั่วโมง
  • การรับประทานยาไดไพริดาโมลร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophylline สามารถลดฤทธิ์ในการรักษาของไดไพริดาโมล ควรเลี่ยงและเว้นระยะเวลาของการใช้ให้ห่างกัน 12 - 24 ชั่ว โมง

ควรเก็บรักษายาไดไพริดาโมลอย่างไร?

สามารถเก็บรักษายาไดไพริดาโมล เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไดไพริดาโมลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดไพริดาโมล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aggrenox (แอ็กกรีน็อกซ์) Boehringer Ingelheim
Agremol (อะกรีมอล) Eurodrug
Persantin (เพอร์แซนทิน) Boehringer Ingelheim

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Dipyridamole [2020,Feb29]
2. http://www.drugs.com/mtm/dipyridamole.html [2020,Feb29]
3. http://www.drugs.com/dosage/dipyridamole.html [2020,Feb29]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/dipyridamole.html [2020,Feb29]
5. https://www.drugs.com/cdi/dipyridamole-injection.html [2020,Feb29]
6. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682830.html [2020,Feb29]
7. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=dipyridamole [2020,Feb29]
8. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Agremol/?type=brief [2020,Feb29]