ยาเขียว (Green Medicine)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 3 กุมภาพันธ์ 2557
- Tweet
ยาเขียวเป็นตำรับยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน ที่มีการใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นตำรับที่ยังมีการผลิตขายทั่วไปตราบจนปัจจุบัน
ประชาชนในสมัยก่อน มักใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส เพื่อกระทุ้งให้พิษไข้ออกมา เพื่อให้เป็นผื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้โรคหายได้เร็วขึ้น
ตำรับยาเขียว มีส่วนประกอบของพืชที่ใช้ส่วนของใบเป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้ยามีสีค่อน ข้างไปทางสีเขียว จึงทำให้เรียกกันว่า “ยาเขียว”
ใบไม้ที่ใช้ในยาเขียว ส่วนใหญ่ มีสรรพคุณ เป็นยาเย็น หอมเย็น หรือ บางชนิดมีรสขม เมื่อประกอบเป็นตำรับแล้ว จัดเป็นยาเย็น ทำให้ตำรับยาเขียวส่วนใหญ่มีสรรพคุณ ดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ (มีของเสีย) ซึ่งตามความหมายของการแพทย์แผนไทยนั้น หมายถึงการที่เลือดมีพิษและความร้อนสูงมาก จนต้องระบายทางผิวหนัง เป็นผลให้ผิวหนังเป็นผื่น หรือ ตุ่ม เช่นที่พบในไข้ออกผื่น หัด อีสุกอีใส เป็นต้น
ตำรับยาเขียวที่พบในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ (หนังสือบันทึก ภูมิปัญญาทางการ แพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ เป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำและจัดพิมพ์ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ โดยได้รวบรวมคัมภีร์แพทย์ ครั้ง ร.ศ. 126 และ ร.ศ. 128 ซึ่งได้ตรวจสอบรับรองโดยคณะแพทย์หลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) มีบันทึกไว้ 3 ตำรับ ได้แก่
- ยาเขียวมหาพรหม สำหรับแก้โลหิตพิการ ซึ่งทำพิษให้ร้อนทั่วสรรพางค์กายดังเปลวไฟ ยานี้แก้ได้สิ้นทุกอัน
- ยาเขียวน้อย ไม่มีการระบุว่ารักษาอะไร
- และ ยาเขียวประทานพิษ เป็นยาแก้ลมต่างๆ
ส่วนตำรับยาเขียวหอม (เป็นคนละชนิดกับยาเขียวทั้ง 3 ชนิดข้างต้น) เป็นชนิดที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556
อนึ่ง พบว่าใบไม้ที่ใช้ในยาเขียว มีมากมายหลายชนิด เช่น ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ใบพรมมิ ใบสันพร้าหอม ใบบอระเพ็ด ใบชิงช้าชาลี ใบมะระ ใบสะเดา ใบน้ำ เต้า ใบหนาด ใบกะเม็ง ใบแคแดง ใบทองหลาง ใบมน ใบมะเฟือง ใบนมพิจิตร ใบแทงทวย ใบพริกไทย ใบน้ำเต้าขม ใบปีบ ใบย่านาง ใบเท้ายายม่อม ใบหญ้าน้ำดับไฟ ใบระงับ ใบตำลึงตัวผู้ ใบฟักข้าว ใบถั่วแระ ใบระงับพิษ ใบเสนียด ใบอังกาบ ใบสะค้าน ใบดีปลี ใบมะตูม ใบสมี ใบลำพัน ใบสหัศคุณ ใบกระวาน ใบผักเสี้ยน ใบเถาวัลย์เปรียง ใบผักกาด ใบคนทีสอ ใบมะนาว ใบมะคำไก่ ใบมะยม ใบมะเฟือง ใบสลอด ใบขี้หนอน ใบสมี ใบขี้เหล็ก ใบผักเค็ด ใบพุมเรียง
ทั้งนี้ “ยาเขียวหอม” ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556 ประ กอบด้วย
- ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ซึ่งมีรสเย็น แก้ไข้
- ซึ่งตัวยาเย็นอื่นๆที่มิใช่ส่วนของใบ เช่น รากแฝกหอม มหาสดำ ดอกพิกุล สารภี เกสรบัวหลวง ว่านกีบแรด เนระพูสี
- โดยตัวยาแก้ไข้ที่มีรสขม เช่น จันทน์แดง พิษนาศน์
และเนื่องจากยาแผนไทยเป็นยารักษาโดยองค์รวม ดังนั้นจึงพบตัวยาสรรพคุณอื่นๆด้วย เช่น
