ยาเบลิมูแมบ (Belimumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบลิมูแมบ (Belimumab) เป็นยาในกลุ่มโมโนโครนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody)ที่ผลิตขึ้นจากมนุษย์ (Human monoclonal antibody) ยานี้มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus, SLE) โดยใช้เป็นยาเสริมที่ใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเอสแอลอีด้วยยาสูตรมาตรฐานปัจจุบันอยู่ โดยข้อบ่งใช้ของยานี้ คือ การใช้ยาเบลิมูแมบในช่วงโรคเอสแอลอีกำเริบ (Active SLE หรือ โรคลูปัส/Lupus) และที่มีการตรวจพบว่ามีสารภูมิต้านทานในเลือดชนิดที่ชื่อว่า Antinuclear antibody ย่อว่า ANA

อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ยาเบลิมูแมบในการรักษาโรคเอสแอลอีในผู้ป่วยที่มีภาวะไตอักเสบช่วงโรคเอสแอลอี/โรคลูปัสกำเริบรุนแรง (Severe active lupus nephritis) หรือ ผู้ป่วยกำลังมีภาวะระบบประสาท/ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีกำเริบรุนแรง (Severe active central nervous system lupus/SLE) จนทำให้ระบบประสาทถูกทำลาย รวมถึงไม่แนะนำให้ใช้ยาเบลิมูแมบในผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide: ยากดภูมิคุ้มกัน)อยู่ หรือได้ยากลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดีชนิดอื่น เนื่องจาก ยังไม่มีการศึกษาข้อมูลการใช้ยาเบลิมูแมบในกรณีที่กล่าวมาข้างต้น

อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่อาจพบได้ในช่วงที่ผู้ป่วยกำลังบริหาร/ได้รับยาเบลิมูแมบผ่านทางหลอดเลือดดำ เรียกว่า “ ปฏิกิริยาหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ(Infusion related reaction)” ซึ่งสามารถป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้ โดยการให้ยาป้องกันอาการ (Premedication) คือยา พาราเซตามอล (Paracetamol: ยาลดไข้, ยาแก้ปวด), ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ก่อนการบริหารยาเบลิมูแมบแก่ผู้ป่วยอย่างน้อยประมาณ 30 นาที เพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่กล่าวข้างต้น อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย มีไข้ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ซึมเศร้า รู้สึกระวนกระวาย/กระสับกระส่าย

ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้ ควรติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษาด้วยตนเองด้วย และต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นก่อนวันแพทย์นัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ยาเบลิมูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบลิมูแมบ

ยาเบลิมูแมบเป็นยาในกลุ่มโมโนโครนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody) ใช้สำหรับการรักษาโรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus, SLE) โดยใช้เป็นยาเสริมที่ใช้ในผู้ป่วยกำลังได้รับการรักษาเอสแอลอีด้วยยาสูตรมาตรฐานปัจจุบันอยู่ ยานี้ถูกใช้ในช่วงที่โรคเอสแอลอีกำเริบ และตรวจพบว่ามีสารภูมิต้านทาน Antinuclear antibody (ANA)ในเลือด

ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ใช้ยาเบลิมูแมบในการรักษาโรคเอสแอลอีในผู้ป่วยที่มีภาวะไตอักเสบ ในช่วงโรคเอสแอลอี/โรคลูปัสช่วงกำเริบรุนแรง หรือ ในผู้ป่วยที่มีภาวะแทรก ซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี รวมถึงไม่แนะนำให้ใช้ยาเบลิมูแมบในผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)อยู่ หรือได้รับยากลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดีอื่นๆ เนื่องจาก ยังไม่มีการศึกษาข้อมูลการใช้ยาเบลิมูแมบในกรณีที่กล่าวมาข้างต้น

ยาเบลิมูแมบมีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบลิมูแมบเป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคเอสแอลอี เป็นยาในกลุ่มโมโนโครนอล แอนติบอดีของมนุษย์ (Human IgG1 Monoclonal antibody) ซึ่งถูกสังเคราะห์ขึ้นด้วยวิธีการทางการตัดต่อยีนส์/จีน/Gene (Recombinant DNA derived) ยาเบลิมูแมบนี้ เป็นยาตัวแรกในกลุ่มยาใหม่ ชื่อว่า “B-lymphocyte stimulator-specific inhibitors/ยาต้านการทำงานของเม็ดเลือดขาว ย่อว่า “(BLyS-specific inhibitors)”

