ยาลอซาร์แทน (Losartan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลอซาร์แทน (Losartan) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง จัดอยู่ในกลุ่มยา Angiotensin II receptor (type AT1) antagonist ในทางการแพทย์ยังนำยานี้มาช่วยชะลอภาวะไตวาย อันมีสาเหตุจากโรคเบาหวานได้ด้วย

ยาลอซาร์แทน สามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้ดีโดยการรับประทาน การใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะบางตัวสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาและช่วยลดปริมาณการใช้ยาขับปัสสาวะดังกล่าวด้วย และมีการทดสอบการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์พบว่า สามารถก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อน จึงไม่สมควรใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ยาลอซาร์แทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาลอซาร์แทน

ยาลอซาร์แทน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการป่วยจากภาวะความดันโลหิตสูง รวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน/โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน

ยาลอซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาลอซาร์แทนคือ หลังจากการรับประทานยาลอซาร์แทน ร่างกายจะทำการปรับเปลี่ยนเพิ่มการหลั่งพร้อมกับลดสารเคมีบางตัวและส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวจึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง

ยาลอซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายที่มีในประเทศไทยของยาลอซาร์แทน เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้ ยังมีบางสูตรตำหรับ ที่ผสมยาขับปัสสาวะเพื่อสนับสนุนการรักษาด้วย

ยาลอซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาลอซาร์แทนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: สามารถรับประทานยาลอซาร์แทนได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร โดยขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 50 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
    • เพื่อประสิทธิผลของการรักษา แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดรับประทานสูงสุดในผู้ใหญ่เป็น 100 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
    • ในทางกลับกัน หากผู้ป่วยได้รับยาอื่นร่วมในการรักษา เช่น ยาขับปัสสาวะ แพทย์สามารถพิจารณาปรับขนาดรับประทานลดลงเป็น 25 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
    • *ทั้งนี้ การสั่งจ่ายยานี้ตลอดจนถึงขนาดรับประทานต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • เด็ก: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาลอซาร์แทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น แน่นหน้าอก/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลอซาร์แทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาต่างๆรวมทั้งยาลอซาร์แทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาลอซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ของยาลอซาร์แทน เช่น

  • อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ
  • ไม่ค่อยพบอาการผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาลอซาร์แทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลอซาร์แทน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ปรึกษาและพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีที่เมื่อกินยานี้แล้ว มีอาการ ซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดขึ้น รวมไปถึงมีอาการบวมของใบหน้า ริมฝีปาก หลอดลม กล่องเสียง และสายเสียงที่อาจก่อให้เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ไม่ใช้ยาหมดอายุ
  • ไม่เก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลอซาร์แทน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาลอซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลอซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาลอซาร์แทนร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อวัณโรค /ยารักษาวัณโรค และ/หรือ ยาต้านเชื้อรา สามารถลดระดับยาลอซาร์แทนซึ่งอยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ ทำให้ความสามารถในการรักษาความดันโลหิตสูงลดลงไป ยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อวัณโรคและเชื้อราดังกล่าว เช่นยา ไรแฟมฟิซิน (Rifampicin) และ ฟลูโคนาโซล( Fluconazole)

ควรเก็บรักษายาลอซาร์แทนอย่างไร?

สามารถเก็บยาลอซาร์แทน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดสนิท พ้นแสงสว่าง/แสงแดด
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาลอซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลอซาร์แทน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Fortzaar (ฟอร์ทซาร์)MSD
Hyzaar (ไฮซาร์)MSD
Lanzaar 50 (แลนซาร์) Berlin Pharm
Losartan GPO (ลอซาร์แทน) GPO
Tanzaril (แทนซาริล) Silom Medica

บรรณานุกรม

  1. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a695008.html [2019,May25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Losartan#cite_note-1 [2019,May25]