ยาหยอดหูเซรูมอล (Cerumol ear drops)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ในรูหู จะมีการผลิตสารที่มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งที่เกิดการจับตัวกันเป็นแผ่นตลอดจนเป็นก้อนเล็กๆ ซึ่งเราเรียกว่า “ขี้หู” หน้าที่ของ ขี้หู จะคอยป้องกันมิให้ น้ำ, วัตถุแปลกปลอม ที่มีขนาดเล็กๆ อย่างฝุ่นละออง รวมถึงเชื้อโรค หลุดเข้าไปทำอันตรายในหูชั้นกลางและในหูชั้นใน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคของหู) โดยธรรมชาติแล้ว หากมีขี้หูเกิดขึ้นมากๆ เนื้อของขี้หูจะค่อยๆหลุดลอกออกมาเอง แต่กรณีที่ขี้หูเกิดมากจนถึงขั้นอุดตันรูหู ในทางปฏิบัติต้องหลีกเลี่ยงการนำวัตถุมีคมหรือเป็นของแข็งมาแคะหู “ยาละลายขี้หู” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เช่น “ยาหยอดหูเซรูมอล(Cerumol ear drops)” ได้ถูกนำมาใช้หล่อลื่นในช่องหูเพื่อให้ขี้หูหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น

ยาหยอดหูเซรูมอลสามารถซื้อหาได้จากร้านขายยาต่างๆโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาหยอดหูเซรูมอล มีสารสำคัญ 2 ตัว คือ น้ำมันถั่วลิสง(Arachis oil) 57.3% ที่ทำหน้าที่คอยหล่อลื่นขี้หู และสาร คลอโรบิวทานอล เฮมิไฮเดรต(Chlorobutamol hemihydrate) 5% ทำหน้าที่ต่อต้าน การเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆและช่วยสนับสนุนการหล่อลื่นของน้ำมันถั่วลิสง

มีหลักปฏิบัติอยู่บางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนใช้ยาหยอดหูเซรูมอล รวมถึงข้อจำกัดและข้อห้ามบางเรื่องที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงได้ หากใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้นี้อย่างขาดความระมัดระวัง อาทิ

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาหยอดหูเซรูมอลกับผู้ที่มีประวัติแพ้น้ำมันถั่วลิสง
  • ห้ามใช้ยาหยอดหูนี้ขณะที่มีภาวะแก้วหูทะลุ มีอาการอักเสบของหู มีแผลในช่องหู หรือเป็นหูน้ำหนวก
  • ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน ซึ่งภายในระยะเวลาดังกล่าว ขี้หูควรต้องโดนทำความ สะอาดออกไปมากพอที่จะทำให้การได้ยินเสียงเป็นปกติแล้ว กรณีที่ยังมีขี้หูคั่งค้างอยู่มากหลังใช้ยานี้ตามกำหนดแล้ว ควรรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและดำเนินการแก้ไข แพทย์อาจใช้กระบอกฉีดยาเล็กๆดูดขี้หูออก ซึ่งต้องอาศัยหัตถการที่ฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
  • ห้ามใช้น้ำเปล่าหยอดหู เพราะจะทำให้ขี้หูเกิดการพองตัวจนเกิดการอุดตันรูหูมากยิ่งขึ้น กลไกของยากำจัดขี้หู/ยาละลายขี้หู ต้องใช้การหล่อลื่นจากสารที่เป็นลักษณะของน้ำมันเท่านั้น
  • การใช้ยาหยอดหูชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือสตรีในภาวะให้นมบุตร ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อทารกแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท ก่อนใช้ยาหยอดหูที่รวมถึงยาหยอดหูเซรูมอลกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ก็ควรปรึกษา แพทย์ เภสัชกร ก่อนทุกครั้ง
  • เทคนิคการดึงใบหูไปข้างหลัง แล้วตะแคงศีรษะเอียงขึ้นเพดาน ก่อนการหยอดหู จะช่วยทำให้ยาหยอดหูที่รวมถึงยาหยอดหูเซรูมอลกระจายเข้าซึมซับกับขี้หูได้เป็นอย่างดี
  • โดยทั่วไป การหยดยาหยอดหูชนิดนี้ ต้องรอเวลาค้างไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงใช้ไม้พันสำลีที่สะอาด เช็ดยาหยอดหูออก และการใช้ยานี้ จะไม่รบกวนการได้ยินเสียงของผู้บริโภคแต่อย่างใด

ผู้บริโภค/ผู้ป่วยอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้เพื่อประเมินหูของตนเองว่า มีการอุดตันของขี้หูมากเกินไป ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ยาหยอดหูเซรูมอล เช่น

  • สังเกตว่าการได้ยินเสียงชัดเจนเป็นปกติหรือไม่
  • มีเสียงเหมือนผึ้งร้องหึ่งๆในหู
  • ปวดหูและมีความรู้สึกตึงแน่นในรูหู
  • การใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือถูกันเบาๆโดยวางตำแหน่งห่างจากรูหูประมาณ 1–2 เซนติเมตรเพื่อทดสอบการได้ยินเสียงของหูแต่ละข้าง อาจบ่งบอกสภาพการอุดตันของขี้หูได้ในระดับหนึ่ง