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบลิมูแมบ คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์สกัดกั้นการเกาะกันระหว่างสาร B-lymphocyte stimulator protein (BlyS) กับ ตัวรับ(Receptor)บนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า “บีเซลล์ (B cells)” ซึ่งมีผลลดการการเจริญเปลี่ยนแปลง (Differentiation)ของบีเซลล์ไปเป็นพลาสมาเซลล์(Plasma cell, เป็นเซลล์ที่มีผลในการผลิตสารอิมมูโนโกลบูลิน/Immunoglobulin ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตอบสนองทางภูมิคุ้มกั/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย)

ดังนั้น เมื่อยาเบลิมูแมบเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าเกาะกับ BlyS และมีผลขัดขวางการดำรงอยู่ของ B cells จนทำให้การทำงานของบีเซลล์ในร่างกายลดน้อยลง ส่งผลทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของบีเซลล์ที่มากเกินไป ลดลง

ยาเบลิมูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยาเบลิมูแมบ คือ

  • ผงยาปราศจากเชื้อสำหรับบริหาร/ให้ยาทางหลอดเลือดดำ (Powder for reconstitution) บรรจุในภาชนะแก้ว โดยมีความแรง 120 มิลลิกรัมต่อขวด และ 400 มิลลิกรัมต่อขวด

ยาเบลิมูแมบมีวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาเบลิมูแมบมีรูปแบบยาเป็นผงยาปราศจากเชื้อ (Lyophilized powder) บรรจุในขวดแก้ว สำหรับบริหารทางหลอดเลือดดำ เป็นยาที่มีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น

ขนาดยาเบลิมูแมบสำหรับการรักษาโรคเอสแอลอีในผู้อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป(ยังไม่มีการับรองให้ใช้ยานี้ได้ในเด็ก/ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี) เช่น 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวผู้ป่วย 1กิโลกรัม ความถี่ในการบริหารยานี้ คือ บริหารยานี้ ครั้งละ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 2 สัปดาห์ เป็นจำนวน 3 ครั้ง จากนั้นบริหารยานี้ทุกๆ 4 สัปดาห์ (ภายหลังผู้ป่วยได้รับยาครบแล้ว 3 ครั้ง) ทุก 2 สัปดาห์จึงครบเทอมของการรักษา

ทั้งนี้ วิธีบริหารยาเบลิมูแมบ จะให้ยานี้ผ่านทางหลอดเลือดดำ (Intravenous administration) โดยบริหารยาเป็นเวลานานครั้งละมากกว่า 1 ชั่วโมง และผู้ป่วยควรได้รับยาป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างได้รับยา (Premedication) ด้วยยาพาราเซตามอล และยาแก้แพ้ ก่อนบริหารยาเบลิมูแมบอย่างน้อย 30 นาที เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเบลิมูแมบ

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

*อนึ่ง คำแนะนำในการละลายผงยาเบลิมูแมบเพื่อการบริหารยา มีขั้นตอน ดังนี้

1. เตรียมขวดยาที่บรรจุผงยาเมลิมูแมบเพื่อบริหารยา ออกจากตู้เย็น ตั้งทิ้งไว้ ณ อุณหภูมิห้องเป็นเวลานานประมาณ 10 – 15 นาที

2. ทำการละลายผงยาเบลิมูแมบด้วยน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ(Sterile water for injection) โดยเตรียมน้ำกลั่นปริมาตร 1.5 มิลลิลิตร สำหรับยาฉีดเบลิมูแมบขนาด 120 มิลลิกรัม และน้ำกลั่นปริมาตร 4.8 มิลลิลิตร สำหรับยาฉีดเบลิมูแมบขนาด 400 มิลลิกรัม โดยดูดน้ำกลั่นปริมาตรที่ต้องการเข้าในกระบอกฉีดยาด้วยเข็มฉีดยา

3. วางขวดยาเบลิมูแมบให้ตั้งขึ้นบนพื้นที่เตรียมยาที่มีลักษณะราบ เสียบเข็มและฉีดน้ำกลั่นปราศจากเชื้อสำหรับยาฉีดเข้าสู่ขวดยา ด้วยเทคนิคปลอดเชื้อมาตรฐาน ฉีดน้ำกลั่นปราศจากเชื้อลงในขวดยาโดยฉีดเข้าข้างๆในขวดบรรจุผงยา เพื่อป้องกันผงยา เกิดเป็นเจล/Gelเหนียว

4. ตั้งขวดยาดังกล่าวให้ตรง แล้วแกว่งขวดยาไปรอบๆเป็นแนววงกลมอย่างแรง (อย่าเขย่ายาขึ้นๆลงๆ) ประมาณ 1 นาที เพื่อทำให้ผงยาเปียก

