ยาแก้ร้อนใน (Cure heat drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการร้อนในในทรรศนะของแพทย์ตะวันออกนั้น สิ่งแรกที่จะแสดงให้เราทราบก็คือ การถ่ายอุจจาระ ซึ่งในภาวะปกติคนทั่วไปจะมีอุจจาระเป็นสีเหลือง แต่พอเริ่มมีอาการร้อนใน อุจจาระมักจะมีสีน้ำตาลนิดๆ มีลักษณะคล้ายครีม และจะมีอาการเจ็บคอ คอแห้ง ถ้าเป็นมากจะทำให้ท้องผูก ขี้ตาแฉะ

สาเหตุที่จะทำให้เกิดอาการร้อนใน ในทรรศนะแพทย์ตะวันออก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น

  1. ประการแรก คือ ร่างกายของคนเรามีลักษณะเป็นหยิน (เย็น) เป็นหยาง (ร้อน) ต่างกัน เช่น ถ้าคนที่มีลักษณะเป็นหยางมากกว่าหยินแล้ว ไปกินอาหารที่เป็นหยางเข้าไป ก็เท่ากับทำให้ลักษณะหยางในร่างกายเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นโรคหยาง ซึ่งก็คือเกิดอาการร้อนในนั้นเอง
  2. ประการที่สอง คือ เรื่องของอาหารในทรรศนะของจีน ก็แบ่งเป็นหยินและหยาง โดยที่
    • อาหาร ประเภทหยางมักจะมีรสเผ็ด รสที่ค่อนข้างจัด หรือว่าเข้มข้น หรืออาหารทอดทุกประ เภท ถ้าเป็นพวกผลไม้ก็เช่น เงาะ ทุเรียน ลิ้นจี่ หรือข้าวเหนียว นี้ถือว่าเป็นหยางหมด
    • ส่วนอาหาร ประเภทหยิน ก็คืออาหารชนิดที่กินเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกชุ่มคอ รู้สึกสบาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็น พวกผักชนิดต่างๆ
  3. ประการที่สาม คือ อากาศ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 2 สาเหตุข้างต้น ก็คือ ฤดู กาลที่เปลี่ยนไปมักจะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดหยินกับหยางในลักษณะที่ต่างกัน เช่น ฤดูร้อน ความเป็นหยางจะสูง เพราะอากาศร้อน ถ้าหากร่างกายเป็นหยาง กินอาหารหยาง แล้วก็มาเจอหน้าร้อนเป็นหยางเข้า ก็จะทำให้อาการร้อนในแสดงได้มากและเด่นชัดขึ้น

อาการร้อนใน หรือ ร้อนในคืออะไร?

ร้อนใน เป็นกลุ่มอาการทางสุขภาพที่ผิดจากปกติหลายๆอย่าง ร้อนในมิได้หมายถึงอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นแต่อย่างใด อาการตัวร้อนอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับร้อนในก็ได้

อาการร้อนใน มีผู้เข้าใจว่าเป็นเพียงอาการที่ในปากเป็นแผล ลักษณะเป็นดวงหรือจุดขาวใหญ่เท่าหรือใหญ่กว่าเม็ดถั่วเขียว และเจ็บที่แผลแบบปวดแสบปวดร้อน ซึ่งก็ถูกต้อง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนน้อย ของคำว่า “ร้อนใน”

ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการร้อนใน โดยทั่วไป เกิดจากการรับประทานอาหารเผ็ด มัน รสจัด หรือ ย่อยยาก เช่น แกงเผ็ด ส้มตำ ข้าวเหนียว ขนุน ลำใย เป็นต้น

อาการร้อนในเป็นกลุ่มอาการที่อาจแสดงออก ดังนี้ คือ ตาแฉะ, มีขี้ตามากหลังตื่นนอน, เจ็บที่เหงือก, เหงือกเป็นแผล, กระพุ้งแก้มด้านใน ริมฝีปากด้านในเป็นแผล, ลิ้นแตกเป็นแผล, ลมหายใจร้อน, คอแห้ง, ปากขม, กระหายน้ำ, เจ็บคอ, บางครั้งมีอาการไอ (ไอร้อน), มีเสมหะเหลืองข้น, เมื่อยตามตัว, ครั่นเนื้อครั่นตัว, รู้สึกรุมๆคล้ายจะเป็นไข้, ท้องผูก ถ่ายค่อนข้างลำ บาก,

"อาการร้อนใน" จัดเป็นอาการที่ไม่ได้อันตรายร้ายแรงอะไรต่อชีวิต แต่มันสร้างความเจ็บปวดและความรำคาญให้กับคนที่เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะร้อนในที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพ ดานปาก ลิ้น แม้กระทั่งที่เหงือก ก็ยังสามารถเกิดร้อนในขึ้นมาได้

