ยาเร่งคลอด (Labor Induction Medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาเร่งคลอด

ยาเร่งคลอดหมายถึงยาอะไร?

ยาเร่งคลอด(Labor Induction Medications) หมายถึงยาที่ช่วยเร่งหรือช่วยกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด ยากลุ่มนี้ถูกนำมาใช้ใน

  • หญิงมีครรภ์ที่อายุครรภ์ครบกำหนดที่เลยกำหนดคลอดแล้ว แต่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ
  • หรือมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่มีผลต่อมารดาหรือต่อทารกในครรภ์ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์, ภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง เป็นต้น

ซึ่งบางครั้ง ภาวะดังกล่าวเหล่านี้ อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิต แพทย์จึงต้องยุติการตั้งครรภ์โดยเร็ว

ทางเภสัชแบ่งยาเร่งคลอดเป็นประเภทใดบ้าง?

ยาเร่งคลอด แบ่งได้เป็นกลุ่ม/ประเภท ดังนี้

  • ยากระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก (Oxytocic drugs): เช่นยา ออกซิโทซิน (Oxytocin)
  • ยาที่ออกฤทธิ์เหมือนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin analogues): เช่น
    • ยาที่โครงสร้างคล้ายพรอสตาแกลนดิน อีวัน (Synthetic prostaglandins E1 analogue) เช่นยา ไมโซพรอสทอล (Misoprostol)
    • ยาที่โครงสร้างคล้ายพรอสตาแกลนดิน อีทู (Synthetic prostaglandins E2 analogue): เช่นยา ไดโนพรอสโทน (Dinoprostone)
    • ยาต้านฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Anti-progesterone): เช่นยา มิฟิพริสโตน (Mifepristone)

ยาเร่งคลอดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเร่งคลอดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่นยา

  • Oxytocin: อยู่ในรูปแบบยาน้ำใส สำหรับหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Solution for infusion)
  • Misoprostol :อยู่ในรูปแบบยาเม็ด (Tablet) แต่สามารถบริหารยา/ใช้ยาได้หลายช่องทาง เช่น
    • รับประทาน
    • อมใต้ลิ้น
    • อมที่กระพุ้งแก้ม
    • เหน็บช่องคลอด
  • Dinoprostone: มีหลายรูปแบบ เช่น
    • เจล ใส่ทางรูปากมดลูก (Endocervical gel)
    • ยาเม็ดสอดช่องคลอด (Vaginal tablet)
    • ยาเม็ดสอดช่องคลอดพร้อมอุปกรณ์เสริม (Vaginal insert, Pessary) มีลักษณะคล้ายผ้าอนามัยแบบสอด ใช้สอดช่องคลอด โดยจะมีสายเทปยาวให้ดึงออกมาหลังจากเจ็บครรภ์คลอด หรือสอดยาครบ 12 ชั่วโมง
  • Mifepristone: อยู่ในรูปแบบยาเม็ด (Tablet)

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาเร่งคลอดอย่างไร?

ข้อบ่งใช้ยาเร่งคลอด คือ

  • ใช้เร่งให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด โดยออกฤทธิ์ให้กล้ามเนื้อบริเวณปากมดลูกนุ่ม และเปิดขยายออก
  • และกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก

มีข้อห้ามใช้ยาเร่งคลอดอย่างไร?

ข้อห้ามใช้ยาเร่งคลอด เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงต่อยานั้นๆ(Hypersensitivity)
  • ห้ามใช้ยาเร่งคลอดในผู้ที่มีข้อห้ามของการเร่งให้เกิดการเจ็บครรภ์ เช่น
    • ข้อห้ามใช้ในมารดา: เช่น
      • เป็นโรคเริมในขณะตั้งครรภ์
      • ภาวะสายสะดือย้อย
      • ภาวะเส้นเลือดสายสะดือพาดผ่านถุงน้ำคร่ำ
      • ภาวะผิดสัดส่วนระหว่างทารกและช่องเชิงกราน
      • ภาวะรกเกาะต่ำ
      • มีประวัติการผ่าคลอดบุตรในแนวตั้ง (Classical cesarean section)
      • มีประวัติการผ่าตัดที่มดลูก
      • มีประวัติคลอดบุตรมากกว่า 5 ครั้ง
    • ข้อห้ามใช้กรณีทารกในครรภ์: เช่น
      • ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ
      • ทารกในครรภ์ตัวโตผิดปกติ
      • ทารกฯมีภาวะเครียด(ภาวะเครียดของทารกในครรภ์)
      • ทารกฯมีคลื่นฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • Misoprostal: เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้อื่นร่วมด้วย เช่น ใช้รักษาและป้องกันการเกิด แผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นห้ามใช้ยานี้เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งบุตร, คลอดก่อนกำหนด, หรือทารกเกิดความพิการแต่กำเนิด

มีข้อควรระวังการใช้ยาเร่งคลอดอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาเร่งคลอด เช่น