5. ในระหว่างนี้ แกว่งขวดยาไปรอบๆเป็นแนววงกลมอย่างสม่ำเสมอ 5 – 10 วินาที ในทุกๆ 5 นาที เพื่อช่วยให้ผงยาละลายได้เร็วขึ้น

บางกรณีอาจใช้เวลาละลายผงยานานถึง 30 นาที หากเป็นเช่นนั้น ให้ทำขั้นตอนที่ 4 ซ้ำจนเจล หรือ เมือกของยาละลายหายไป โดยห้ามใช้ หากผงยาไม่สามารถละลายจนเป็นสารละลายที่เป็นเนื้อเดียวกัน

6. จากนั้นนำสารละลายยาที่มีลักษณะใสเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ไปเจือจางต่อในสารน้ำ ต่อไปนี้ NSS (0.9% NaCl), 0.45% NaCl, Lactated Ringer solution ปริมาตร 250 มิลลิลิตร จึงจะได้สารละลายยาที่มีความเจือจางเหมาะสมสำหรับการบริหารยานี้แก่ผู้ป่วยต่อไป

ภายหลังการเจือจางผงยาเบลิมูแมบ สารละลายดังกล่าวจะคงสภาพได้ 8 ชั่วโมงที่อุณหภูมิตู้เย็น (อุณหภูมิประมาณ 2 – 8 องศาเซลเซียส/Celsius) ดังนั้นควรบริหารสารละลายยาเบลิมูแมบให้เหมาะสมกับเวลาที่กำหนด หากสารละลายดังกล่าวมีระยะเวลานานเกินกว่าระยะเวลาที่แนะนำไว้ ควรทิ้งยาดังกล่าวไป

7. วิธีการบริหารยานี้ คือ บริหารสารละลายยาฉีดเบลิมูแมบเข้าทางหลอดเลือดดำโดยให้ยาเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ห้ามให้ยาโดยการฉีดแบบ IV push เด็ดขาด และผู้ป่วยควรได้รับยาป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ ด้วยยาป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (Premedication)ก่อน เพื่อให้การบริหารยาของผู้ป่วยปลอดภัย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบลิมูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะเบลิมูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจาก ยาเบลิมูแมบอาจมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ จนอาจก่อให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยาเบลิมูแมบ ถูกขับออกทางน้ำนม จึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยารุนแรงแก่บุตรได้

หากลืมไปรับยาเบลิมูแมบควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยลืมไปรับยาเบลิมูแมบตามตารางการได้รับยาที่กำหนด ผู้ป่วยควรต้องรีบติดต่อโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาโดยทันที เพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยาดังกล่าวให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาด้วยยาเบลิมูแมบ

ยาเบลิมูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยาเบลิมูแมบ ที่อาจพบได้ในช่วงที่ผู้ป่วยกำลังบริหารยาเบลิมูแมบผ่านทางหลอดเลือดดำ เรียกว่า Infusion related reaction โดยอาการจะเกิดขึ้นช่วง 30 – 60 นาทีแรกนับจากเริ่มการให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำ และมักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกของการรักษา อาการที่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน อาการคันตามตัว หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ปวดศีรษะ ท้องเสีย หายใจไม่อิ่ม/หายใจลำบาก หรือความดันโลหิตตก/ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลีย ใบหน้าบวม โดยปฏิกิริยานี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มได้รับยานี้ และครั้งถัดไปก็สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีก บางครั้งอาการขึ้นผื่น คลื่นไส้ ปวดหัว ใบหน้าบวม รู้สึกอ่อนเพลียสามารถปรากฏได้นานถึงเป็นสัปดาห์หลังการบริหารยานี้ ซึ่งทั่วไปแล้วสามารถป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้ โดยการให้ยาป้องกันอาการดังกล่าวก่อนการเริ่มให้ ยาเบลิมูแมบ เรียกวิธีการป้องกันนี้ว่า การให้ “Premedication” โดยมียาป้องกัน คือ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol), ยากลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine) ก่อนการให้ ยาเบลิมูแมบ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยที่กำลังได้รับการบริหารยาเบลิมูแมบ ควรได้รับการติดตามจากแพทย์อย่างใกล้ชิดช่วงที่ได้รับยา 2 ครั้งแรก

อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆจากยาเบลิมูแมบที่พบได้บ่อย เช่น

