ยาต้านไวรัสรีเวอร์สทรานคริปเทสอินฮิบิเตอร์ หรือยาอาร์ทีไอ (Reverse-transcriptase inhibitors: RTIs)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสอาร์ทีไออย่างไร?
- ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสอาร์ทีไออย่างไร?
- ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
บทนำ
ยาต้านไวรัสกลุ่มยารีเวอร์ส ทรานคริปเทส อินฮิบิเตอร์ (Reverse-transcriptase inhibitors) หรือย่อว่า ‘อาร์ทีไอ (RTI)’ ถูกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อเอขไอวี และในบางกรณีถูกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-บีอีกด้วย สามารถแบ่งยาในกลุ่มนี้ได้อีก 3 กลุ่มย่อยคือ
1. Nucleoside analog reverse-transcriptase inhibitors: ประด้วยตัวยาต่างๆ เช่น Zidovudine, Didanosine, Zalcitabine, Stavudine, Lamivudine, Abacavir, Emtricitabine, Entecavir
2. Nucleotide analog reverse-transcriptase inhibitors: ประด้วยตัวยา Tenofovir, Adefovir
3. Non-nucleoside reverse-transcriptase inhibitors: ประด้วยตัวยา Efavirenz, Nevirapine, Delavirdine, Etravirine, Rilpivirine
หมายเหตุ: Nucleoside และ Nucleotide เป็นสารที่เป็นส่วนประกอบในสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ/RNA และ ดีเอ็นเอ/DNA ทั้งคู่ โดยต่างกันที Nucleoside ไม่มีสาร Phosphate, แต่ Nucleotide มี
ทั้งนี้ กลุ่มยาเหล่านี้ไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นโดยการลดจำนวนไวรัสเอดส์ในร่างกายให้น้อยลงรวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต
ยาส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ขึ้นทะเบียนยาในหมวดยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อการรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บรรเทาอาการป่วยของการติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์
- ใช้ป้องกันหลังการสัมผัสเลือดของผู้ป่วยโรคเอดส์
- ยาบางชนิดในยากลุ่มนี้ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบ บี เช่นยา Lamivudine
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านไวรัสอาร์ทีไอคือ ตัวยาจะทำให้ไวรัสเอดส์/ เอชไอวี ชะลอการแพร่พันธุ์ โดยมีกลไกที่เกี่ยวพันระหว่างสารพันธุกรรมของผู้ป่วยร่วมกับการขัดขวางการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาน้ำ ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาแคปซูล ขนาด 15, 20, 30, 100, 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาด 25, 125, 150, 200 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ด ชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยในกลุ่มยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย เช่น สภาพร่างกาย, โรคแทรกซ้อนที่เป็นอยู่, รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด, ดังนั้นการรับประทานจึงต้องเป็น ไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาต้านไวรัสอาร์ทีไออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวการณ์ ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้รักษาอาจมีการแนะนำการรับประทานในกรณีลืมรับประทานยาเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร
อนึ่ง การลืมรับประทานยาต้านไวรัสอาร์ทีไอบ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรง และอาจทำให้อาการโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการคลื่นไส้-อาเจียน
- ผื่นคัน
- ปวดหัว
- ท้องเสีย
- ตับอ่อนอักเสบ
- ปากคอแห้ง
- ท้องอืด
- อ่อนเพลีย
- ไตทำงานผิดปกติ
- ตับอักเสบ
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- จิตใจสับสน
- หงุดหงิด
- นอนไม่หลับ
- ซึมเศร้า
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสอาร์ทีไออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้อย่างเคร่งครัดและพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายตามกำหนดนัดหมายของแพทย์
- การใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ผู้รักษาว่าปลอดภัยหรือเหมาะสมเพียงใด
