ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว (Medications that boost white blood cells)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 1 เมษายน 2561
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- เม็ดเลือดขาว (White blood cell หรือ Leukocyte)
- จีซีเอสเอฟ (G-CSF)
- โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Colony Stimulating Factor)
- ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?
- ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวมีกี่ประเภท?
- ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
- การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวมีอะไรบ้าง?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?
เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell ย่อว่า wbc) เป็นเซลล์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยไขกระดูกและไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดและระบบน้ำเหลือง ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือภูมิต้านทาน)ให้แก่ร่างกาย ต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย อันเป็นสาเหตุในการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ
ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว(Medications that boost white blood cells) เป็นยาที่มีชื่อกลุ่มยาว่า “โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร(Colony-stimulating factors)” หรือ “สาร/ยากระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือด (Haematopoietic growth factors)” ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการทำงานของไขกระดูก ช่วยให้ไขกระดูกสามารถผลิตเม็ดเลือดขาวได้มากยิ่งขึ้น จึงมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ โดยภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นอาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด โดยเฉพาะที่เกิดจากการได้รับยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา ในผู้ป่วยป่วยโรคมะเร็ง แล้วส่งผลให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำร่วมกับมีไข้ (Febrile Neutropenia) ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย และจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อติดเชื้อ จึงส่งผลให้แพทย์ต้อง ใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น, แพทย์ต้องปรับลดขนาดยาเคมีบำบัด หรือเลื่อนการให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาออกไปก่อนจนกว่าระดับเม็ดเลือดขาวจะกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวมีกี่ประเภท?
ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว แบ่งประเภทตามกลุ่มยาได้ดังนี้
1. ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์/Granulocyte (Granulocyte colony-stimulating factor, G-CSF) เช่นยา ฟิลกราสทิม (Filgrastim), เพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim), ลีโนกราสทิม (Lenograstim), นาร์โทกราสทิม (Nartograstim)
2. ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์และเซลล์มาโครฟาจ (Granulocyte-macrophage colony-stimulating factor, GM-CSF) เช่นยา ซาร์กรามอสทิม (Sargramostim), โมลกรามอสทิม (Molgramostim)
ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
- ยาผงชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile powder)
มีข้อบ่งใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว เช่น
1. ใช้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อ และลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดและเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะ Febrile Neutropenia
2. ใช้ลดระยะเวลาสร้างเม็ดเลือดขาว และรักษาอาการไข้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia, AML)
3. ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
4. ใช้ลดระยะเวลาและโอกาสเกิดภาวะ Severe congenital neutropenia (เป็นภาวะที่มีจำนวน Absolute neutrophils count/ANC น้อยกว่า < 0.5 x 109/L) ในผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเรื้อรังโดยไม่พบสาเหตุชัดเจน (Idiopathic neutropenia), ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเป็นช่วงๆ (Cyclic neutropenia), หรือเป็นภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด(Congenital neutropenia)
มีข้อห้ามใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว เช่น
1. ห้ามใช้ยาแต่ละชนิดในกลุ่มยานี้ ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง (Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
2. ห้ามใช้ยากลุ่ม G-CSF และ GM-CSF ในช่วง 24 ชั่วโมงก่อน หรือหลัง ได้รับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอเมื่อใช้ยาเหล่านี้ในช่วงเวลาดังกล่าว
มีข้อควรระวังการใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว เช่น
1. ไม่ควรใช้ยากลุ่ม G-CSF และ GM-CSF เพื่อให้สามารถเพิ่มขนาดยาเคมีบำบัดขึ้น
2. ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม G-CSF และ GM-CSF ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดโดยไม่ได้หวังผลการรักษาให้หายขาดกล่าวคือ ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจายซึ่งใช้การดูแลแบบประคับประคอง(Palliative therapy) แต่ควรลดขนาดยาเคมีบำบัดลง เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเคมีบำบัด
3. ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยากลุ่ม G-CSF และ GM-CSF ในผู้ป่วยภาวะ Severe congenital neutropenia ที่ตรวจพบความผิดปกติของโครโมโซม (Cytogenetic abnormality) ดังนั้นควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น
4. ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ว่ากำลังใช้ยาใดๆอยู่เป็นประจำ เพราะยาบางชนิด เช่นลิเทียม (Lithium) หรือ Corticosteroids มีอาการไม่พึงประสงค์ที่ทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวเปลี่ยนแปลง เช่น อาจสูงขึ้น หรือ อาจลดลง
5. ยากลุ่มนี้เป็นยาฉีด ก่อนใช้ยานี้ ควรกลับขวดยาไปมาเบาๆ เพื่อให้ตัวยาผสมเข้ากัน ควรหลีกเลี่ยงการเขย่าขวดยา เพราะอาจทำให้เกิดฟองอากาศ
การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ปัจจุบันยังไม่พบว่ายากลุ่ม G-CSF ทำให้เกิดอันตรายใดๆ ทั้งในมารดาและในทารกในครรภ์ แต่ข้อมูลการใช้ยายังมีค่อนข้างจำกัดในกลุ่มผู้ป่วยหญิงมีครรภ์ช่วงไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 1-3 เดือน) อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ ควรเลือกใช้ยา Filgrastim เป็นตัวเลือกแรก เพราะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความผลอดภัยมากกว่ายาชนิดอื่นในกลุ่มยา G-CSF
2. ระวังการใช้ยากลุ่ม GM-CSF ในหญิงมีครรภ์ ควรเลือกใช้ยากลุ่มนี้ก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่ได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์เท่านั้น
การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้
- ผู้สูงอายุสามารถใช้ยากลุ่มนี้ได้ ยังไม่พบความแตกต่างด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาเมื่อเปรียบเทียบในผู้ป่วยสูงอายุกับวัยผู้ใหญ่ และเนื่องจากวัยสูงอายุมักเป็นวัยที่มียาใช้เป็นประจำหลายชนิดอยู่แล้ว การเลือกใช้ยาที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์ยาว เช่น Pegfilgrastim จะทำให้สามารถลดความถี่ในการใช้ยาลง จึงอาจทำให้ใช้ยาได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ผู้ป่วยเด็กสามารถใช้ยากลุ่ม G-CSF ได้เช่นเดียวกับวัยอื่นๆ แต่อาจพบอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้มากกว่าเมื่อใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ความหนาแน่นมวลกระดูกลดลง กระดูกพรุน
2. ข้อมูลการใช้ยากลุ่ม GM-CSF ในผู้ป่วยเด็กยังมีค่อนข้างจำกัด แต่ยังไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยามากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากยา กลุ่มนี้มีเบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol) เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับ ห้ามใช้ในทารกแรกเกิดถึง 1 ปี เพราะทำให้การหายใจผิดปกติ (Gasping syndrome) อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาวมีอะไรบ้าง?
อาการไม่พึงประสงค์จากยาจากการใช้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว เช่น
1. ยากลุ่ม G-CSF ทำให้เกิดอาการ บวม แดง บริเวณที่ฉีดยา ปวดกระดูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นจากแพ้ยานี้ เลือดกำเดาไหล โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวสูงมากผิดปกติ เกล็ดเลือดต่ำ ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง กระดูกพรุน และอาจมีอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่รุนแรง (พบน้อย) ได้แก่ ภาวะการหายใจล้มเหลวฉับพลัน หลอดเลือดอักเสบ ม้ามแตก
2. ยากลุ่ม GM-CSF อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯเมื่อมีการใช้ยาครั้งแรก (First-dose reaction) คือ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าแดง วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม และอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ท้องเสีย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ผื่นจากแพ้ยา หายใจลำบาก บวมบริเวณปลายมือปลายเท้า
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- ปณิสินี ลวสุต. Chronic Neutropenia. วารสารโลหิตวิทยาและเวชศาสตร์บริการโลหิต 3 (กรกฏาคม-กันยายน 2552) : 211-220.
- สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. Drugs used in bone marrow transplantation. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/143 [2018,March10]
- Canadian Cancer Society. Low White Blood Cell Count http://www.cancer.ca/en/cancer-information/diagnosis-and-treatment/managing-side-effects/low-white-blood-cell-count/?region=bc [2018,March10]
- Mehta, H.M., and others. G-CSF and GM-CSF in Neutropenia. J Immunol 4 (August 2015) : 1341-1349.
- Metcalf, D. The Colony-Stimulating Factors and Cancer. Cancer Immunol 1 (December 2013) : 351-356.
- Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.