ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า

ยาโรคน้ำกัดเท้าคืออะไร?

ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า หรือ ยาโรคน้ำกัดเท้า(Athlete’s foot medications หรือ Athlete’s foot drugs )หรือยารักษาโรคฮ่องกงฟุต(Hong kong foot medications หรือ Hong kong foot drugs)เป็นยาที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคฮ่องกงฟุต(Hong kong foot) หรือ โรคน้ำกัดเท้า(Athlete’ s foot)หรือโรคกลากที่เท้า(Tinea pedis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเท้าสัมผัสกับความชื้นหรือกับน้ำสกปรกเป็นเวลานาน เช่น ช่วงที่มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน โรคนี้จะใช้ยาต่างชนิดกันไป ขึ้นอยู่กับระยะอาการของโรค เนื่องจากแต่ละระยะจะมีอาการ มีสาเหตุของการเกิดโรค และเชื้อที่ก่อโรคแตกต่างกัน

ยาน้ำกัดเท้ามีกี่ประเภท?

ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า แบ่งประเภทตามกลุ่มยาที่ใช้ตามระยะของการเกิดโรคได้ดังนี้

ก. ระยะแรก: ระยะที่ผิวหนังที่เท้าเริ่มเกิดอาการอักเสบและระคายเคือง: ยาที่ใช้ เช่น

  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก (Topical Corticosteriods) เช่นยา ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone), ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone), เบต้าเมธาโซน (Betamethasone), โมเมนทาโซน (Mometasone), โคลเบทาซอล (Clobetasol), เพรดนิคาร์เบท (Prednicarbate), เดสออกซิเมทาโซน (Desoximetasone)

ข. ระยะที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่รอยโรคที่เท้า: ยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังที่เท้า เช่น

  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย(ยาปฏิชีวนะ)ชนิดทาภายนอก (Topical Antibiotics): เช่นยา มิวไพโรซิน (Mupirocin), โซเดียมฟูซิเดต (Sodium Fusidate หรือ Fucidic acid), เจนตามัยซิน (Gentamicin), คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol), โพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-Iodine)
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทาน(Oral Antibiotics): เช่นยา คลอกซาซิลิน (Cloxacillin), ไดคลอกซาซิลิน (Dicloxacillin), อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin), เซฟาเลกซิน (Cephalexin), เซฟาดรอกซิล (Cefadroxil)

ค. ระยะที่มีการติดเชื้อราแทรกซ้อน: ยาที่ใช้ เช่น

  • ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก (Topical antifungals): เช่นยา คีโตนาโซล (Ketoconazole), โคลไตรมาโซล (Clotrimazole), ไมโคนาโซล (Miconazole), อีโคนาโซล (Econazole), เทอร์บินาฟีน (Terbinafine), บิวทีนาฟีน (Butenafine), โทลนาฟเตท (Tolnaftate), ไซโคลไพร็อก โอลามีน (Ciclopirox olamine)
  • ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน (Oral antifungals): เช่นยา ฟลูโคนาโซล (Fluconazole), กรีซีโอลฟูลวิน (Griseofulvin), คีโตนาโซล (Ketoconazole), ไอทราโคนาโซล (Itraconazole),ไนสแตติน (Nystatin), เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)

ง. นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยากลุ่มอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคน้ำกัดเท้า เช่น

  • ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน (Oral antihistamines): เช่นยา ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine), ซิทิริซีน (Cetirizine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine)
  • ยาขี้ผึ้งวิทฟิลท์ (Whitfield’s ointment) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยา 2 ชนิด คือ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซาลิซิลิก (Salicylic acid)
  • ปิโตรเลียมเจลลี่ หรือวาสลีน (Petroleum Jelly or Vasaline®)

ยาโรคน้ำกัดเท้ามีจำหน่ายในรูปแบบใด?

ยาโรคน้ำกัดเท้ามีจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • ยาครีม (Cream)
  • ยาโลชั่น (Lotion)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาเจล (Gel)
  • ยาผง (Powder)
  • ยาทาเล็บ (Nail lacquer)
  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาน้ำใส (Solution)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยาโรคน้ำกัดเท้ามีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาโรคน้ำกัดเท้ามีข้อบ่งใช้ เช่น

1. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก: ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าในระยะแรก บรรเทาอาการอักเสบ ระคายเคือง ผื่นแดง แสบ คัน บริเวณรอยโรคที่ผิวหนัง

2. ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย: ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าในระยะที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง ที่ทำให้เกิด แผลเปื่อย แผลอักเสบ บวม แดง ปวด เป็นหนอง

3. ยาต้านเชื้อรา: ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าในระยะที่มีการติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง หรือเรียกว่า โรคกลากที่เท้า (Tinea Pedis) ทำให้เกิดผื่นแดงและรอยแตก ผิวหนังลอกเป็นสะเก็ดสีขาว คัน มีกลิ่นเท้า หรือปวดแสบบริเวณที่เป็นรอยโรค

4. ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน: ใช้บรรเทาอาการคันจากโรคน้ำกัดเท้า และบรรเทาอาการผื่นบริเวณผิวหนังจากโรคน้ำกัดเท้าในระยะแรก

5. Whitfield’s ointment: ใช้ทาบริเวณง่ามเท้าก่อนโดนน้ำสกปรกเพื่อป้องกันการเกิดโรคน้ำกัดเท้า เนื่องจากตัวยาพื้นเป็นขี้ผึ้งจึงมีความเป็นมันสูง สามารถเคลือบเกาะติดกับผิวหนังได้นาน จึงลดความเปียกชื้นเมื่อโดนน้ำ และใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ในทุกระยะของโรค

6. Vasaline® ใช้ทาบริเวณง่ามเท้าก่อนโดนน้ำสกปรกเพื่อป้องกันการเกิดโรคน้ำกัดเท้า

ยาโรคน้ำกัดเท้ามีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยาโรคน้ำกัดเท้ามีข้อห้ามใช้ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยานั้นๆที่รุนแรง (Hypersensitivity)
  • ห้ามใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก ทาผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา เพราะมีความเสี่ยงที่อาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง
  • ห้ามใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 4 สัปดาห์ เพราะการใช้ยากลุ่มนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจกดการทำงานของต่อมหมวกไต
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียและยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เป็นยาที่ต้องรับประทานให้ครบตามที่แพทย์สั่ง ห้ามหยุดยานี้เองแม้อาการของโรคจะดีขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคและป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคน้ำกัดเท้า เช่น

  • หากใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทา: ควรทาบริเวณผิวหนังที่อยู่รอบๆการติดเชื้อนั้นด้วย และทาต่อไปอีก 2 สัปดาห์หลังจากอาการของโรคหายเป็นปกติแล้ว เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
  • ไม่ควรทา Whitfield’s ointment บริเวณที่มี แผลสด แผลมีหนอง เพราะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย
  • ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคน้ำกัดเท้ารุนแรง มีอาการอักเสบ ปวด หรือแผลบวมมาก ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • ในขณะที่ป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้า ควรสวมรองเท้าและถุงเท้าที่ระบายอากาศได้ดี และขนาดพอดีกับเท้า ไม่รัดแน่นเกินไป ตัดเล็บเท้าให้สั้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้รองเท้า ถุงเท้า และผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
  • หากต้องเดินลุยน้ำบ่อยๆในฤดูฝน หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยตรงโดยการสวมรองเท้าบูท แต่ถ้าไม่สามารถเลี่ยงได้ ให้ล้างเท้าด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสกับน้ำสกปรกแล้วเช็ดเท้าให้แห้ง

การใช้ยาโรคน้ำกัดเท้าในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาโรคน้ำกัดเท้าในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. หญิงมีครรภ์ที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าระยะแรก: สามารถใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกได้ แต่ควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่ใช้ยาที่มีความแรงสูงมาก เช่นยา Clobetasol ทางที่ดี ควรใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะตามแพทย์สั่ง

2. หญิงมีครรภ์ที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าในระยะที่มีการติดเชื้อราแทรกซ้อน:

  • หากมีอาการไม่รุนแรง: ควรใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก โดยแพทย์มักเลือกใช้ยา Clotrimazole, Miconazole, หรือ Nystatin เป็นยาตัวเลือกแรกๆ และยา Isoconazole, หรือยา Ketoconazole เป็นตัวเลือกถัดมา เพราะยากลุ่มแรก เป็นยาที่มีการใช้มานาน แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยในหญิงมีครรภ์
  • หากมีอาการรุนแรง: สามารถใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน โดยแพทย์มักเลือกใช้ยา Fluconazole, หรือ Itraconazole และถ้าเป็นไปได้ แพทย์จะเริ่มใช้ยารับประทานเมื่อผู้ป่วยมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป หรือตามแพทย์สั่งจะปลอดภัยกว่า

3. หญิงมีครรภ์ที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าในระยะที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน:

  • หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดทาภายนอกได้ เนื่องจากไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายใดๆต่อทารกในครรภ์
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทาน ที่แพทย์มักเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรก เช่น ยา กลุ่ม Pennicillins (เช่นยา Amoxyciliin, Cloxacillin), และยากลุ่ม Cephalosporins เช่นยา (Cephalexin) *ยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ ได้แก่ ยากลุ่ม Tetracyclines และยา Chloramphenicol

4. หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยา Whitfield’s ointment เพื่อป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้าชนิดที่มีการติดเชื้อรา และติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้อย่างปลอดภัย เพราะตัวยาสำคัญในยานี้ ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

การใช้ยาโรคน้ำกัดเท้าในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาโรคน้ำกัดเท้าในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1.ผู้สูงอายุที่เป็นโรคน้ำกัดเท้า สามารถใช้ยาชนิดเดียวกันกับวัยผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการทำงานของตับและของไตลดลง ส่งผลให้การกำจัดยาต่างๆที่รวมถึงยาโรคน้ำกัดเท้าออกจากร่างกายลดลง ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ยาต่างๆที่รวมยาโรคน้ำกัดเท้าในปริมาณน้อยที่สุด และใช้ยาในระยะเวลาสั้นที่สุดที่ได้ผลการรักษา เพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆ และเพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาของผู้สูงอายุ