*กรณีที่มีอาการปวดในรูหูอย่างรุนแรง มีน้ำ/ของเหลวหรือหนองไหลออกจากรูหู มีไข้ ไอบ่อย ไม่ค่อยได้ยินเสียง มีกลิ่นเหม็นในรูหู และวิงเวียนจัด หากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อรับการตรวจรักษา เพราะน่าจะเป็นอาการอักเสบของหูซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากการอุดตันของขี้หู และในกรณีนี้ ห้ามใช้ยาละลายขี้หูดังที่กล่าวมาแล้ว แพทย์เท่านั้นที่จะสามารถดูแลรักษา/ช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

ยาหยอดหูเซรูมอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาหยอดหูเซรูมอล

ยาหยอดหูเซรูมอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ช่วยละลายขี้หูที่อุดตันจนเป็นเหตุทำให้การได้ยินเสียงไม่ชัดเจน

ยาหยอดหูเซรูมอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาหยอดหูเซรูมอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ 2 ตัว คือ Arachis oil หรือน้ำมันถั่วที่จะคอยซึมซับกับขี้หู ทำให้ขี้หูมีลักษณะนุ่ม ลื่น ทำให้ง่าย ต่อการเช็ดออก และสาร Chlorobutanol ที่ช่วยลดความข้นหนืดของ Arachis oil ส่งผลให้การซึมซับระหว่าง Arachis oil กับขี้หูเกิดง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้สาร Chlorobutanol ยังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้ในรูหูได้ระดับหนึ่ง ด้วยกลไกที่กล่าวมาทั้งหมดจึงทำให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ยาหยอดหูเซรูมอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาหยอดหูเซรูมอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาหยอดหูประเภทสารละลายสีเหลืองอำพัน ที่ประกอบด้วยตัวยา Arachis oil 57.3% + Chlorobutanol hemihydrate 5% บรรจุในขวดแก้วสีชา ขนาด 11 มิลลิลิตร

ยาหยอดหูเซรูมอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาหยอดหูเซรูมอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยอดยา 5 หยดในหูข้างที่มีขี้หูอุดตัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน หลังการหยอดยา ให้ใช้สำลีสะอาดและนุ่มอุดรูหูข้างที่หยอดยาเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับออกมาของยา และทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นใช้ไม้พันสำลีที่สะอาดปาดเช็ดคราบขี้หูออกมาอย่างเบาๆ
  • เด็ก: การใช้ยาหยอดหูเซรูมอลกับเด็ก ควรต้องมาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีกำจัดขี้หูในเด็กได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

อนึ่ง:

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดขี้หูอุดตันได้มากขึ้น เช่น การใช้หูฟังเป็นเวลานานๆในแต่ละวัน
  • ห้ามใช้ยานี้หยอดหูเมื่อหูมีอาการ อักเสบ ติดเชื้อ บวม แดง หรือ มีอาการปวด ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ผู้บริโภคต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเพียงสถานเดียวเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาหยอดหูเซรูมอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาหยอดหูเซรูมอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดหูด้วยยาหยอดหูเซรูมอล สามารถหยอดหูทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาหยอดหูเซรูมอลเป็น 2 เท่า ให้หยอดหูเพียง 5 หยดเหมือนปกติ

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรใช้ยาหยอดหูเซรูมอล หยอดหูตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาหรือตามสั่งแพทย์

ยาหยอดหูเซรูมอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาหยอดหูเซรูมอลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่การตอบสนองของร่างกายแต่ละผู้ป่วยต่อยานี้ โดยอาการข้างเคียงที่สามารถพบเห็นได้จะเป็นอาการไม่รุนแรง เช่น ระคายเคือง เกิดผื่นคัน และแดงที่หูที่สัมผัสยานี้ และอาการเหล่านี้สามารถหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหูเซรูมอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาหยอดหูเซรูมอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มี ภาวะแก้วหูทะลุ มีการติดเชื้อในหู/หูติดเชื้อ
  • ห้ามรับประทาน หรือ ให้ยานี้เข้าตา
  • การใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ควรต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์
  • หากใช้ยาหยอดหูเซรูมอลแล้วอาการขี้หูอุดตันไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้ได้วิธีการที่เหมาะสมและปลอดภัยกว่าการซื้อยาใช้เอง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาหยอดหูเซรูมอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาหยอดหูเซรูมอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ผลิตภัณฑ์ยาหยอดหูเซรูมอลจะใช้เป็นยาเฉพาะที่ภายในช่องหู จึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษายาหยอดหูเซรูมอลอย่างไร?

ควรเก็บยาหยอดหูเซรูมอล ในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

อนึ่ง ยาหยอดหูเซรูมอล มีอายุการใช้งานนาน 5 ปีหลังจากวันผลิต แต่ขวดยาที่ถูกเปิดใช้แล้ว จะมีอายุการใช้งานได้อีกเพียงไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่เปิดขวดยา

ยาหยอดหูเซรูมอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาหยอดหูเซรูมอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cerumol ear drops (เซรูมอล เอียร์ ดร็อปซ์)Thornton & Ross Limited

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthline.com/health/earwax-buildup [2017,Nov4]
  2. http://www.netdoctor.co.uk/medicines/ear-nose-and-throat/a6394/cerumol-ear-drops/ [2017,Nov4]
  3. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/25285 [2017,Nov4]
  4. https://www.drugs.com/uk/cerumol-ear-drops-leaflet.html [2017,Nov4]
  5. http://www.lloydspharmacy.com/wcsstore7.00.00.648/ExtendedSitesCatalogAssetStore/Attachment/pils/46441.pdf [2017,Nov4]