- ตัวยารสสุขุม เพื่อควบคุมร่างกายมิให้เย็นจนเกินไป เช่น ใบสันพร้าหอม บุนนาค
- พร้อมกับตัวยาช่วยปรับการทำงานของธาตุลม เช่น จันทน์เทศ เปราะหอม ว่านร่อนทอง
อย่างไรก็ดี ในสูตรตำรับยาเขียวหอมที่บรรจุในประกาศบัญชียาสามัญประจำบ้านฉบับล่าสุด ได้ตัดไคร้เครือ ออกจากตำรับ เนื่องจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่าไคร้เครือที่ใช้ เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002
การใช้ยาเขียวหอม บรรเทาอาการ ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ ควรใช้น้ำกระสายยา เพื่อช่วยละ ลายตัวยา ทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น เช่น น้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้ให้เย็น หรือ น้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสาย เพื่อให้ยาออกฤทธิ์แรงขึ้น ด้วยเหตุว่าน้ำดอกมะลิ มีรสหอมเย็น ช่วยเสริมฤทธิ์ของยาได้
ในภาพรวม ยาเขียว ยังใช้เป็นยา แก้ไข้ ออกผื่น/ขึ้นผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งโดยวิธีกินและทายา โดยละลายยา ด้วยน้ำรากผักชีต้ม
ในปี 2548 มีการศึกษาฤทธิ์ของยาเขียวที่มีในท้องตลาด 3 ยี่ห้อ ในการยับยั้งเชื้อไวรัส Varicella zoster ที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส และงูสวัด ซึ่งผลปรากฏว่า ยาเขียวทั้ง 3 ยี่ห้อ ไม่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว
อันที่จริงการใช้ยาเขียวในโรคไข้ออกผื่นในแผนไทย ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส แต่ต้องการกระทุ้งพิษที่เกิดขึ้นให้ออกมามากที่สุด ผู้ป่วยจะหายได้เร็วขึ้น ผื่นไม่หลบใน หมายถึงไม่เกิดผื่นภายในร่างกาย ดังนั้นจึงมีหลายคนที่กินยาเขียวแล้ว จะรู้สึกว่ามีผื่นมากขึ้นจากเดิม แพทย์แผนไทยจึงแนะนำให้ใช้ทั้งวิธีกินและชโลม โดยการกินจะช่วยกระทุ้งพิษภายในให้ออกมาที่ผิวหนัง และการชโลมจะช่วยลดความร้อนที่ผิว
แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนคำแนะนำนี้ อีกทั้งยังไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้ยาเขียวในผู้ป่วยไข้ออกผื่น หรืออาการไข้ธรรมดา แต่การที่มีการใช้ตั้งแต่โบราณ น่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่งว่า การใช้ยาเขียวน่าจะบรรเทาอาการไข้ออกผื่นได้ไม่มากก็น้อย
อนึ่ง ยาเขียวหอมเป็นตำรับที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้าน และบัญชียาสมุนไพรที่เป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ยาเขียวเป็นยาที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน จนเป็นที่ยอมรับ
การใช้ยาเขียวสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา ซึ่งอาจจะยาวนานกว่าสมัยกรุงรัตนโก สินทร์ ก็น่าจะไว้วางใจในความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง และหากเรานำมาใช้อย่างผสมผสานกับการ แพทย์แผนปัจจุบัน โดยพิจารณาจากคนไข้ จะทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ มากกว่าการหวังพึ่งการ แพทย์เพียงแผนใดแผนหนึ่งเพียงอย่างเดียว
เนื่องจากตำรับยาเขียวมีองค์ประกอบเป็นดอกไม้ 4 ชนิด ได้แก่ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวง ซึ่งมีละอองเรณูผสมอยู่ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีประวัติการแพ้ละอองเกสรดอกไม้
