ยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำ (Antihypotensive drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำ

ยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำคือยาอะไร?

ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ หรือ ยาเพิ่มความดันโลหิต หรือ ยาเพิ่มความดันเลือด (Drugs used to treat hypotension หรือ Antihypotensive drugs หรือ Vasopressors ) เป็นยาที่ช่วยเพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น มึนงง เหนื่อยล้า อ่อนแรง หน้ามืด เป็นลม คลื่นไส้ มองภาพไม่ชัด เป็นต้น และยังช่วยลดความถี่ในการเกิดภาวะ/อาการดังกล่าว ลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง) และรวมทั้งลดอัตราการตายเมื่อเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการ สับสน มือเท้าเย็น หายใจเร็ว ตัวซีด ชีพจรเต้นช้า/หัวใจเต้นช้า และอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

แบ่งยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำเป็นประเภทใดบ้าง?

ยาที่ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำได้แก่ ยากลุ่ม/ประเภทต่อไปนี้

1. ยากระตุ้นความดันโลหิตชนิดที่ให้ผ่านหลอดเลือดดำ (IV Vasopressors หรือ Intravenous vasopressors) เช่นยา อิพิเนฟริน (Epinephrine) หรืออะดรีนาลีน (Adrenaline), นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), โดพามีน (Dopamine), โดบูทามีน (Dobutamine), วาโซเพรสซิน (Vasopressin)

2. ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่นยา ฟลูโดรคอร์ติโซน (Fludrocortisone), ไฮโดรคอร์ดิโซน (Hydrocortisone)

3. ยากระตุ้นตัวรับอัลฟ่า 1 (Oral selective alpha-1-adrenergic receptor agonist) เช่นยา ไมโดดรีน (Midodrine)

4. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase inhibitors) เช่นยา ไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine)

5. ยาที่เป็นสารสังเคราะห์ของกรดอะมิโนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของนอร์เอพิเนฟริน (Synthetic amino acid precursor of norepinephrine) เช่นยา ดรอกซิโดพา (Droxidopa)

6. ยารักษาเสริม (Supplementary therapy) เช่นยา กาเฟอีน (Caffeine), อิริโทรโพอิติน (Erythropoietin), ยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs, NSAIDs)

ยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำใส (Solution) ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ(Intravenous/IV route)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile Solution)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ ดังนี้ เช่น

1. ยากลุ่ม IV Vasopressors, ยากลุ่ม Corticosteroids ใช้เพิ่มความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำจากภาวะช็อก

2. ยากลุ่ม Corticosteroids , Midodrine, Pyridostigmine, Droxidopa ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ/เมื่อลุกยืน(Postural hypotension หรือ Orthostatic hypotension), ความดันโลหิตต่ำจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Neurogenic orthostatic hypotension, NOH) ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติล้มเหลว โรคพาร์กินสัน กลุ่มอาการเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง (Multiple system atrophy) หรือระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม (Autonomic neuropathy)

3. ยารักษาเสริม ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

มีข้อห้ามใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ เช่น

1. ห้ามใช้ยารักษาความดันโลหิตต่ำแต่ละชนิดในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยานั้นๆที่รุนแรง/ไวเกิน (Hypersensitivity)

2. ห้ามใช้ยากลุ่ม IV Vasopressors ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ (Ventricular Tachycardia)

3. ห้ามใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ในผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อและยังไม่ได้รับการรักษา

4. ห้ามใช้ยา Midodrine ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจอย่างรุนแรง ไตวายฉับพลัน ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด เนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอน (Supine hypertension)

5. ห้ามรับประทานยา Midodrine และ Droxidopa เม็ดสุดท้ายก่อนนอนทันที ควรรับประทาน Midodrine ก่อนนอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และรับประทาน Droxidopa ก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง รวมทั้งนอนยกหัวสูง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในท่านอน

6. ห้ามใช้ยา Pyridostigmine ในผู้ที่มีอาการท้องผูก และ/หรือ ปัสสาวะไม่ออก

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาความดันโลหิตต่ำอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ เช่น

1. หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำที่มีสาเหตุเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ หรือยาคลายกังวล ควรรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยา

2. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม IV Vasopressors ในผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradycardia), คลื่นกระแสไฟฟ้าหัวใจถูกปิดกั้นเพียงบางส่วน (Partial heart block), กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ และภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว/โรคหลอดเลือดแดงแข็งอย่างรุนแรง

3. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ในผู้ที่มีประวัติติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ที่อาการยังไม่หายเป็นปกติ วัณโรค แผลในทางเดินอาหารและลำไส้ มีอาการติดเชื้อหรือมีการอักเสบบริเวณหลอดเลือดดำที่ขา มีความผิดปกติทางจิตประสาท(โรคทางจิตเวช) ภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ โรคลมชัก โรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ต้อหิน เบาหวาน

4. ยา Midodrine และ Droxidopa เป็นยาที่ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะเป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยา คือ ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงในท่านอน ดังนั้นในขณะที่ใช้ยาดังกล่าว ควรตรวจวัดระดับความดันโลหิตในท่ายืนและท่านอนเป็นประจำ เพราะถ้าไม่สามารถควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงในท่านอนได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดสมอง

5. การรับประทานยา Midodrine และ Droxidopa ร่วมกับยาบางชนิดที่มีผลทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เช่นยา Ephedrine, ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน/ยาไมเกรนกลุ่ม Triptans อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในท่านอน

6. ควรระวังการใช้ยา Pyridostigmine ในผู้ป่วย โรคหืด โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นช้า แผลในกระเพาะอาหาร ลมชัก พาร์กินสัน โรคไต ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

7. ยา Pyridostigmine อาจทำให้การมองเห็นผิดปกติ เนื่องจากมีการผลิตน้ำตามากเกินไป ดังนั้นควรระมัดระวังการขับขี่ยานพาหนะหรือการควบคุมเครื่องจักรในขณะที่ใช้ยานี้เพราะ จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

การใช้ยารักษาความดันโลหิตต่ำในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ร่างกายของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิตในขณะที่ตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ 4-6 เดือนอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงประมาณ 5-15 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายใดๆต่อทารกในครรภ์ และความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับปกติได้เองหลังคลอด ดังนั้นทั่วไปจึงไม่มีการใช้ยาเพื่อรักษากรณีนี้

2. ยารักษาภาวะความดันโลหิตต่ำทุกชนิด ควรเลือกใช้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่อาจได้รับ คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์เท่านั้น

การใช้ยารักษาความดันโลหิตต่ำในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เนื่องจากผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีโรคประจำตัวหลายชนิด ดังนั้นควรแจ้งแพทย์ถึงโรคและยาต่างๆที่ต้องใช้เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา และการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา ตัวอย่างเช่น หากใช้ยา Midodrine ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นช้าลง เช่น ยากลุ่ม Beta-blockers, ยากลุ่ม Calcium channel blockers และยากลุ่ม Cardiac glycosides อาจส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ

2. ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ควรแนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกนั่งหรือยืน อย่างช้าๆ เพราะถ้าผู้สูงอายุมีอาการ หน้ามืด เป็นลม อาจทำให้หกล้ม และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการล้มรุนแรงได้มากกว่าวัยอื่นๆ เช่น กระดูกหัก หรือบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นต้น

การใช้ยารักษาความดันโลหิตต่ำในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ภาวะความดันโลหิตต่ำในเด็กและวัยรุ่น ส่วนใหญ่มีสาเหตุเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ (Neurally mediated hypotension) แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ยารักษาภาวะความดันโลหิตต่ำในเด็กมากเพียงพอ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น การอยู่ในท่านั่งหรือยืนเป็นเวลานาน แต่หากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นแล้ว การเพิ่มปริมาตรน้ำในร่างกายโดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือรับประทานเกลือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาความดันโลหิตต่ำมีอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำมีดังนี้ เช่น

1. ยากลุ่ม IV Vasopressors ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตสูงก็ได้

2. ยากลุ่ม Corticosteroids ทำให้เกิดภาวะ หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นฉีกง่าย ปวดศีรษะ การบวมน้ำในร่างกาย

3. ยา Midodrine ทำให้ขนลุก คันบริเวณศีรษะ ปวดขณะปัสสาวะ ปวดแปลบ คัน ความดันโลหิตสูงในท่านอน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก หนาวสั่น ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด นอนหลับยาก/นอนไม่หลับ

4. ยา Pyridostigmine ทำให้การมองเห็นผิดปกติ น้ำตาไหลออกมามากผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ เสมหะเยอะผิดปกติ หลอดลมหดตัว/หายใจลำบาก คลื่นไส้ ท้องเสีย เหงื่อออกมาก

5. ยา Droxidopa ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงในท่านอน ไข้สูงมาก สับสน อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจล้มเหลว

6. ยา Caffeine ทำให้ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะบ่อย

7. ยา Erythropoietin ทำให้เกิด ภาวะความดันโลหิตสูง ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว บวมน้ำ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูกหรือท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ปวดข้อ

8. ยากลุ่ม NSAIDs ทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคหลอดเลือดหัวใจ เลือดออกตามร่างกายง่าย/มากผิดปกติ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาความดันโลหิตต่ำ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ธัชพงศ์ งามอุโฆษ. Approach to Syncope: A Clinical Cardiac Electrophysiologist Perspective https://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/Approach_to_Syncope_on_Electrophysiologist_perspective [2018,June30]
  2. รพีพร โรจน์แสงเรือง. กายวิภาคและสรีรวิทยาในหญิงตั้งครรภ์ http://www.wongkarnpat.com/viewpat.php?id=1296#.WxupzYozbIU [2018,June30]
  3. อินทนนท์ อิ่มสุวรรณ. ยากระตุ้นการหดตัวกล้ามเนื้อหลอดเลือดที่ใช้ในห้องฉุกเฉิน. ธรรมศาสตร์เวชสาร 1 (มกราคม-มีนาคม 2558) : 104-113.
  4. Gupta, V. and Lipsitz, L.A. Orthostatic Hypotension in the Elderly: Diagnosis and Treatment. The American Journal of Medicine 120 (2007) : 841-847.
  5. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Orthostatic hypotension (postural hypotension) https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/orthostatic-hypotension/symptoms-causes/syc-20352548 [2018,June30]
  6. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Low Blood Pressure (Hypotension) https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/low-blood-pressure/symptoms-causes/syc-20355465 [2018,June30]