ยารักษาตาปลา (Corns medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาตาปลา

ยารักษาตาปลาหมายความว่าอย่างไร?

ยารักษาตาปลา(Corns medications) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการที่ผิวหนังส่วนนั้น/ส่วนที่เกิดตาปลาได้รับแรงกดและเสียดสีเป็นเวลานาน ส่งผลให้ผิวหนังหนาตัวขึ้น กดเจ็บและเกิดการอักเสบ มักเกิดขึ้นบริเวณฝ่าเท้าหรือนิ้วเท้า

แบ่งยารักษาตาปลาเป็นกี่ประเภท?

ยารักษาตาปลา เป็นยาที่มีคุณสมบัติในการลอกผิวหนัง (Keratolytic agents) ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของยาเป็นกลุ่มได้ดังนี้

1. กรดเอเอชเอ (Alpha-hydroxy acid, AHA): เช่น กรดแลกติก (Lactic acid topical), กรดไกลโคลิก (Glycolic acid), กรดมาลิก (Malic acid)

2. กรดบีเอชเอ (Beta-hydroxy acid, BHA): เช่น กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid)

3. อนุพันธ์ของวิตามินเอ ชนิดทาเฉพาะที่ (Topical Vitamin A): เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin), ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin)

4. ยาอื่นๆ: เช่น ยูเรีย (Urea cream/Urea), แอมโมเนียมแลคเตท (Ammonium lactate), โพลิโดคานอล (Polidocanol)

ยารักษาตาปลามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาตาปลามีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาครีม (Cream)
  • ยาโลชั่น (Lotion)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาเจล (Gel)
  • ยาเพสต์/ยาป้าย(Paste)
  • ยาพลาสเตอร์ (Plaster)
  • ยาแผ่นแปะ (Pad)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยารักษาตาปลาอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยารักษาตาปลา คือ

1. ใช้รักษาตาปลาบริเวณผิวหนังที่หนาผิดปกติ โดยให้ทายา หรือใช้พลาสเตอร์ หรือแผ่นแปะ ติดบริเวณตาปลาทุกวันจนกว่าตาปลาจะหลุดออก

2. Urea และ Ammonium lactate นอกจากมีคุณสมบัติในการลอกผิวหนังอย่างอ่อนจึงนำมาใช้รักษาตาปลาได้แล้ว ยังสามารถใช้รักษาอาการผิวหนังแห้ง/ผิวแห้ง แตกเป็นขุย และให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง

มีข้อห้ามใช้ยารักษาตาปลาอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยารักษาตาปลา คือ

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยานั้นๆที่รุนแรง (Hypersensitivity)

2. ยารักษาตาปลา เป็นยาใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน ห้ามเข้าตา เข้าปาก เข้าจมูก

3. ห้ามใช้ยารักษาตาปลากับผิวหนังบริเวณที่มีการอักเสบ แผลถลอก แผล/ผิวหนังติดเชื้อ และปานที่มีมาแต่กำเนิด เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง

4. ห้ามใช้ยารักษาตาปลาชนิดที่เป็นกรดร่วมกับยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ห้ามทายาชนิดอื่นๆบริเวณที่เป็นตาปลา หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง

5. ห้ามใช้ใบมีดโกนหรือของมีคมอื่นๆ ตัดผิวหนังบริเวณที่เป็นตาปลาออกด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เกิดแผลเลือดออก หรือแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาตาปลาอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาตาปลา เช่น

1. ยารักษาตาปลาแต่ละชนิดมีวิธีใช้ต่างกัน ควรศึกษาข้อมูลสำคัญต่างๆ รวมทั้งวิธีใช้จากเอกสารกำกับยาเพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องและได้ประสิทธิภาพการรักษาที่ดี

2. หากใช้ยารักษาตาปลาแล้วอาการของโรคไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

3. ควรระวังไม่ให้ยารักษาตาปลาเข้า ตา เพราะอาจทำให้ระคายเคือง ตา อย่างมาก หากยาเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากจนอาการระคายเคืองทุเลา หากไม่ทุเลาให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

4. ก่อนใช้ยารักษาตาปลา ควรแช่เท้าในน้ำประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้ผิวหนังบริเวณนั้นนิ่มลง ซึ่งจะช่วยให้ยาฯซึมผ่านได้มากขึ้น และสามารถขัดผิวหนังที่หนาตัวออกได้ง่าย ขณะที่ผิวเริ่มนิ่มลงหรือหลุดลอกออกแล้วนั้น ไม่ควรใช้ของมีคมตัดผิวส่วนนั้นออก ควรใช้ตะไบหรือหินขัดเท้าขัดออกแทน

