ยาแก้คัน (Tips of Antipruritic)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 13 พฤศจิกายน 2557
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- ลมพิษ (Urticaria)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- ผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก (Childhood contact dermatitis)
คัน เป็นความรู้สึกถึงความอยากเกาบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการคัน อาจแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกร้อนหรืออาการซู่ซ่าหรือคันขยุกขยิกตามผิวหนัง ส่วนใหญ่เมื่อเกาแก้คัน มักทําให้เกิดรอยถลอกตามมาบนผิวหนังบริเวณที่เกาและอาจมีการติดเชื้อโรคในส่วนนั้นตามมาได้
อาการคันที่มองเห็นได้และพบบ่อยได้แก่ ผื่นจากการกัดของตัวหมัด ไร หิด หรือเชื้อราต่างๆ หรือจากโรคผิวหนังเช่น โรคลมพิษ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ หรือจากพิษแมลงสัตว์กัดต่อย หรือจากสารเคมี หรือจากการเกิดบาดแผลบนผิวหนังซึ่งกระตุ้นให้รู้สึกคันตามมา หรือจากโรคต่างๆที่ก่อให้เกิดสารที่ก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังเพิ่มขึ้นในเลือดจนเกิดเป็นอาการคันขึ้นเช่น โรคดีซ่าน โรคไต โรคเบาหวาน
การรักษาอาการคันส่วนใหญ่จะรักษาตามสาเหตุเช่น รักษาเชื้อโรคหรือรักษาโรคที่ป่วยอยู่ที่เป็นสาเหตุ นอกจากนั้นคือ การเฝ้าระวังสภาพภูมิอากาศ สภาวะแวดล้อมที่ไม่สะอาด การรับประทานยา หรือการทายาเพื่อบรรเทาอาการคัน และการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดใหม่หรือการลุกลามของผื่นคันหรืออาการคัน
ทั้งนี้ ยาแก้คัน (Antipruritic drug) ส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่มยาต้านฤทธิ์สารที่ก่อให้เกิดอาการคันที่เรียกว่า ฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งยาในกลุ่มนี้เรียกว่า ยาต้าน (ฤทธิ์) ฮีสตามีน (Antihistamine) ซึ่งมีทั้งยากินและยาทา
ยาต้านฮีสตามีน
ปัจจุบันได้มีการจัดแบ่งประเภทของยาต้านฤทธิ์ฮีสตามีน (Anti-Histamine) ออกได้เป็น 3 รุ่นดังนี้
1. รุ่นที่ 1 (First generation) Sedating Antihistamine:
เป็นกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีนที่ผ่านเข้าสู่ระบบเลือดและสมองได้ดี จึงมีฤทธิ์ข้างเคียง (ผลข้างเคียง) คือทำให้เกิดอาการง่วงซึม ง่วงนอน และยังมีผลข้างเคียงอื่นๆเช่น คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ตัวยาในกลุ่มนี้เช่น Chlopheniramine, Hydroxyzine, Tripolidine, Brompheniramine ซึ่งข้อดีของยากลุ่มนี้คือ
- สามารถลดอาการน้ำมูกไหลได้
- สามารถลดอาการคันได้ดีกว่ายาในรุ่นอื่นๆ
2. รุ่นที่ 2 (Second generation) Non-sedating Antihistamines:
ยากลุ่มนี้ได้พัฒนาเพื่อแก้จุดด้อยของยาในกลุ่มที่ 1 โดยมีจุดเด่น 3 ประการคือ
- ไม่ง่วง
- ออกฤทธิ์นานกว่า 12 ชั่วโมงจนถึงหลายวัน
- ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับตัวรับ (Receptor) ต่อฮีสตามีน ทำให้ได้ผลการรักษาได้ดีกว่ากลุ่มแรก ยากลุ่มนี้เช่น Loratadine, Mequitazine, Acrivastine, Azelastine, Ebastine, Epinastine
3. รุ่นที่ 3 (Third generation):
ยากลุ่มนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีคุณสมบัติเหมือนรุ่นที่ 2 แต่ตัวยาออกฤทธิ์ได้โดยไม่ต้องผ่านการย่อยสลายที่ตับและลดผลข้างเคียงต่อหัวใจ ยาในกลุ่มนี้เช่น Fexofenadine, Certirizine
หลักการใช้ยาต้านฮีสตามีน
ก. โรคภูมิแพ้ทางจมูก (Allergic rhinitis): ควรรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีนในรุ่นที่ 2 ร่วมกับยาลดอาการคัดจมูก (Decongestant) และควรให้ยาพ่นจมูกพวก Corticosteroid เสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
ข. เยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่ภูมิแพ้และโรคหวัด (Non-allergic rhinitis & Common cold): ควรใช้ยาในกลุ่มต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 1 เพราะสามารถลดน้ำมูกที่ไม่ได้เกิดจากสารฮีสตามีนได้ดีกว่าโดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยาลดอาการคัดจมูก
ค. การรักษาลมพิษและโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Urticaria - Angioedema and Atopic Dermatitis): แบ่งออกเป็น
- ชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) ซึ่งมักเกิดจากการแพ้อาหารหรือยาหรือสารเคมีต่างๆ
- และชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) ซึ่งมักจะเป็นประเภทไม่ทราบสาเหตุแน่นอน
ซึ่งการรักษาอาการคันสาเหตุจากโรคกลุ่มนี้สามารถใช้ยาต้านฮีสตามีนได้ทั้ง 3 รุ่น เพราะไม่มีผลแตกต่างในการรักษา โดยสำหรับชนิดเรื้อรังควรให้ยาที่มีฤทธิ์ยาวและไม่ทำให้ง่วง
