ยาลดความอยากอาหาร (Anorexic drugs or Appetite Suppressants)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 14 มกราคม 2560
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- ซีโรโทเนอจิก (Serotonergic drug)
- ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonists)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- ยาลดความอยากอาหารคือยาอะไร?
- ยาลดความอยากอาหารมีกี่ประเภท?
- ยาลดความอยากอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยาลดความอยากอาหารอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาลดความอยากอาหารอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาลดความอยากอาหารอย่างไร?
- การใช้ยาลดความอยากอาหารในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาลดความอยากอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาลดความอยากอาหารในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดความอยากอาหารเป็นอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาลดความอยากอาหารคือยาอะไร?
ยาลดความอยากอาหาร (Anorexic drug หรือ Appetite suppressant หรือAnorectic หรือ Anorexigenic) เป็นยาที่กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทภายในสมอง ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลง จึงรับประทานอาหารได้น้อยลง และช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงได้
ยาลดความอยากอาหารมีกี่ประเภท?
อาจแบ่งยาลดความอยากอาหารออกเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ ดังนี้
1. ยากระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท นอร์เอพิเนฟริน/นอร์แอดรีเนอร์จิก (Norepinephrine หรือ Noradrenergic drugs) เช่นยา เฟนเทอร์มีน (Phentermine), ไดเอทิลโพรพิออน (Diethylpropion), เบนซ์เฟตามีน (Benzphetamine), เฟนไดเมตราซีน (Phendimetrazine), ยาผสมระหว่างยาเฟนเทอร์มีนชนิดออกฤทธิ์ทันที (Phentermine immediate-release)ร่วมกับยาโทพิราเมท(*Topiramate) ชนิดออกฤทธิ์ยาว (Topiramate extended-release)
*Topiramate เป็นยากันชักที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ ลดความอยากอาหาร จึงนำมาใช้ผสมกับยา Phentermine เพื่อเสริมฤทธิ์กัน ทำให้สามารถลดขนาดของยาแต่ละตัวลง และลดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยา Phentermine ได้ ซึ่งปัจจุบันยาชนิดนี้เป็นยาที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) ให้ใช้เป็นยาลดความอยากอาหารตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
2. ยากระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (*Serotonin-2c receptor agonist) เช่นยา ลอร์คาเซริน (Lorcaserin)
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (*Selective serotonin receptor agonists)”
ยาลดความอยากอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลดความอยากอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาแคปซูล (Capsule)
อนึ่ง อ่านเรื่องรูปแบบของยาแผนปัจจุบันเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”
มีข้อบ่งใช้ยาลดความอยากอาหารอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยาลดความอยากอาหาร เช่น
1.ใช้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป
2.ใช้ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index, BMI) มากกว่า 30 กิโลกรัม/ตารางเมตรในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ, หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 27 กิโลกรัม/ตารางเมตรที่มีโรคร่วมอย่างน้อย 1 อย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ยาลดความอยากอาหารเป็นวิธีการรักษาเสริม เมื่อผู้ป่วยออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน แล้วยังไม่สามารถลดน้ำหนักตัวลงได้อย่างชัดเจน
มีข้อห้ามใช้ยาลดความอยากอาหารอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาลดความอยากอาหาร เช่น
1.ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีแพ้ยาชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน
2.ห้ามใช้ยาลดความอยากอาหารมากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน เพราะไม่มีการศึกษาใดพบว่าการใช้ยาลดความอยากอาหาร 2 ตัวร่วมกันแล้วได้ประโยชน์มากกว่าการใช้ยาเพียงตัวเดียว และยังอาจเพิ่มโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาได้มากกว่าด้วย
3.ห้ามใช้ยาลดความอยากอาหารเพียงวิธีเดียวในการรักษาโรคอ้วน เพราะเมื่อหยุดใช้ยาจะทำให้ผู้ป่วยกลับมาอ้วนเช่นเดิม ดังนั้นผู้ป่วยต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารร่วมด้วย เพื่อให้น้ำหนักตัวคงที่
4.ห้ามใช้ยาชนิดอื่นที่ไม่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคอ้วนมาใช้เพื่อลดน้ำหนัก เช่น ยาไทรอยด์ฮอร์โมน ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก ยาขับปัสสาวะ ยาต้านเศร้า เพราะเป็นการใช้ยาที่ไม่ตรงกับข้อบ่งใช้ และอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่สูงขึ้นจากการใช้ยาดังกล่าว