  • ยาเร่งคลอด เป็นยาที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีบุคลากรและเครื่องมือที่มีความพร้อม คอยติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา, ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ, และสามารถ ผ่าท้องคลอดบุตรได้ หากมีปัญหาเกิดขึ้น
  • Oxytocin: เป็นยาที่มีฤทธิ์ Antidiuretic effect (ยาขับปัสสาวะ) ทำให้มีการดูดน้ำกลับจากกรวยไตมากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรตรวจติดตามระดับสารน้ำที่ผู้ป่วยได้รับ เพื่อป้องกันการเกิด ‘ภาวะน้ำเป็นพิษ (Water intoxication)’
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ Oxytocin เพื่อเร่งคลอดแบบกำหนดเวลาล่วงหน้า (Elective induction) เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ อีกทั้งยังไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ Oxytocin ร่วมกับยากลุ่ม Prostaglandin analogues เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์การหดเกร็งของมดลูก อาจทำให้มดลูกหดรัดตัวมากเกินไปจนทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์ที่ใช้ยานี้
  • ควรระวังการใช้ Dinoprostone ในผู้ป่วยโรค ลมชัก, ต้อหิน, โลหิตจาง, โรคปอด, โรคตับ, โรคไต, มีความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด, มีเลือดออกบริเวณช่องคลอดโดยที่หาสาเหตุไม่ได้
  • ควรระวังการใช้ Mifipristone ในผู้ที่มี การตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูก, มีก้อนบริเวณปีกมดลูกที่หาสาเหตุไม่ได้, ต่อมหมวกไตมีความผิดปกติ, ใช้ยากลุ่ม Corticosteroids อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน, มีเลือดออกมากผิดปกติหรือกำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, โรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria)
  • ควรระวังการใช้ Mifepristone ร่วมกับยาบางชนิด เช่น Ketoconazole, Itraconazole, Erythromycin, เป็นต้น เพราะอาจทำให้ระดับยา Mifepristone ในเลือดเปลี่ยนแปลงไป

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเร่งคลอดอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยา ของการใช้ยาเร่งคลอด เช่น

ก. Oxytocin:

  • อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบในมารดา: เช่น ปวดศีรษะ, หัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นเร็ว, รู้สึกไม่สบาย, มดลูกหดตัวมากหรือนานผิดปกติ, ภาวะน้ำเป็นพิษ, เจ็บหน้าอก, เลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ, และถ้าอัตราเร็วของการหยดยานี้มากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบในทารกหลังคลอด: เช่น พบได้เมื่อมดลูกหดเกร็งมากเกินไป ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายทารกต่ำ, ขาดออกซิเจน, และอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้

ข. Misoprostol :

  • อาการไม่พึงประสงค์จากยา ที่พบในมารดา: เช่น คลื่นไส้อาเจียน, ท้องเสีย, ปวดศีรษะ, มีไข้, หนาวสั่น, ภาวะมดลูกบีบตัวมากเกินไป (Tachysystole), ภาวะมดลูกแตก
  • อาการไม่พึงประสงค์จากยา ที่พบในทารกหลังคลอด: เช่น ทารกมีภาวะเครียด, อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ, หายใจลำบาก

ค. Dinoprostone:

  • อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่พบในมารดา: เช่น มดลูกหดเกร็ง, คลื่นไส้, ท้องเสีย, มีไข้, ปวดหลัง, นอกจากนี้ ยังพบอาการไม่สบายท้อง และรู้สึกอุ่นบริเวณช่องคลอดจากการใช้ยาในรูปแบบเจล
  • อาการไม่พึงประสงค์ฯที่พบในทารกหลังคลอด: เช่น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ, ทารกมีภาวะเครียด

ง. Mifepristone:

  • อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่พบในมารดา: เช่น มดลูกหดเกร็ง, ท้องเสีย, คลื่นไส้อาเจียน, อ่อนเพลีย, เวียนศีรษะ, ปวดศีรษะ, เลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ, ติดเชื้อบริเวณมดลูก
  • ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ฯที่เกิดขึ้นกับทารกหลังการคลอด

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเร่งคลอด) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. เจษฎา ใจพรหม และธีระ ทองสง. Induction of labor : การชักนำการคลอด. http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=935:induction-of-labor&catid=45&Itemid=561 [2019,May18]
  2. สมคิด สุริยเลิศ. การเปรียบเทียบประสิทธิผลการชักนำการเจ็บครรภ์ของการใช้ misoprostol ทางช่องคลอดกับการกินในการชักนำการเจ็บครรภ์ในครรภ์ครบกำหนด. วารสารวิชาการสาธารณสุข 17 (กันยายน – ตุลาคม 2551). 792-801.
  3. สมชาย ธนวัฒนาเจริญ. การชักนำให้เกิดการคลอดในครรภ์ครบกำหนดด้วยยา misoprostol. สูตินรีแพทย์สัมพันธ์ 27 (2561). 9-13.
  4. สมสิญจน์ เพ็ชรยิ้ม. การชักนำให้เกิดการเจ็บครรภ์ (Induction of Labor). เวชบันทึกศิริราช 2 (มกราคม-เมษายน 2552): 21-30.
  5. Sheibani, L. and Wing D.A. A safety review of medications used for labour induction. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/29141462 [2019,May18]