ยาสมิน (Yasmin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยาสมินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาสมินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาสมินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาสมินมีขนาดการรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาสมินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาสมินอย่างไร?
- ยาสมินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาสมินอย่างไร?
- ยาสมินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- การคุมกำเนิด (Contraception)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
- ดรอสไพรีโนน (Drospirenone)
- เอทินิล เอสตร้าไดออล (Ethinyl estradiol)
บทนำ
ยายาสมิน(Yasmin)เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศ 2 ชนิดคือ ดรอสไพรีโนน (Drospirenone) และเอทินิล เอสตร้าไดออล (Ethinyl estradiol) ที่ช่วยควบคุมการตกไข่ในรอบประจำเดือนของผู้หญิง อิทธิพลของฮอร์โมนดังกล่าว ยังส่งผลให้สภาพภายในของโพรงมดลูก และของปากมดลูกเปลี่ยนแปลง จนทำให้ตัวอสุจิผ่านเข้าโพรงมดลูกได้ยาก หรือกรณีที่มีไข่ตกและผสมกับอสุจิแล้ว ก็จะฝังตัวในผนังมดลูกได้ลำบากขึ้น ผู้บริโภคจึงลดโอกาสการตั้งครรภ์ลงได้
ข้อห้ามบางประการที่ทำให้ยาสมินไม่สามารถนำมาใช้กับกลุ่มผู้ป่วยดังต่อไปนี้ได้ เช่น
- สตรีที่ตั้งครรภ์แล้ว ด้วยยานี้จะส่งผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ หรือต่อสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจากตัวยาสามารถผ่านเข้าในน้ำนมมารดาและผ่านไปถึงทารกได้ รวมถึงสตรีที่มีประจำเดือนมามากผิดปกติโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ในตา/เบาหวานขึ้นตา และผู้ป่วย โรคไต โรคตับ หรือ ป่วยด้วยมะเร็งตับ ผู้ป่วยโรคไมเกรน
- เป็นสตรีที่สูบบุหรี่จัดที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- ผู้ที่มีประวัติภาวะดีซ่านจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
จากเงื่อนไขทางสุขภาพดังที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้บริโภค/ผู้ป่วยดังกล่าว จึงจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยายาสมินทั้งสิ้น ผู้ที่จะใช้ยาสมิน นอกจากจะไม่ใช่ผู้ที่มีอาการโรคที่อยู่ในข้อห้ามดังกล่าวแล้ว ยังควรต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง มีความถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และ/หรือ เภสัชกร อาทิ เช่น
- ควรรับประทานยาสมินเม็ดแรก ในวันแรกที่เริ่มมีประจำเดือน
- ในช่วงแรกที่เริ่มใช้ยาสมิน อาจใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นมาสนับสนุนการป้องกัน การตั้งครรภ์ เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
- ควรรับประทานยานี้ วันละเม็ด ในเวลาเดิมทุกวัน เช่น หลังอาหารเย็น หรือก่อนนอน
- เมื่อรับประทานยานี้หมดแผงแล้ว ให้เริ่มใช้ยานี้แผงใหม่ในวันถัดมา
- การลืมรับประทานยานี้เพียง 1 เม็ด ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้
- ยาสมิน 1 แผง ประกอบด้วยยาฮอร์โมน 21 เม็ด และเม็ดยาอีก 7 เม็ดที่ไม่มี ฮอร์โมนบรรจุอยู่ที่ทั่วไปเรียกว่า ยาหลอก
- ในช่วง 3 เดือนแรกของการใช้ยานี้ อาจพบว่ามีประจำเดือนกะปริบกะปรอย กรณีนี้ให้ผู้ที่ใช้ยายาสมิน มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับคำแนะนำ
- กรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ให้หยุดการใช้ยาสมินสักระยะหนึ่งตามคำสั่งแพทย์
- ขณะที่ใช้ยาสมิน ควรมาพบแพทย์เป็นระยะๆ ตามแพทย์แนะนำ
ยา ยาสมิน เป็นยาใช้คุมกำเนิด มิใช่ยารักษาหรือป้องกันอาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ (AIDS) หรือเอชไอวี (HIV)
ผู้ที่รับประทานยา ยาสมิน เกินขนาด อาจพบอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และประจำเดือนมาผิดปกติ หรือผู้ที่แพ้ยา ยาสมิน อาจพบเห็นอาการ ผื่นคัน ตัวบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หากพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
สำหรับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของการใช้ยา ยาสมิน ที่อาจพบเห็นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน น้ำหนักตัวเพิ่ม อารมณ์ทางเพศลดลง เป็นต้น
ยา ยาสมิน เป็นยาฮอร์โมนที่สามารถแสดงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับตัวยาอื่นๆได้หลายประเภท เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้บริโภคควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่า มีการใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อนที่จะใช้ยายาสมิน หรือในการเปลี่ยนชนิดการใช้ยาคุมกำเนิดอื่นมาเป็นการใช้ยาสมินแทน ก็ควรเว้นช่วงเวลาอย่างเหมาะสมโดยปรึกษากับแพทย์ผู้ที่สั่งจ่ายยาสมินนั่นเอง
ข้อสังเกตสำคัญบางประการหลังการใช้ยา ยาสมิน คือ เมื่อรับประทานยา ยาสมินเม็ดสุดท้ายที่มีฮอร์โมนบรรจุอยู่หรือเม็ดที่ 21 ภายใน 3 วันถัดมา ควรจะมีประจำเดือนตามมา กรณีที่ไม่มีประจำเดือนดังกล่าว ให้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้ และควรได้รับการทดสอบการตั้งครรภ์โดยมาขอคำปรึกษาจากแพทย์ หากพบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง จะต้องหยุดการใช้ยายาสมินทันที
ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายของยา ยาสมิน ที่มิได้นำมากล่าวในบทความนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยและต้องการข้อมูลของยา ยาสมินเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
ยาสมินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยายาสมินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์
ยาสมินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยา ยาสมิน คือ ตัวยาจะมีกลไกทำให้เกิดการชะลอของการตกไข่ในสตรีเพศ และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูกโดยจะสร้างสารเมือกที่ขัดขวางการเดินทางของตัวอสุจิไม่ให้เข้าไปในโพรงมดลูก พร้อมกับกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้อยู่ในภาวะที่ไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วกับอสุจิ จากกลไกเหล่านี้ จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการคุมกำเนิดได้ตามสรรพคุณ
ยาสมินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยา ยาสมินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบไปด้วย
- ยาที่มีฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบ 21 เม็ด แต่ละเม็ดมีปริมาณฮอร์โมน ดังนี้ Drospirenone 3 มิลลิกรัม + Ethinyl estradiol 0.03 มิลลิกรัม
- และ ยาหลอกไม่มีฮอร์โมนอีก 7 เม็ด
ยาสมินมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
ยา ยาสมินมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
- ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์: เริ่มรับประทานยาสมินที่เป็นยาเม็ดฮอร์โมนวันละ 1 เม็ดในวันแรกของการมีประจำเดือน และรับประทานต่อเนื่องไปจนครบ 21 เม็ด จากนั้นให้รับประทานยาหลอกวันละ 1 เม็ดไปจนครบ 7 วัน
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรรับประทานยานี้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อคงระดับฮอร์โมนเพศให้สม่ำเสมอ เพื่อที่จะส่งผลต่อการคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- การลืมรับประทานยานี้ 1 วัน ก็อาจตั้งครรภ์ได้แล้ว
- การรับประทานยานี้ ที่เป็นยาหลอกซึ่งไม่มีฮอร์โมน เพื่อเป็นการใช้ยาให้ต่อเนื่องครบรอบเดือนโดยไม่มีการหยุดรับประทานยา เพื่อให้ง่ายในการกำหนดการเริ่มต้นใช้ยายาสมินแผงใหม่ได้ตรงวันเวลา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยายาสมิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไมเกรน รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยายาสมิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยา ยาสมิน 1 วัน ให้รับประทานยา 2 เม็ดในวันถัดมา แล้วรับประทาน 1 เม็ดเหมือนปกติในวันต่อไป
กรณีลืมรับประทานยา 2 วัน ในสัปดาห์ที่ 1 หรือ 2 ของรอบเดือน ให้รับประทานยา 2 เม็ด เป็นเวลา 2 วัน แล้วรับประทาน 1 เม็ดเหมือนปกติในวันต่อไป
อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยายาสมินเพียง 1 วัน อาจก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น กรณีมีการลืมรับประทานยานี้ ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยชาย
ยาสมินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยายาสมินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ปวดศีราะไมเกรน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า อารมณ์ทางเพศลดลง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเปลี่ยนไป เต้านมโตขึ้น เต้านมคัดตึง มีน้ำนมไหล
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะบวมน้ำ
- ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น มีประจำเดือนกระปริบกระปรอย
มีข้อควรระวังการใช้ยาสมินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยายาสมิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบ ดีซ่าน โรคมะเร็งตับ ผู้ที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไตระยะรุนแรง โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์(เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก) ผู้ป่วยไมเกรน ผู้ที่มีภาวะประจำเดือนมามากโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ โรคสมองขาดเลือด/โรคหลอดเลือดสมอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวผู้ที่มีประวัติหลอดเลือดอุดตัน ผู้ป่วยโรคลมชัก
- รับประทานยานี้ตรงเวลาทุกวัน และห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายเป็นระยะๆตามที่แพทย์นัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายาสมินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ยาสมินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาสมินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยายาสมิน ร่วมกับยา Amprenavir(ยาโรคเอดส์) อาจทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยายาสมินร่วมกับยา Ibuprofen อาจทำให้ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะจนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยายาสมินร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือด(ยาเบาหวาน)อย่าง Metformin อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดน้ำตาลในเลือดด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยายาสมินร่วมกับยา Prednisone อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากยา Prednisone มากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษายาสมินอย่างไร?
ควรเก็บยายาสมินภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาสมินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยายาสมินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Melodia (เมโลเดีย) | Leon Farma/Sinensix Pharma |
Yasmin (ยาสมิน) | Bayer HealthCare Pharma |
Yaz (ยาซ) | Bayer HealthCare Pharma |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Gianvi, Loryna, Nikki, Ocella, Syeda, Vestura, Zarah