เชื่อได้ว่าทุกคนต้องเคยเป็นร้อนในกันมาทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะเป็นมากเป็นน้อย บางคนเป็นไม่นานก็หายไป บางคนเป็นทีก็ 1-2 สัปดาห์กว่าจะหายก็มี ก่อนอื่นมาดูสาเหตุของอาการร้อนในกันก่อนว่าเกิดมาจากอะไร

สาเหตุของอาการร้อนใน

สาเหตุที่แท้จริงของอาการร้อนในในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ยังไม่ทราบชัดเจน แต่การแพทย์แผนตะวันออกเชื่อว่า เกิดจากขาดสมดุลของหยินและหยาง

ปัจจัยที่มักทำให้เกิดร้อนในโดยเฉพาะแผลร้อนใน หรือร้อนในในปาก ได้แก่

  • นอนน้อย นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ อันนี้เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ
  • ความเครียด โมโห ฉุนเฉียว
  • กินอาหารฤทธิ์ร้อนมากเกินไป เช่น ขนมปังเบเกอรี่ ของมัน ของทอด เนื้อติดมัน ของหวาน ไอศกรีม เหล้า เบียร์ ผลไม้ที่หวานมากๆ
  • กัดปากตัวเอง เวลาเคี้ยวข้าวอย่างเอร็ดอร่อยอยู่ ก็บังเอิญไปกัดริมฝีปากบ้าง กัดลิ้นบ้าง กัดกระพุ้งแก้มบ้าง
  • ขาดสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ (เกลือแร่) โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก, โฟเลต หรือวิตามินบี 12
  • อาจเป็นจากกรรมพันธุ์
  • เป็นประจำเดือน เกิดกับผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
  • กินอาหารรสจัดมากไป เค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด ระวังไว้ให้ดี

เมื่อเรารู้ปัจจัยเสี่ยงแล้วว่า อาการร้อนในมีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร ต่อมา มาดูวิธีแก้กันบ้างดี กว่าว่าเราจะรับมือกับมันยังไงได้บ้าง

การรักษาแผลร้อนใน (ในปาก)

ในปัจจุบัน การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่รักษาแผลร้อนในให้หายขาด โดยไม่ปรากฏอาการขึ้นมาอีก ดังนั้นการรักษาที่นิยมในปัจจุบันคือ รักษาไปตามอาการโดยให้ สเตียรอยด์ ชนิดทาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการเจ็บและอาการอักเสบ ดังนี้

  1. ไตรแอมซิโนโลน อะเซทโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) ชนิดขี้ผึ้ง 0.1% ทาวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  2. ฟลูโอซิโนโลน อะเซทโทไนด์ (Fluocinolone acetonide) 0.1% ชนิดสารละลาย หรือชนิดขี้ผึ้ง ทาวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  3. อาจใช้ คลอร์เฮ็กซิดีน กลูโคเนต (Chlorhexidine gluconate) 0.2%-1% ใช้อมบ้วนปาก 10 มิลลิลิตร อม 1 นาที วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) หรือหลังอาหาร

วิธีใช้ยาทา: ปกติให้ทาหลังอาหาร 3 มื้อ หรือจะทาก่อนนอนก็ได้ เพราะสะดวกกว่า ซึ่งจะช่วยให้หายเร็วมากกว่าทาเวลาอื่น เพราะเวลาอื่นทาแป๊บเดียวก็กลืนลงคอไปแล้ว แต่ตอนนอนมันจะติดทนนานกว่า เนื่องจากเราจะไม่ค่อยได้ขยับปากมากเท่าไร

อนึ่ง พึงระลึกไว้ว่า แผลร้อนในเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังเหนื่อยล้าหรือทรุดโทรม จึงต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรงด้วย เช่น การกินอาหารให้เหมาะสม, นอนหลับอย่างเพียงพอ, และออกกำลังกายกลางแจ้งในที่ๆมีอากาศบริสุทธิ์เป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงจากอาการนี้ลงไปได้

ทั้งนี้ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นยาแก้ร้อนในแผนปัจจุบัน เราลองมาดู “ยาแก้ร้อนในแผนโบราณ ” ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ กันบ้าง ได้แก่

  1. ยาบัวบก: ยาแคปซูล, ยาชง
  2. ตัวยาสำคัญของยาบัวบก: เป็นผงจากส่วนเหนือดินของบัวบก [Centella asiatica (L.) Urb.]