2.เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัว และมียาต่างๆ/อื่นๆที่ต้องใช้เป็นประจำหลายชนิดอยู่แล้ว ดังนั้นควรเฝ้าระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เนื่องจากมียาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะ และยาต้านเชื้อราหลายชนิดที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้

การใช้ยาโรคน้ำกัดเท้าในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาโรคน้ำกัดเท้าในเด็กควรเป็น ดังนี้ เช่น

1.เด็กที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าระยะแรก: สามารถใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกได้ โดยควรใช้ยาในระยะสั้น ความแรงน้อย เช่น Hydrocortisone, Triamcinolone , และทายาปริมาณน้อยที่สุดที่ให้ผลการรักษา เพราะเด็กมีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดผลข้างเคียงเฉพาะที่ที่สัมผัสยาและทั่วทั้งร่างกาย

2.เด็กที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าในระยะที่มีการติดเชื้อราแทรกซ้อน:

  • หากมีอาการไม่รุนแรง ควรใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก โดยแพทย์มักเลือกยา Terbinafine, Butenafine, เป็นยาตัวเลือกแรก
  • หากมีอาการรุนแรง สามารถใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน โดยแพทย์มักเลือกใช้ Terbinafine, Fluconazole, เป็นยาตัวเลือกแรก แต่ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ จึงจะปลอดภัยต่อเด็กที่สุด

3.เด็กที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าในระยะที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน:

  • เด็กสามารถใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดทาภายนอกได้ โดยเลือกใช้ยา Mupirocin, Fusidic acid เป็นยาตัวเลือกแรก
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ชนิดรับประทานที่ใช้ในเด็กนั้น ใช้ยาชนิดเดียวกันกับในผู้ใหญ่ แต่แพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กแต่ละราย และแพทย์มักไม่ใช้ยากลุ่ม Tetracyclines ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะยานี้มีผลรบกวนการเจริญเติบโตของกระดูกและทำให้ฟันของเด็กเปลี่ยนสีถาวรหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทั้งนี้การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานในเด็ก ควรต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์เสมอ

4.เด็กสามารถใช้ยา Whitfield’s ointment เพื่อป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้าชนิดที่มีการติดเชื้อราและติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้อย่างปลอดภัย แต่ผิวของเด็กบอบบาง จึงมีโอกาสเกิดการระคายเคืองผิวที่สัมผัสยานี้มากกว่าในผู้ใหญ่

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโรคน้ำกัดเท้าเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยาโรคน้ำกัดเท้า มีได้ดังนี้ เช่น

1.ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก ทำให้ผิวหนังที่สัมผัสยานี้มีอาการปวดแสบร้อน คัน ระคายเคือง ผิวแห้ง รูขุมขนอักเสบ สีผิวซีดจาง ผิวบาง ผิวลาย ขนดก อาการของโรคนี้ รุนแรงขึ้น

2.ยาต้านเชื้อแบคทีเรียและยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน มีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ทั่วไป คือ ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ผื่นแพ้ยาเล็กน้อยถึงรุนแรง

3.ยาต้านเชื้อแบคทีเรียและยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่ เช่น แสบร้อนบริเวณที่ทายา คัน แดง ผิวหนังแห้ง และผื่นแพ้ยาเล็กน้อยถึงรุนแรง

4.ยาแก้แพ้ ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม ปวดศีรษะ ปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก สับสน ใจสั่น

5.Whitfield’s ointment ทำให้เกิดอาการ แสบ ระคายเคือง อักเสบ บริเวณที่ทายานี้

    สรุป

    ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโรคน้ำกัดเท้า) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

    บรรณานุกรม

    1. วรวรรณ กิจผาติ. โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 4) การดูแลและรักษาน้ำกัดเท้า. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/76/การดูแลและรักษาโรคน้ำกัดเท้า-โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม-ตอนที่4/ [2017,May13]
    2. อภิฤดี เหมะจุฑา และกิติยศ ยศสมบัติ. การป้องกันและดูแลโรคน้ำกัดเท้า. http://www.cueid.org/content/view/4133/40/ [2017,May13]
    3. อภิฤดี เหมะจุฑา และกิติยศ ยศสมบัติ. Whitfield’s Ointment: ประเด็นควรทราบสำหรับเภสัชกร. http://www5.pha.nu.ac.th/backoffice/php_form/uploads/files/whitfield%20ointment.pdf. แหล่งที่มา:[2017,May13]
    4. Andrew, M.D., and Burns, M. Common Tinea Infections in Children. http://www.aafp.org/afp/2008/0505/p1415.html[2017,May13]
    5. National Health Service. Athlete’s Foot. http://www.nhs.uk/Conditions/Athletes-foot/Pages/Introduction.aspx [2017,May13]
    6. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.