- ปกติทั่วไป หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะถูกห้ามการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไวรัสเอดส์จากน้ำนมมารดา แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยผลิตภัณฑ์นมที่มีจำหน่ายตามเกณฑ์มาตรฐานของอายุทารก
- หากการตอบสนองของร่างกายกับยาที่ได้รับไม่เป็นผลดีหรือพบอาการข้างเคียงอย่างมาก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการรักษาหรือเปลี่ยนยารับประทานที่เหมาะสม
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านไวรัสอาร์ทีไอด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ ร่วมกับ ยาลดกรด ควรต้องเว้นระยะเวลาของการรับประทานร่วมกัน กล่าวคือ ให้รับประทานยาลดกรดก่อนรับประทานยาต้านไวรัสอาร์ทีไอประมาณ 2 ชั่วโมง หรือรับประทานยาลดกรดหลังรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์ประมาณ 4 ชั่วโมงไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างยาซึ่งอาจมีผลต่อการรักษา
- การใช้ยาบางตัวในกลุ่มยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ ร่วมกับ ยาต้านเชื้อรา เช่นยา Fluconazole, Itraconazole สามารถเพิ่มความเป็นพิษกับตับ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำและปรับขนาดรับประทานตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ ร่วมกับ ยาโรคหัวใจ เช่นยา Calcium channel blockers แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานของยาโรคหัวใจดังกล่าว โดยพิจารณาจากการตอบสนองจากอาการในผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอบางตัว สามารถรบกวนประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด หากมีการใช้ยาร่วมกัน ควรต้องปรับวิธีการคุมกำเนิดให้เหมาะสม เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย หรือใช้ห่วงยางอนามัย(การใส่ห่วงคุมกำเนิด) ร่วมในการคุมกำเนิดด้วย
- มียารักษาโรคไวรัสตับอักเสบบางตัวที่ห้ามใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ อาทิเช่นยา Boceprevir, Simeprevir เป็นต้น
ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสอาร์ทีไออย่างไร?
สามารถเก็บยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาต้านไวรัสอาร์ทีไอ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Antivir (แอนทิเวียร์) | GPO |
Epivir (อีพิเวียร์) | GlaxoSmithKline |
GPO-Vir Z250 (จีพีโอ-เวียร์ ซีท250) | GPO |
Lamivir (ลามิเวียร์) | GPO |
Retrovir (เรโทรเวียร์) | GlaxoSmithKline |
Zovilam (โซวิแลม) | Mylan |
Videx EC (ไวเด็กซ์ อีซี) | Bristol-Myers Squibb |
Divir (ดิเวียร์) | GPO |
GPO-Vir S30 (จีพีโอ-เวียร์ เอส30) | GPO |
La-Stavir (ลา-สตาเวียร์) | GPO |
Stavir (สตาเวียร์) | GPO |
Baraclude (บาราคลูด) | Bristol-Myers Squibb |
Hepsera (เฮพเซรา) | GlaxoSmithKline |
Kivexa (คีเวซา) | GlaxoSmithKline |
Lahep (ลาเฮพ) | GPO |
Lamivudine Mylan (ลามิวูดีน มายแลน) | Mylan |
Truvada (ทรูวาดา) | Gilead |
Zeffix (เซฟฟิกซ์) | GlaxoSmithKline |
Ziagenavir (เซียจีนาเวียร์) | GlaxoSmithKline |
Atripla (อะทริพลา) | Gilead |
Ricovir-Em (ริโคเวียร์-อีเอ็ม) | Mylan |
Teno-Em (เทโน-อีเอ็ม) | GPO |
Viread (วีรีด) | Gilead |
Neravir (เนราเวียร์) | GPO |
Nevirapine Mylan (เนวิราพีน มายแลน) | Mylan |
Viramune (วีรามูน) | Boehringer Ingelheim |
Intelence (อินเทเลนซ์) | Janssen-Cilag |
Edurant (เอดูแรนท์) | Janssen-Cilag |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Reverse-transcriptase_inhibitor [2020,Dec19]
2 http://en.wikipedia.org/wiki/Discovery_and_development_of_non-nucleoside_reverse-transcriptase_inhibitors [2020,Dec19]
3 http://en.wikipedia.org/wiki/Nucleoside [2020,Dec19]
4 http://en.wikipedia.org/wiki/Nucleotide [2020,Dec19]
5 http://hivinsite.ucsf.edu/InSite?page=ar-05-01#S2.1X [2020,Dec19]
6 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2730100/ [2020,Dec19]
7 http://aidsinfo.nih.gov/guidelines/html/1/adult-and-adolescent-arv-guidelines/285/nnrti-drug-interactions [2020,Dec19]
8 https://www.thermofisher.com/order/catalog/product/EP0451#/legacy=www.thermoscientificbio.com [2020,Dec19]