5. ยารักษาตาปลาที่มีคุณสมบัติเป็นกรด อาจระคายเคืองผิวหนังปกติได้ จึงควรทายาเฉพาะบริเวณที่เป็นตาปลาเท่านั้น และป้องกันผิวหนังปกติรอบๆบริเวณนั้นด้วยการทาขี้ผึ้งซิงค์ออกไซด์ (Zinc paste/Zinc oxide) หรือวาสลีนปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly, Vasaline®)

6. แสงแดดอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทายากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอเกิดการระคายเคืองมากขึ้น ดังนั้นในระหว่างที่ใช้ยากลุ่มนี้ ควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง หรือสวมรองเท้าที่สามารถบังแสงแดดบริเวณผิวที่ทายานี้

7. หลังจากรักษาตาปลาแล้ว ต้องหาสาเหตุการเกิดโรคนี้ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ เช่น หากผู้ป่วยใส่รองเท้าที่คับเกินไป อาจทำให้เท้าเกิดการเสียดสีกับรองเท้าในตำแหน่งเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดตาปลาขึ้นได้ ควรเปลี่ยนมาใส่รองเท้าที่มีความกว้างและยาวพอดีกับเท้าแทน นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ การลดน้ำหนักจะสามารถลดอาการปวดจากตาปลา และลดแรงเสียดสีระหว่างเท้ากับรองเท้าได้เช่นกัน

การใช้ยารักษาตาปลาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาตาปลาในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. การใช้ยารักษาตาปลาที่มีคุณสมบัติเป็นกรด,ยา Urea, ยา Polidocanol, ในหญิงมีครรภ์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายใดๆ กับทั้งมารดาและทารกในครรภ์หากใช้ยานี้ภายในระยะเวลาที่ทำให้ตาปลาหลุดออกหมดและใช้กับบริเวณผิวหนังเฉพาะส่วนที่เป็นตาปลาเท่านั้น

2. ไม่ควรใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอในหญิงมีครรภ์ เพราะหากยานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ เช่น ความพิการแต่กำเนิด

การใช้ยารักษาตาปลาในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาตาปลาในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ควรระวังการใช้ยารักษาตาปลาในผู้ป่วยสูงอายุที่มีความผิดปกติของเส้นเลือด/หลอดเลือด หรือเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงปลายเท้า เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย/ส่วนแขน-ขา หรือมีปลายประสาทชา/ชาปลายมือ ปลายเท้า เพราะผู้ป่วยจะมีอาการ มือ/เท้าชา ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกหากผิวหนังที่มือ/เท้าระคายเคืองหรือมีบาดแผลจากยา อาจส่งผลให้แผลฯมีอาการรุนแรง หรือติดเชื้อแบคทีเรีย และ/หรือเชื้อราแทรกซ้อนได้

การใช้ยารักษาตาปลาในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาตาปลาในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ควรระวังการใช้ยารักษาตาปลาในเด็ก เนื่องจากผิวของเด็กมีความชุ่มชื้นมาก จึงทำให้ยาฯถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังและเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าวัยอื่น ดังนั้นไม่ควรทายาทิ้งไว้นานเกินไปรวมถึงต้องเฝ้าระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาฯ และควรใช้ยารักษาตาปลาเฉพาะตามคำสั่งแพทย์

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาตาปลาเป็นอย่างไร?

ยารักษาตาปลาทุกชนิด ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)เฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง แสบร้อน ผิวหนังแห้ง ผิวหนังลอก และอาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง หรือมีผื่นขึ้น กรณีใช้กับผิวหนังในบริเวณปกติ

นอกจากนี้ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ยังทำให้ ปวดศีรษะ ผิวไวต่อแสงแดด หรือทำให้สีผิวบริเวณที่ทายาเปลี่ยนไปจากเดิม

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน(รวมยารักษาตาปลา)ทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. American Academy of Dermatology. How to treat corns and calluses https://www.aad.org/public/skin-hair-nails/skin-care/corns-and-calluses[2017,April8]
  2. Grouios, G. Corns and calluses in athletes’ feet: a cause for concern. The Foot 14 (2004) : 175–184.
  3. Hogan, D.J., and others. Corns Treatment & Management http://emedicine.medscape.com/article/1089807-treatment#showall[2017,April8]
  4. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Corns and calluses. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/corns-and-calluses/basics/treatment/con-20014462[2017,April8]
  5. National Health Service. Corns and calluses – Treatment http://www.nhs.uk/Conditions/CornsandCalluses/Pages/Treatment.aspx [2017,April8]
  6. Schaefer, C., Peters P., and Miller, R.K. Drugs During Pregnancy and Lactation. Third Edition. Oxford : Academic press., 2015.