*****หมายเหตุ:
การรักษาอาการคันด้วยยาต้านฮีสตามีน การใช้ยาในรุ่นที่ 1 น่าจะให้ผลดีกว่าเพราะมีฤทธิช่วยให้ง่วง จึงช่วยลดอาการคันได้ดี โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน แต่ต้องระวังในการทำงานกับเครื่องจักรและการขับขี่ยวดยานพาหนะ
ข้อแนะนำในการใช้ยาต้านฮีสตามีน
ก. ยาในรุ่นที่ 1 ให้ระวังในการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เพราะจะทำให้มีอาการง่วงมากขึ้น ได้แก่ยานอนหลับ ยาระงับประสาท และพวก Alcohol
ข. ยาในรุ่นที่ 2 ให้ระวังการใช้ยาร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเมตาโบลิซึ่มของตับ ซึ่งมีผลเสี่ยงต่อการทำงานของหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกับ Macrolides/Azoles group รวมไปถึงยาเกี่ยวกับโรคหัวใจ
ค. ยาในรุ่นที่ 3 เป็นยากลุ่มที่ไม่มีปัญหาเหมือนรุ่น 1 และ 2 แต่จะมีปัญหาในเรื่องราคายาที่มีราคาค่อนข้างสูง
1. ข้อควรระวังการใช้ยาทาแก้คัน
การใช้ยาทาแก้คันควรต้อง
- เลือกความแรงของยาทาให้เหมาะกับผิวหนังบริเวณที่ใช้ยาทา
- ผิวหนังบริเวณที่ทายาแก้คัน ต้องไม่มีการติดเชื้อโรคใดๆ เพราะอาการของโรคอาจลุกลามได้
- เลือกรูปแบบของยาทา (เช่น น้ำ ครีม ขี้ผึ้ง เจล) ให้เหมาะสมกับโรคและสภาพผื่นแต่ละชนิด (ปรึกษาได้จากเภสัชกร/แพทย์/พยาบาล)
1.1 ข้อควรระวังการใช้ยาทาแก้คันในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
กรณียาทาสเตียรอยด์ควรเลือกยาทาที่มีฤทธิ์อ่อน เพื่อไม่ให้เกิดการดูดซึมเข้าร่างกายมากจน มีอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงเหมือนการรับประทานยาเตียรอยด์โดยตรง
1.2 ข้อควรระวังการใช้ยาทางแก้คันในเด็ก
กรณียาทาสเตียรอยด์ควรใช้ยาที่มีฤทธิ์อ่อน
1.3 คำแนะนำเมื่อจะใช้ยาทาแก้คัน
เมื่อจะใช้ยาทาแก้คันควรพิจารณาดังนี้
- วินิจฉัยโรคถูกต้องว่าอาการคันเกิดจากอะไร
- พิจารณาความแรง ส่วนประกอบอื่นๆในเนื้อยา รูปแบบยา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของยาสูงสุด
- เลือกยาที่มีความแรงเหมาะกับผิวหนังบริเวณนั้น
2. ข้อควรระวังการใช้ยากินแก้คัน
ก. กรณียากินแก้คันกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน/กลุ่มต้านฮีสตามีน ผลข้างเคียงของยาเช่น
- ยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม
- เลือกยาที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร รวมทั้งยาที่ปลอดภัยเมื่อใช้ในทารก
ข. กรณียากินแก้คันกลุ่มสเตียรอยด์ ผลข้างเคียงของยาเช่น
- อาจทำให้เกิดอาการคุชชิ่ง/Cushing (หน้าบวมฉุ)
- ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ
- ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจได้
- ทำให้กล้ามเนื้อสูญเสียโปรตีน อ่อนเปลี้ยไม่มีแรง
- กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ทำให้ร่างกายติดเชื้อโรคต่างๆง่ายขึ้น
- ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารได้
ทั้งนี้ การใช้ยาสเตียรอยด์ในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และในเด็ก ควรพิจารณาว่าได้ประโยชน์มากกว่าโทษ และไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานาน
2.1 คำแนะนำเมื่อจะกินยาแก้คัน
เมื่อจะกินยาแก้คันควรต้องทราบว่า ยามีผลให้ง่วงนอนไหม เพื่อการปรับตัวในการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน
เมื่อซื้อยาแก้คันใช้เองเมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการคันและได้ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้ว ควรพบแพทย์เมื่อ
- กินยาหรือทายาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- มีอาการรุนแรงมากขึ้นหลังจากดูแลตนเอง
เมื่อไรควรพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการคัน?
- อาการของโรครุนแรง
- เป็นโรคที่เกิดจากภูมิต้านทานตนเอง/โรคออโตอิมมูน
การปฏิบัติตนเมื่อมีอาการคัน
การปฏิบัติตนหรือการดูแลตนเองเมื่อมีอาการคันได้แก่
- ตัดเล็บให้สั้น
- หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณผิวหนังที่คัน เนื่องจากจะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาการคันอาจเป็นมากขึ้นได้
- ใช้สบู่อ่อนๆ ใช้โลชั่นทาผิวเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหยาบ หรือใยสังเคราะห์ ซึ่งอาจระคายเคืองและกระตุ้นให้เกิดอาการคันเพิ่มมากขึ้นได้ ควรใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย หลวม ไม่คับตรึง
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
- ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมอาการคันและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการคัน
บรรณานุกรม
1. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1082 [2014,Oct25]
2. http://www.med.cmu.ac.th/dept/intmed/know/skin/pruritus.pdf [2014,Oct25]
3. http://www.inderm.go.th/inderm_sai/skin/skin69.html [2014,Oct25]