ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด (Amoxicillin+Clavulanic acid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 ธันวาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด อย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด อย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด (Amoxicillin+Clavulanic acid) เป็นยาที่ถูกคิด ค้นมาเกือบ 40 ปีแล้ว ประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิดร่วมกัน
- โดยอะมอกซิซิลลิน ทำหน้าที่ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด
- ส่วนคลาวูลานิก เอซิด จะยับยั้งแบคทีเรียที่ดื้อหรือทนต่อยาอะมอกซิซิลลิน
อนึ่ง ได้มีการทดสอบการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์พบว่า ไม่ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อน จึงมีความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามการใช้ยา จำเป็นต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ ไม่สมควรซื้อยามารับประทานเอง
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- รักษาอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
- การติดเชื้อของผิวหนังและของเนื้อเยื่ออ่อน
- การติดเชื้อในกระดูก
- ต่อมทอนซิลอักเสบ
- ไซนัสอักเสบ
- หลอดลมอักเสบ
- หูชั้นกลางอักเสบ
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ท่อปัสสาวะอักเสบ
- โรคหนองใน
- และ การติดเชื้อทางทันตกรรม
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีกลไกการออกฤทธิ์โดย
- กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมอกซิซิลลิน คือ ยาจะไปทำลายผนังเซลล์ของเชื้อโรคจน ทำให้เชื้อโรคหยุดการแพร่พันธุ์
- ส่วนยาคลาวูลานิก เอซิด จะไปต่อต้านแบคทีเรียที่สามารถสร้างเอนไซม์ทำลายยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน/ยาอะมอกซิซิลลิน
ดังนั้น จากผลการทำงานร่วมกันดังกล่าว จึงเพิ่มประสิทธิภาพของยาตัวนี้ ในการลดและต่อต้านแบคทีเรียที่ดื้อต่อยากลุ่มเพนิซิลลิน
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีใช้ในวงการแพทย์ของยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีทั้ง ยาเม็ด ยาน้ำแขวนตะกอน และยาฉีด เช่น
- ยาเม็ดขนาด 1000, 625, 375 มิลลิกรัม
- ยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน ขนาด 1062.5 มิลลิกรัม
- ยาน้ำแขวนตะกอนขนาด 457, 228, 156 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
- ยาฉีดขนาด 600, 1200, 2200 มิลลิกรัม ต่อไวอัล (Vial/หลอด)
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีขนาดรับประทานอย่างไร?
สามารถรับประทานยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด ได้ทั้ง ก่อน และหลังอาหาร โดยเกณฑ์การใช้ของขนาดรับประทานแตกต่างกัน ดังนั้นการสั่งจ่ายยาตลอดจนถึงขนาดรับประทานต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
โดยขนาดรับประทานจะขึ้นกับ
- อาการของโรค
- น้ำหนักตัวผู้ป่วย
- อายุ
- และการใช้ยาอื่นร่วมด้วย
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด สามารถรับ ประทานเมื่อนึกขึ้นได้ และถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์จากยา หรือ ผลข้างเคียง (อาการข้างเคียง)ของยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด เช่น
- ผลข้างเคียงต่อระบบประสาท: เช่น เวียนศีรษะ/วิงเวียน ปวดศีรษะ มีอาการชักซึ่งอาจเกิดขึ้นได้สูงในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง หรือในผู้ที่ได้รับยานี้ในปริมาณที่สูง
- ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด อย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด คือ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ระวังการติดเชื้อราโดยเฉพาะเชื้อรา Candida ในระหว่างการใช้ยานี้
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ หากเกิดบาดแผล อาจทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้ากว่าปกติ ด้วยยามีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด
- หากต้องใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับขนาดการรับประทาน เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของไตผู้ป่วยในการกำจัดยาออกจากร่างกาย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
- ปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ ซึ่งรวมถึงในการใช้ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด ด้วย
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้ เช่น
- การรับประทานยานี้ ร่วมกับยารักษา โรคเกาต์ อาจก่อให้เกิดผื่นคันตามร่างกายและอาจลุก ลามถึงขั้นรุนแรง ซึ่งยารักษาโรคเกาต์ เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol)
- การรับประทานยานี้ ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด จะทำให้ร่างกายดูดซึมฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบในยาเม็ดคุมกำเนิดได้ลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดลดลงตามไปด้วย ดังนั้นระหว่างใช้ยานี้ควรใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์เสมอ
ควรเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด ดังนี้ เช่น
- สามารถเก็บยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด ทั้งชนิดรับประทานที่เป็นเม็ด/แคปซูลและชนิดฉีด ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ส่วนยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมน้ำแล้ว ต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
- เก็บยาทุกชนิดให้พ้นแสง/แสงแดด และความร้อน
- ไม่เก็บยาในที่ชื้น หรือในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาชื่อการค้าอื่นที่จำหน่ายในประเทศไทยของ ยาอะมอกซิซิลลิน+คลาวูลานิก เอซิด เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Augmentin (ออกเมนติน) | GlaxoSmithKline |
AMK (เอเอ็มเค) | NCPC, R.X. |
Amoksiklav (อะมอกซีคลาพ) | Sandoz |
Augclav (ออกคลาพ) | Pharmahof |
Curam (คูแรม) | Sandoz |