ยาอีโพอิติน อัลฟ่า (Epoetin alfa)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

อีโพอิติน อัลฟ่า (Epoetin alfa) คือ ยาฮอร์โมนที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อไกลโคโปรตีน (Glycoprotein)ของมนุษย์ ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาภาวะโลหิตจางจากโรคไตเรื้อรัง ยานี้เรียกสั้นๆว่า ยา’อีโพอิติน (Epoetin)’

ยาอีโพอิติน อัลฟ่าถูกผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีตัดต่อสารพันธุกรรม (Recombinant DNA technology) และได้รับการรับรองให้นำมาใช้รักษาโรคได้จากองค์กรของยุโรปที่มีชื่อว่า European Medicines Agency เมื่อปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550)

ยาอีโพอิติน อัลฟ่ายังถูกนำไปใช้ฟื้นฟูโรคซีดในผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยวิกฤตที่ได้รับบาดแผลสาหัสและมีภาวะโลหิตจางตามมา นอกจากนี้ยังมีการนำอิโพอิติน อัลฟ่าไปฟื้นฟูโรคของเส้นประสาทสมองของเด็กที่มีการติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่น ด้วยเหตุที่ตัวปรสิตมาลาเรีย ไปอุดกั้นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณสมองของผู้ป่วย ซึ่งจากผลงานวิจัยพบว่า อิโพอิติน อัลฟ่าสามารถฟื้นฟูและช่วยชีวิตผู้ป่วยสาเหตุนี้ได้

สำหรับการบริหารยา/การใช้ยาอีโพอิติน อัลฟ่ากับผู้ป่วย ต้องใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดใต้ผิวหนังเท่านั้น ยังไม่มียาชนิดรับประทาน ซึ่งหลังยานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาส่วนใหญ่จะถูกพบในอวัยวะตับ ไต และไขกระดูก และจะถูกขับออกทางอุจจาระ ส่วนน้อยจะผ่านไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาอิโพอิติน อัลฟ่าลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย แต่ก็ยังมีบางสูตรตำรับที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาควบคุมพิเศษ ยานี้มีใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้จากตามร้านขายยาทั่วไป

อีโพอิติน อัลฟ่ามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาอีโพอิตินอัลฟ่า

ยาอีโพอิติน อัลฟ่ามีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ บำบัดรักษาภาวะโลหิตจาง/ โรคซีด ในกลุ่มผู้ป่วยดังต่อไปนี้ เช่น

  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
  • โรคเอชไอวีที่ได้รับยา Zidovudine
  • เพื่อเตรียมและเพิ่มปริมาณเลือดของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัดล่วงหน้าประมาณ 3 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง
  • ฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยด้วยโรค ไข้จับสั่น/ มาลาเรียขึ้นสมอง (ยังอยู่ในระดับการวิจัย)

อีโพอิติน อัลฟ่ามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีโพอิติน อัลฟ่า คือ ตัวยาจะเข้าไปเพื่อเพิ่มหรือทดแทนฮอร์โมน ชื่อ Erythropoetin จากไต (ที่ทำหน้าที่ช่วยไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง) ที่ไตไม่สามารถผลิตได้อีก หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ และจะคอยกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดแดงให้กับร่างกาย

อีโพอิติน อัลฟ่ามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

อีโพอิติน อัลฟ่ามีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ขนาดความแรง 2,000 4,000 10,000 40,000 ยูนิต/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดพรีฟิล (Pre-filled injection, ตัวยาบรรจุในหลอดฉีดยาพร้อมฉีดได้เลย) ขนาดความแรง 3,000 4,000 10,000 40,000 ยูนิต/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดพรีฟิล (Pre-filled injection) ขนาดความแรง 2,000 5,000 20,000 ยูนิต/0.5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดพรีฟิล (Pre-filled injection) ขนาดความแรง 3,000 ยูนิต/0.3 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดพรีฟิล (Pre-filled injection) ขนาดความแรง 30,000 ยูนิต/0.75 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดพรีฟิล (Pre-filled injection) ขนาดความแรง 4,000 ยูนิต/0.4 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดพรีฟิล (Pre-filled injection) ขนาดความแรง 6,000 ยูนิต/0.6 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดพรีฟิล (Pre-filled injection) ขนาดความแรง 8,000 ยูนิต/0.8 มิลลิลิตร