นอกจากนี้ ยังไม่เคยมีรายงานความปลอดภัยในกลุ่มคนไข้โรคไข้เลือดออก อีกทั้งสมุน ไพรบางชนิด มีรายงานการยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด หรือ สามารถละลายลิ่มเลือดได้ เช่น พรมมิ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคเลือด, ในผู้ป่วยที่กินยาแผนปัจจุบันที่ต้านการแข็งตัวของเลือด, และเพื่อความปลอดภัยจึง “ไม่ควรใช้” ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่อง จากอาจบดบังอาการของโรค หรืออาจทำให้โรครุนแรงขึ้นได้
สรุปได้ว่า ยาเขียวเป็นยาที่ใช้กันมานาน และเป็นมรดกทางการแพทย์แผนไทยที่ควรสืบทอด พร้อมกับศึกษาทางคลินิก หรือการรวบรวมข้อมูลการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อการใช้ประ โยชน์อย่างเต็มที่ต่อไป
ยาเขียวหอม
ก. ส่วนประกอบ: ในผงยาเขียวหอม 90 กรัม ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้หมากเมีย ใบสันพร้าหอม รากแฝกหอม หัวเปราะหอม แก่นจันทน์เทศ หรือ แก่นจันทน์ชะ มด แก่นจันทน์แดง ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง เนระพูสี พิษนาศน์ มหาสดำ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง หนักสิ่งละ 5 กรัม
ข. ข้อบ่งใช้: ใช้บรรเทาอาการ ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ แก้พิษโรคหัด พิษโรคอีสุกอีใส
ค. ขนาดและวิธีใช้
1.ชนิดผง: ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ, เด็กอายุ 6 – 12 ปี ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
อนึ่งน้ำกระสายยาที่ใช้ทั้งรับประทาน และชโลม
- กรณีบรรเทาอาการไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ ใช้น้ำสุก หรือน้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสายยา
- กรณีแก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส ละลายน้ำรากผักชีต้ม เป็นน้ำกระสายยา
หมายเหตุ การชโลม โดยใช้ยาผงละลายน้ำ โดยใช้ยา 1 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน แล้วชโลม (ประพรม) ทั่วตามตัวในบริเวณที่ตุ่มใสยังไม่แตก
2. ชนิดเม็ด: ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ,
เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
ง. ข้อควรระวัง
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
- ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่า เป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก, ในผู้ป่วยโรคเลือด และในผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้
- หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
หมายเหตุ
ยาเขียว
- ไม่มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันถึงความปลอดภัยชัดเจน ดังนั้น การที่จะใช้ยาเขียวเมื่อตั้ง ครรภ์ หรือให้นมบุตร จึงควรปรึกษาแพทย์ และ/หรือเภสัชกร ก่อนการใช้ยาเสมอ
- ข้อมูลเพิ่มเติม ทางการแพทย์แผนไทยแนะนำให้ผู้ป่วย หัด อีสุกอีใส ห้ามรับประทานอาหารทะเล ไข่ และน้ำเย็น เนื่องจากผิดสำแดง (อาจส่งผลให้โรครุนแรงขึ้น)
- ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณ/ยาแผนไทยทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=156 [2014,Jan24].
- http://www.thaiherbclub.com/showclassified.asp?chap_id=51 [2014,Jan24].
- http://www.samunpri.com/?page_id=1430 [2014,Jan24].
- http://www.l3nr.org/posts/448220 [2014,Jan24].