มีข้อควรระวังการใช้ยาลดความอยากอาหารอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลดความอยากอาหาร เช่น
1.ระวังการใช้ยากลุ่มที่ กระตุ้นฤทธิ์สารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonergic drugs) เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs, SNRIs, MAOIs ร่วมกับยาลดความอยากอาหาร เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดกลุ่มอาการซีโรโทนิน (Serotonin syndrome)
2.ระวังการใช้ยาลดความอยากอาหารในผู้ที่มีการทำงานของตับ และ/หรือของไต บกพร่อง มีประวัติโรคจิต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง(Pulmonary Hypertension) ภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้
3.ไม่ควรใช้ยากลุ่ม Noradrenergic drugs/Adrenergic agonist เป็นเวลานานเกินกว่า 12 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ติดยาได้
4. ควรหยุดใช้ยา/เลิกใช้ยาลดความอยากอาหารหากพบว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยานี้ กล่าวคือ น้ำหนักตัวลดลงไม่เกินร้อยละ 5 (5%)ของน้ำหนักตัวแรกเริ่ม หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นระหว่างรับการรักษา
การใช้ยาลดความอยากอาหารในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาลดความอยากอาหารในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
1.ห้ามใช้ยาลดความอยากอาหารทุกชนิดในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่หากได้รับยาลดความอยากอาหารเข้าไปในร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ (ได้รับยาปริมาณน้อย) ไม่เป็นอันตรายถึงกับทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์
2.หากหญิงตั้งครรภ์ติดยาลดความอยากอาหาร หรือใช้ยาลดความอยากอาหารเป็นเวลานานในระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพราะยากลุ่มนี้อาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการได้
การใช้ยาลดความอยากอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาลดความอยากอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
1.วัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีการทำงานของตับและของไตลดลง หรือเป็นโรคตับ และ/หรือโรคไต ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องใช้ยานี้ แพทย์อาจปรับลดขนาดยาลดความอยากอาหารลง โดยพิจารณาเป็นกรณีไป
2.เนื่องจากวัยสูงอายุมักจะใช้ยาหลายชนิดอยู่แล้ว จึงควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรว่า กำลังใช้ยาใดอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) รวมทั้งควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาลดความอยากอาหาร เช่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อการปรับการรักษาได้เหมาะสม
การใช้ยาลดความอยากอาหารในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาลดความอยากอาหารในเด็กควรเป็นดังนี้ คือ
- ไม่ควรใช้ยาลดความอยากอาหารในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้ที่เพียงพอ
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดความอยากอาหารเป็นอย่างไร?
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดความอยากอาหาร เช่น
1. ยากลุ่ม Noradrenergic drugs: ทำให้นอนไม่หลับ กระวนกระวาย อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ มึนงง หงุดหงิด ตัวสั่น คลื่นไส้ ท้องผูก ปากแห้ง มีอาการทางจิตประสาทเช่น หูแว่ว/ประสาทหลอน หวาดระแวง เห็นภาพหลอน และติดยา
2. ยาผสมระหว่างยา Phentermine และ Topiramate: ทำให้เกิดอาการชา ท้องผูก ปากแห้ง การรับรสเปลี่ยนไป นอนไม่หลับ มึนงง หัวใจเต้นผิดจังหวะ
3. ยาLorcaserin ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย โรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ปากแห้ง ท้องผูก
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลดความอยากอาหาร) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/tnf_2010_central_nervous_system_vol1.pdf [2016,Dec24]
- วรรณคล เชื้อมงคล และนลิณี เครือทิวา. ลอร์คาเซริน ยาลดน้ำหนักที่ออกฤทธิ์กระตุ้นอย่างจำเพาะที่ 5-HT2c receptor. วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ 9. (มกราคม – มีนาคม 2557) : 34-38
- วีระเดช พิศประเสริฐ. การรักษาภาวะอ้วนในปัจจุบัน. http://202.28.95.4/library/main/eproceeding/Sym_86_89.pdf [2016,Dec24]
- สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน. http://203.157.39.7/imrta/images/pdf_cpg/2553/53-4.pdf [2016,Dec24]
- Avena, N.M., and others. The next generation of obesity treatments: beyond suppressing appetite. Frontiers in Psychology 4. (October 2013) : 1-3
- Lonneman D.J., and others. Phentermine/Topiramate Extended-Release Capsules (Qsymia) for Weight Loss. Drug Forecast 38. (August 2013) : 446-452
- Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.