ยารักษากลาก (Ringworm medications)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ยารักษากลากคืออะไร?

โรคกลาก (Dermatophyte infections หรือ Tinea หรือ Ringworm) มีสาเหตุจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟท์ (Dermatophytes) ซึ่งเป็นเชื้อราก่อโรคบริเวณผิวหนัง ผม และเล็บ

ดังนั้น ‘ยาที่ใช้รักษาโรคกลาก(Ringworm medications หรือ Tinea medication หรือ Dermatophytosis medications) จึงเป็นยาที่ออกฤทธิ์เป็นยาต้านเชื้อราในกลุ่มโรคกลาก

ยารักษาโรคกลาก มีทั้งรูปแบบยาใช้เฉพาะที่ และยารับประทาน ซึ่งสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาจพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น

  • ความรุนแรงของโรค
  • บริเวณที่เป็นโรค
  • โรคร่วมต่างๆของผู้ป่วย
  • ความพึงพอใจของผู้ป่วยในการเลือกใช้รูปแบบของยา
  • อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่อาจเกิดขึ้นกับแต่ละผู้ป่วย

ยารักษากลากแบ่งเป็นกี่กลุ่ม?

ยารักษากลาก

ยารักษากลาก แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก (Topical antifungals) เช่นยา

  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole)
  • ไมโคนาโซล (Miconazole)
  • อีโคนาโซล (Econazole)
  • เซอร์ทาโคนาโซล (Sertaconazole )
  • ไซโคลไพร็อก (Ciclopirox)
  • เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
  • โทลนาฟเตท (Tolnaftate)
  • ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield's ointment)

2. ยาต้านเชื้อราที่อยู่ในรูปแบบแชมพูสระผม (Antifungal shampoos) เช่นยา

  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide)
  • ซิงก์ ไพริไทโอน (Zinc pyrithione)

3. ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน (Oral antifungals) เช่นยา

  • กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin)
  • ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
  • ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)

4. ยาทาสูตรผสมระหว่าง ยาสเตียรอยด์ กับ ยาต้านเชื้อรา (Combination corticosteroid/antifungal agents) เช่นยา

  • เบต้าเมทาโซน + โคลไตรมาโซล (Betamethasone + Clotrimazole)

ยารักษากลากมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษากลากมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ครีม (Cream)
  • เจล (Gel)
  • ผง (Powder)
  • โลชั่น (Lotion)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาทาเล็บ (Nail lacquer)
  • แชมพู (Shampoo)
  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน (Oral suspension)
  • ยาน้ำใสชนิดรับประทาน (Oral solution)

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

ยารักษากลากมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยารักษากลากมีข้อบ่งใช้ เพื่อ

  • ใช้รักษาโรคกลาก และ/หรือ ป้องกันการกลับเป็นซ้ำ โดยมีรายละเอียดดังนี้ เช่น
    • ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก ใช้ทาเมื่อมีผื่นเฉพาะที่ เช่น ใบหน้า ลำตัว ขาหนีบ มือ เท้า หรือเล็บ เป็นต้น โดยให้ทาเกินขอบผื่นออกมาอีกอย่างน้อย 2 เซนติเมตร
    • ยาต้านเชื้อราที่อยู่ในรูปแบบแชมพูสระผม ใช้เป็นยาเสริมในการรักษาโรคกลากในบางบริเวณ เช่น หนังศีรษะ
    • ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน ใช้เป็นยาหลักในการรักษาโรคกลากบริเวณหนังศีรษะและเล็บ นอกจากนี้ยังใช้เมื่อมีผื่นเป็นบริเวณกว้าง หรือผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาทา
    • ยาทาสูตรผสมระหว่างยาสเตียรอยด์ กับ ยาต้านเชื้อรา ใช้รักษาโรคกลากที่มีอาการอักเสบของผิวหนังร่วมด้วย เช่น บวม แดง คัน แสบร้อน

ยารักษากลากมีข้อห้ามใช้อย่างไร?