    ข้อบ่งใช้: แก้ไข้ แก้ร้อนใน ช้ำใน

    ขนาดและวิธีใช้:

    • ชนิดชง: รับประทานครั้งละ 2 - 4 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
    • ชนิดแคปซูล: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

    ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้สมุนไพรวงศ์ Apiaceae (Umbelliferae) เช่น ผักชี ผักชีล้อม เซเลอรี แครอด

    ข้อควรระวัง:

    • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
    • หากใช้ยาบัวบกเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยา บาล
    • หลีกเลี่ยงการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ในผู้ป่วยบางราย
    • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีผลต่อตับ (เช่น ยาปฏิชีวนะ), ยาขับปัสสาวะ, และยาที่มีผลข้าง เคียงทำให้ง่วงนอน (เช่น ยานอนหลับ) เพราะอาจเสริมฤทธิ์กัน
    • บัวบก อาจเพิ่มระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด และทำให้ประสิทธิผลของยาลดน้ำ ตาลและยาลดคอเลสเตอรอลลดลง
    • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีกระบวนการเมแทบอลิซึมผ่าน Cytochrome P450 (CYP 450) เช่น ยาต้านไวรัสบางชนิด เนื่องจากบัวบกมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP 2C9 และ CYP 2C19

    อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง): ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง มวนท้อง ท้อง อืด และปัสสาวะบ่อย

    อื่นๆ: บัวบก สามารถใช้ได้ใน เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

  3. ยามะระขี้นก: ยาแคปซูล ยาชง ยาเม็ด
  4. ตัวยาสำคัญ: ผงจากเนื้อผลแก่ที่ยังไม่สุกผงของมะระขี้นก (Momordica charantia L.)

    ข้อบ่งใช้: แก้ไข้ แก้ร้อนใน เจริญอาหาร

    ขนาดและวิธีใช้:

    • ชนิดชง: รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
    • ชนิดแคปซูลและชนิดเม็ด: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม -1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

    ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในเด็ก หญิงให้นมบุตร และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีรายงานว่าทำให้ระ ดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมากจนเกิดอาการชักได้

    ข้อควรระวัง:

    • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออกได้
    • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล
    • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน (Oral Hyperglycemia Agents/ยาเบาหวาน) หรือร่วมกับการฉีดอินซูลิน เพราะอาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กันได้
    • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับ เพราะเคยมีรายงานว่าทำให้การเกิดตับอักเสบได้

    อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง): คลื่นไส้ วิงเวียน ชาปลายมือปลายเท้า ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนช็อก (Hypoglycemic coma) อาการชักในเด็ก ท้องเดิน/ท้องเสีย ท้องอืด ปวดศีรษะ และอาจเพิ่มระดับเอนไซม์ตับในเลือดได้

  5. ยารางจืด: ยาชง, แคปซูล
  6. ตัวยาสำคัญ: ผงใบรางจืดโตเต็มที่ (Thunbergia laurifolia Lindl.)

    ข้อบ่งใช้: ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน

    ขนาดและวิธีใช้:

    • ชนิดชง: รับประทานครั้งละ 2-3 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือเมื่อมีอาการ
    • ชนิดแคปซูล: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม -1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

    ข้อควรระวัง:

    • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
    • หากใช้ยารางจืดเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยา บาล
    • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
    • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาอื่น เพราะยารางจืด อาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่าง กาย ทำให้ประสิทธิผลของยาเหล่านั้นลดลง

    อื่นๆ: ไม่มีข้อห้ามใช้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร

  7. ยาหญ้าปักกิ่ง: ยาแคปซูล, ยาชง
  8. ตัวยาสำคัญ: ผงหญ้าปักกิ่ง [Murdannia loriformis (Hassk.) R.S. Rao & Kammathy]

    ข้อบ่งใช้: แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้น้ำเหลืองเสีย

    ขนาดและวิธีใช้:

    • ชนิดชง: รับประทานครั้งละ 2-3 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
    • ชนิดแคปซูล: รับประทานครั้งละ 400 - 500 มิลลิกรัม - 1กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

    ข้อควรระวัง:

    • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
    • หากใช้ยาหญ้าปักกิ่งเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์/ไปโรง พยาบาล

    อื่นๆ:

    • ภูมิปัญญาเดิมใช้หญ้าปักกิ่งทั้งต้น คั้นน้ำแล้วตั้งทิ้งไว้เพื่อให้ตกตะกอน แล้วนำส่วนใสไปรับ ประทาน
    • สามารถใช้หญ้าปักกิ่งในเด็ก (ไม่ควรใช้ในอายุต่ำกว่า 6 ปี) หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร แต่ทั้งในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันก่อนใช้เสมอ

ข้อสำคัญ

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาแก้ร้อนใน) ยาแผนโบราณทุกชนิด (รวมถึงยาแก้ร้อนใน) และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=1726 [2014,March18]
  2. http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=1443&gid=3 [2014,March18].
  3. http://www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/n51.php [2014,March18].
  4. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B5[2014,March18].
  5. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99[2014,March18].