ยาละลายขี้หู (Cerumenolytics)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาละลายขี้หู (Cerumenolytics) เป็นกลุ่มสารเคมีที่วงการแพทย์นำมาใช้กำจัดขี้หูกรณีที่มีมากและแห้งแข็งเกินไปจนก่อการอุดตันรูหูจนส่งผลกระทบต่อการได้ยิน โดยตัวยาจะมีกลไกการออกฤทธิ์หลักๆจากทำให้ขี้หูนิ่มและอ่อนตัวจนสามารถเช็ดหรือดูดออกจากรูหูได้ง่าย

แบ่งยาละลายขี้หูออกเป็น 3 หมวดดังนี้

ก. กลุ่มที่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย (Water base): เป็นกลุ่มยาที่สามารถละลายน้ำได้ ในสูตรตำรับยามักจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ตัวอย่างสารออกฤทธิ์/ยาในกลุ่มนี้เช่นยากรดอะซิติก (Acetic acid), เซรูมิเนกซ์ (Cerumenex), คอแลซ (Colace), ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide), โซเดียม ไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) และน้ำเกลือ (Sterile saline solution หรือ Normal saline solution; NSS)

ข. กลุ่มที่มีน้ำมันเป็นตัวทำละลาย (Oil base): กลุ่มยาในหมวดนี้จะละลายได้ดีในตัวทำละลายที่เป็นไขมัน/น้ำมันแต่ไม่ละลายในน้ำ เช่น น้ำมันอัลมอนด์ (Almond oil), น้ำมันถั่วลิสง (Arachis oil) เอียเรกซ์ (Earex = Arachis oil + Almond oil + Rectified camphor oil), น้ำมันมะกอก (Olive oil), น้ำมันแร่หรือลิควิด ปิโตรลาตุ้ม (Minerol oil/Liquid petrolatum)

ค. กลุ่มที่ไม่ใช้น้ำหรือน้ำมันเป็นตัวทำละลาย (ไม่ละลายทั้งในน้ำและในน้ำมัน): เช่น ออแดกซ์ (Audax = Choline salicylate + Glycerine), ดีบรอกซ์ (Debrox = Carbamide peroxide)

อนึ่งเคยมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาทดลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาละลายขี้หูทั้ง 3 หมวดและได้รายงานเป็นข้อสรุปของการศึกษาทดลองไว้ว่า

  • กลุ่มยาที่ละลายในน้ำและกลุ่มยาที่ละลายในน้ำมันสามารถละลายขี้หูโดยมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันไม่มีความแตกต่างมากเท่าใดนัก
  • กลุ่มยาที่ไม่ละลายทั้งในน้ำและในน้ำมันสามารถละลายขี้หูได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากลุ่มยาที่ละลายในน้ำมันหรือละลายในน้ำ อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในช่องหูของผู้ป่วยอีกด้วย

ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีข้อสรุปหรือการเปรียบเทียบอย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคแต่ละบุคคลอาจมีความเหมาะสมต่อการใช้ยาละลายขี้หูทั้ง 3 หมวดแตกต่างกันออกไป ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้คัดกรองว่าควรใช้ยาละลายขี้หูประเภทใดจึงจะปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด

ยาละลายขี้หูมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาละลายขี้หู

ยาละลายขี้หูมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ช่วยทำให้ขี้หูนิ่มจนสามารถเช็ด ดึง หรือดูดออกจากรูหูได้ง่าย

ยาละลายขี้หูมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาละลายขี้หูคือ ตัวยาจะทำให้ขี้หูนิ่มและเกิดการหล่อลื่นจากยาละลายขี้หู กรณีที่ขี้หูอุดตันไม่มาก ขี้หูที่สัมผัสกับตัวยาอาจหลุดออกมาได้เอง แต่กรณีที่มีขี้หูอุดตันมาก หลังหยอดยานี้อาจต้องให้แพทย์ใช้เครื่องมือดูดหรือคีบขี้หูออกมา จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยาละลายขี้หูมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาละลายขี้หูเป็นยาที่มีลักษณะของสารละลาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) ที่มีระดับความเข้มข้นของตัวยาแตกต่างกันออกไปแล้วแต่แต่ละสูตรตำรับยา