ยารักษากลากมีข้อห้ามใช้ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนอง/ปฏิกิริยาไวเกินที่รุนแรง
  • ยา Fluconazole ถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางไต ดังนั้นควรปรับลดขนาดยาลงในผู้ที่มีการทำงานของไตผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยา Itraconazole ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะอาจทำให้อาการแย่ ลง
  • ห้ามใช้ยา Terbinafine ในผู้ป่วยที่เป็น โรคตับ หรือ โรคไต

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษากลากอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษากลาก เช่น

  • ขณะที่ใช้ยาในรูปแบบยาสระผม ควรมัดระวังไม่ให้เข้าตา หากผลิตภัณฑ์เข้าตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
  • การใช้แชมพูฟอกบริเวณผิวหนัง ให้ฟอกบริเวณที่เป็นโรค แล้วทิ้งไว้นานประมาณ 10 นาที แล้วล้างออก ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป หรือใช้บ่อยกว่าที่กำหนด เพราะอาจทำให้ระคายเคือง แสบร้อน ผิวแห้งลอก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Ketoconazole ในรูปแบบรับประทาน เพราะอาจทำให้เกิดพิษต่อตับ
    • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ
    • ควรเลือกใช้ยานี้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาทา หรือ รักษาด้วยยาต้านเชื้อราชนิดอื่นไม่ได้ผล หรือไม่สามารถทนต่อยาต้านเชื้อราชนิดอื่นได้เท่านั้น
  • ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน Ketoconazole, Fluconazole, และ Itraconazole เป็นยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme inhibitor), ส่วน Griseofulvin เป็นยาที่เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme inducer) ซึ่งอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) กับยาอื่นได้ง่าย
  • ขณะที่ใช้ยาต้านเชื้อรา Griseofulvin และ Ketoconazole ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram-like Reaction) อาการที่เกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน ใบหน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ช็อก หรือเสียชีวิต
  • ควรหลีกเลี่ยงการทายาทาสูตรผสมระหว่าง ยาสเตียรอยด์ กับ ยาต้านเชื้อราบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น ขาหนีบ รักแร้ เต้านม ใบหน้า อวัยวะเพศ และควรใช้ยานี้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมตามแพทย์/เภสัชกรแนะนำ ไม่ใช้ติดต่อกันนานเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้โรคกลากกลับมาเป็นซ้ำแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ยาจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์อีกด้วย
  • ควรระวังการใช้ยา Terbinafine ในผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus ย่อว่า SLE), ผู้มีความผิดปกติของเม็ดเลือด, หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

การใช้ยารักษากลากในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษากลากใน หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรเป็นดังนี้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ควรเลือกใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอก เนื่องจากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงมีความปลอดภัยมากกว่า โดยเลือกใช้ยา Clotrimazole, Terbinafine, หรือ Ciclopirox เป็นตัวเลือกแรก

การใช้ยารักษากลากในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษากลากในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคร่วม/โรคประจำตัว และมียาที่ต้องใช้เป็นประจำหลายชนิดอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีอาการของโรคกลากที่ไม่รุนแรง ควรเริ่มจากการใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทาก่อน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
  • หากมีอาการกลากรุนแรง มีผื่นบริเวณกว้าง หรือใช้ยาทาไม่ได้ผล สามารถใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานได้ โดยเลือกยา Terbinefine เป็นยาตัวเลือกแรก เพราะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี นอกจากนี้ยังพบการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาน้อยกว่ายาต้านเชื้อราตัวอื่น

การใช้ยารักษากลากในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษากลากในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยเด็กสามารถใช้ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอกได้เช่นเดียวกันกับวัยผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าอาการของโรคกลากไม่รุนแรง ควรเริ่มรักษาโดยการใช้ยาทาภายนอกก่อน
  • หากมีอาการรุนแรง สามารถใช้ยารับประทานได้เช่นกัน โดยเลือกยา Terbinafine เป็นตัวเลือกแรก เพราะมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยค่อนข้างดีในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษากลากเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในกลุ่ม ยารักษากลาก เช่น