  • อาการที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย
  • อาการทางระบบประสาท เช่น มีไข้ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ซึมเศร้า รู้สึกระวนกระวาย/กระสับกระส่าย และ
  • อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่มักไม่ร้ายแรง เช่น ปวดตามแขนขา, โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน, เยื่อจมูกอักเสบ, คออักเสบ, หลอดลมอักเสบ, และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบลิมูแมบย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบลิมูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้ โดยเฉพาะมีประวัติการแพ้ยาที่สังเคราะห์มาจากโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody)มาก่อน
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
  • การได้รับวัคซีนต่างๆในช่วงที่กำลังได้รับยาเบลิมูแมบถือเป็นข้อห้าม เนื่องจาก วัคซีนที่ได้รับ อาจมีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย อาจเพิ่มโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อได้
  • การใช้ยาเบลิมูแมบในเด็ก/ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18ปี: ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ยานี้ได้ในเด็ก/ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • การใช้ยาเบลิมูแมบในผู้สูงอายุ: ไม่มีข้อมูลการปรับขนาดยาเบลิมูแมบในผู้ป่วยสูงอายุ ดังนั้นทั่วไป แพทย์จึงพิจารณาขนาดยานี้ตามขนาดยาของผู้ป่วยผู้ใหญ่
  • ระมัดระวังการใช้ยาเบลิมูแมบในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับหรือของไตบกพร่อง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิธีการปรับขนาดยานี้ หรือขนาดยานี้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับหรือของไตบกพร่อง
  • ยาเบลิมูแมบมีผลทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา แพทย์จึงอาจพิจารณาเลื่อนตารางเวลาการให้ยาของผู้ป่วย โดยพิจารณาตามความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC) และสภาวะและอาการต่างๆทางคลินิกของผู้ป่วย
  • การใช้ยาเบลิมูแมบในช่วงกำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจาก ยามีผลพิษต่อทารกในครรภ์จนอาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ และหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยังไม่มีการศึกษาว่ายานี้ถูกขับออกทางน้ำนมหรือไม่ ซึ่งหากยาถูกขับออกทางน้ำนมจริง อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่รุนแรงแก่บุตรได้ ดังนั้น แพทย์จะพิจารณา ให้ผู้ป่วยที่เป็นมารดหยุดให้นมบุตรหากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่ หรือหยุดการใช้ยานี้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของมารดาต่อภาวะโรคที่กำลังเป็นอยู่ โดยการใช้ยานี้ จะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวม ยาเบลิมูแมบ ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเบลิมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบลิมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบลิมูแมบ คู่กับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live vaccine หมายถึง วัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้นๆ (เช่น วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) แก่ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ การฉีดวัคซีนดังกล่าว จึงอาจได้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้ ทั้งนี้หากจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเชื้อเป็น ควรพิจารณาฉีดวัคซีนเชื้อเป็นห่างจากการได้รับยาเบลิมูแมบครั้งสุดท้ายประมาณ 30 วันเป็นอย่างต่ำ

2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบลิมูแมบ คู่กับยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกันของร่างกายชนิดอื่นๆ เนื่องจากการใช้ยาที่มีผลแบบเดียวกันร่วมกันหลายชนิด จะทำให้เกิดการกดภูมิคุ้มกันมากเกินไปจนอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้(เช่น การติดเชื้อต่างๆอย่างรุนแรง) เช่น การใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดตัวอื่นๆ ยาในกลุ่มโมโนโครนอล แอนติบอดีอื่นๆ และยา กลุ่มกดภูมิคุ้มกันอื่นๆ

ควรเก็บรักษายาเบลิมูแมบอย่างไร?

แนะนำเก็บยาเบลิมูแมบในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส/Celsius) เก็บยาให้พ้นจากแสง/แสงแดด ห้ามแช่ยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ระวังวิธีการขนส่งยาโดยขนส่งด้วยความระมัดระวัง

ภายหลังการเจือจางยาฉีดเบลิมูแมบเพื่อบริหารยาแก่ผู้ป่วย สารละลายยาที่เจือจางแล้วจะคงสภาพได้ 8 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง ดังนั้นการบริหารยาดังกล่าวควรทำให้เสร็จภายใน 8 ชั่วโมง หากยาฉีดที่เจือจางแล้วมีระยะเวลาเกิน 8 ชั่วโมง ควรทิ้งยาดังกล่าวไป

ยาเบลิมูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบลิมูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
BenlystaGlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. Hahn, BH. Belimumab for Systemic Lupus Erythematosus. The New England Journal of Medicine,2013.