อีโพอิติน อัลฟ่ามีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยา อีโพอิติน อัลฟ่า ให้ใช้ตามคำแนะนำจากเอกสารกำกับยาและดุลพินิจของแพทย์ โดยขนาดและปริมาณยาที่ใช้จะขึ้นกับอาการโรคซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยประกอบกัน แพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้กำหนดแนวทางและเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยว่าดีขึ้นหรือไม่

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีโพอิติน อัลฟ่า ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีโพอิติน อัลฟ่าอาจส่งผล ให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

อีโพอิติน อัลฟ่ามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีโพอิติน อัลฟ่าอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ปวดหัว
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีอาการชักเกิดขึ้น
  • เกิดการอุดตันของหลอดเลือดจากเกิดลิ่มเลือด
  • ปริมาณเกล็ดเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • มีกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • มีอาการหนาวสั่นเหมือนเป็นไข้จับสั่น/มาลาเรีย
  • มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง อาการเช่น อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ผื่นคัน และ
  • การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้ไขกระดูกหยุดการสร้างเม็ดเลือดแดง

มีข้อควรระวังการใช้อีโพอิติน อัลฟ่าอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้อีโพอิติน อัลฟ่า เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีประวัติโรคลมชัก ผู้ที่มีภาวะตับวายเรื้อรัง ผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดตีบตัน
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องคอยควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย รวมถึงจำนวนเกล็ดเลือดและ ระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดให้เป็นปกติเสมอ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีโพอิติน อัลฟ่าด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อีโพอิติน อัลฟ่ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีโพอิติน อัลฟ่ามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอิโพอิติน อัลฟ่าร่วมกับยารักษามะเร็งบางตัว เช่นยา Lenalidomide สามารถเกิดความเสี่ยงของการอุดตันของหลอดเลือดจากเกิดลิ่มเลือด การใช้ยาร่วมกันต้องประเมินผลดีผลเสียโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนการใช้ยาร่วมกันทุกครั้ง
  • การใช้ยาอิโพอิติน อัลฟ่าร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่นยา Cyclosporine อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยา Cyclosporine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงของยากดภูมิคุ้มกันดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดยาให้กับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอิโพอิติน อัลฟ่าร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitors อาจรบกวนการสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกายผู้ป่วย การใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันจึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ควรเก็บรักษาอีโพอิติน อัลฟ่าอย่างไร?

ต้องเก็บรักษายาอีโพอิติน อัลฟ่า เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่งแข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด แสงสว่าง ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

อีโพอิติน อัลฟ่ามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีโพอิติน อัลฟ่า มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
EPIAO (อีพีไอเอโอ)Shenyang Sunshine Pharmaceutical
Epokine (อีโพคีเน)CJ Corp
Eporon (อีโพรอน)Dong-A Pharm
Eposis (อีโพซิส)Daewoong Pharma
Eprex (อีเพร็กซ์)Janssen-Cilag
Eritine (อีริไทน์)Intas Pharmaceuticals
Eritrogen (อีริโทรเจน)Ranbaxy
Espogen (เอสโพเจน)LG Life Sciences
Hema-Plus (ฮีมา-พลัส)Apexcela
Hemapo (ฮีมาโพ)Shandong Kexing Bioproducts
Hemax (เฮแม็กซ์)Bio Sidus
Renogen (เรโนเจน)Great Eastern

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Epoetin_alfa [2021,Sept18]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/epoetin%20alfa?mtype=generic [2021,Sept18]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Eprex/?type=brief [2021,Sept18]
  4. https://www.drugs.com/mtm/epoetin-alfa.html [2021,Sept18]