ยาละลายขี้หูมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาละลายขี้หูมีอยู่หลายสูตรตำรับยา มีความเหมาะสมของการใช้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันเช่น บางสูตรตำรับฯอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย ควรให้แพทย์เป็นผู้เลือกชนิดของยาละลายขี้หูและใช้ยาตามคำสั่งแพทย์จะเป็นการดีที่สุด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาละลายขี้หู ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาละลายขี้หูอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดยาละลายขี้หูควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาละลายขี้หูสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรหยอดยาละลายขี้หูตรงตามคำสั่งแพทย์

ยาละลายขี้หูมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

โดยปกติยาละลายขี้หูจะก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้น้อยมากด้วยการใช้ในปริมาณที่น้อย เป็นยาใช้เฉพาะที่และจัดเป็นยาใช้ภายนอก แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการระคายเคือง แสบ คัน หู รวมถึงอาจพบอาการหูอื้อได้บ้าง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีการรักษา

มีข้อควรระวังการใช้ยาละลายขี้หูอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาละลายขี้หูเช่น

  • ห้ามใช้ยาละลายขี้หูกับผู้ที่มีอาการแพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามรับประทานหรือให้ยานี้เข้าตา
  • ห้ามใช้ยานี้ด้วยตนเอง/ซื้อยาใช้เองหากมีอาการต่างๆเหล่านี้ร่วมด้วยเช่น แก้วหูทะลุ เกิดการติดเชื้อในช่องหู/หูติดเชื้อ เกิดบาดแผลในรูหู หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดภายในหูมาใหม่ๆ
  • กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ก่อนการใช้ยานี้ควรต้องปรึกษาและได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • หากพบอาการแพ้ยาหลังใช้ยานี้เช่น แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีและรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ความถี่และระยะเวลาในการใช้ยานี้ให้ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์
  • มาพบแพทย์ตามนัดเสมอเพื่อตรวจสอบผลของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาละลายขี้หูด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาละลายขี้หูมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาละลายขี้หูเป็นยาใช้เฉพาะที่และจัดเป็นยาใช้ภายนอก จึงยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษายาละลายขี้หูอย่างไร?

ควรเก็บยาละลายขี้หูภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยาละลายขี้หูมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาละลายขี้หู้ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Auro (ออโร) Del
Debrix (เดบริกซ์) GkaxoSmithKline
E.R.O. (อี.อาร์.โอ.) Scherer
Mollifene (มอลลิเฟน) Pfeiffer
Murine (มิวรีน)Prestige
Earex (เอียเรกซ์) Simco Ltd.

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/dosage/carbamide-peroxide-otic.html#Usual_Adult_Dose_for_Cerumen_Removal [2016,April30]
  2. http://www.drugs.com/drug-class/cerumenolytics.html [2016,April30]
  3. http://www.drugs.com/mtm/ear-wax-removal-otic.html [2016,April30]
  4. https://books.google.co.th/books?id=L5Q1BwAAQBAJ&pg=PT197&lpg=PT197&dq=Cerumenolytics++example&source=bl&ots=kAH-NI7agV&sig=ISyw7VZ60LMOOqaPeR26SSnMJKk&hl=en&sa=X&ved=0ahUKEwjk0bfEyoPMAhUC4qYKHSb3CGEQ6AEITTAI#v=onepage&q=Cerumenolytics%20%20example&f=false [2016,April30]
  5. http://www.drugs.com/monograph/carbamide-peroxide.html [2016,April30]
  6. http://www.drugs.com/uk/earex-ear-drops-leaflet.html [2016,April30]