  • ยาต้านเชื้อราชนิดทาภายนอกและแชมพูสระผม พบอาการไม่พึงประสงค์ฯได้น้อยและส่วนใหญ่จะพบในบริเวณที่ใช้ยา เช่น
    • คัน
    • ระคายเคือง
    • ผิวแดง
    • ผิวหนังแสบร้อน
    • ผื่นลมพิษ
    • ผิวแห้งลอก
  • ยา Griseofulvin อาจทำให้
    • ปวดศีรษะ
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • ท้องเสีย
    • ท้องอืด
    • เหนื่อยล้า
    • มึนงง
    • นอนไม่หลับ
    • ตาพร่า
    • ปลายประสาทอักเสบ
    • เป็นพิษต่อตับ/ ตับอักเสบ
    • ผิวหนังไวต่อแสง (Photosensitivity)
    • มีอาการคล้ายโรคลูปัส (Lupus-like reaction หรือ Lupus like syndrome)
  • ยา Fluconazole อาจทำให้
    • ปวดศีรษะ
    • เวียนศีรษะ
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • ท้องเสีย
    • การรับรสผิดปกติ
    • ผื่นคันบริเวณผิวหนัง
  • ยา Itraconazole อาจทำให้เกิดอาการ
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • เบื่ออาหาร
    • บวมน้ำ
    • ปวดศีรษะ
    • ปวดท้อง
    • ท้องเสีย
    • มีไข้
    • อ่อนเพลีย
    • ความดันโลหิตสูง
    • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • ยา Ketoconazole ชนิดรับประทาน อาจทำให้เกิดอาการ
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • เบื่ออาหาร
    • ปวดศีรษะ
    • มึนงง
    • อ่อนเพลีย
    • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
    • เต้านมโตในเพศชาย
    • อาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบตับและน้ำดี เช่น
      • ตับอักเสบ/ เซลล์ตับถูกทำลาย
      • ดีซ่าน
      • ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
      • ภาวะตับโต
  • ยา Terbinafine อาจทำให้
    • มีไข้
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • ปวดศีรษะ
    • การรับกลิ่นหรือรสผิดปกติ
    • น้ำหนักตัวลดลง
    • ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ
    • มีอาการคล้ายโรคลูปัส (Lupus-like reaction)
    • เป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบ
  • ยาทาสูตรผสมระหว่างยาสเตียรอยด์กับยาต้านเชื้อรา อาจทำให้เกิด อาการไม่พึงประสงค์จากยากลุ่มสเตียรอยด์เมื่อร่างกายได้รับยาสเตียรอยด์นี้ในปริมาณมากเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น
    • สิว
    • ผิวหนังบาง
    • ผิวแตกลาย
    • เส้นเลือดฝอยขยายตัว
    • โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea)

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษากลาก) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. โกวิท คัมภีรภาพ. ยาทาต้านเชื้อรา. วารสารสมาคมศิษย์เก่าสถาบันโรคผิวหนัง ฉบับที่ 37 (กันยายน 2557): 15-21.
  2. คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา สาขาโรคผิวหนัง พ.ศ. 2556 – 2558. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาที่ใช้ทางโรคผิวหนัง https://goo.gl/Lp2nfU[2019,March16]
  3. Hainer, B., L. Dermatophyte Infections. American Family Physician 67 (January 2003): 101-108.
  4. Ely, J., E. and others. Diagnosis and Management of Tinea Infections Available from: https://www.aafp.org/afp/2014/1115/p702.html [2019,March16]
  5. Kaul, S., Yadav, S. Dogra, S. Treatment of Dermatophytosis in Elderly, Children, and Pregnant Women. Indian Dermatol Online J. 8 (September – October 2017): 310-318.