ยายับยั้งอินเตอร์ลิวคิน (Interleukin Inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ระบบภูมิคุ้มกัน(ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายเป็นระบบที่มีความซับซ้อนที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย ประกอบไปด้วยการทำงานร่วมกันของเซลล์ภูมิคุ้มกันหรือเซลล์เม็ดเลือดขาวหลายชนิด ร่วมกับสารภูมิต้านทานหรือแอนตีบอดี (Antibodies)ซึ่งการทำงานร่วมกันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสื่อสารระหว่างเซลล์ ร่างกายจึงสร้างสารโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารระหว่างเซลล์เรียกว่า “ไซโตไคน์ (Cytokines)”ซึ่งมีอยู่หลายชนิด สารไซโตไคน์ที่สำคัญกลุ่มหนึ่งที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวมีชื่อเรียกว่า “อินเตอร์ลิวคิน (Interleukins)” ซึ่งทำหน้าที่ช่วยในการสื่อสารระหว่างเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย

โดยปกติ เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวหลั่งอินเตอร์ลิวคินชนิดต่างๆออกมาแล้วนั้น อินเตอร์ลิวคินจะเข้าจับตัวรับอินเตอร์ลิวคิน (Interleukin Receptor) อย่างจำเพาะเจาะจงเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น อินเตอร์ลิวคิน 1 (Interleukin 1) เมื่อเข้าจับกับตัวรับแล้ว จะมีหน้าที่ในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย, ต่อปฏิกิริยาการอักเสบ, และควบคุมการแบ่งเซลล์เม็ดเลือด(Hematopoiesis)

อินเตอร์ลิวคินในร่างกายมนุษย์ที่ค้นพบแล้ว มีจำนวนกว่า 36 ชนิด แต่ละชนิดมีบทบาทในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแตกต่างกันออกไป จึงมีการนำบทบาทของอินเตอร์ลิวคินแต่ละชนิดมาพัฒนาเป็นยา ทั้งยาในรูปแบบตัวอินเตอร์ลิวคินเองที่ช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่องยา“Interleukin”) และยาที่เรียกว่า “ยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน/ยายับยั้งอินเตอร์ลิวคิน/ Interleukin inhibitor)” เพื่อกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

สำหรับยาที่ยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินในปัจจุบัน ได้แก่ การยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน 1 และของอินเตอร์ลิวคิน 6 ที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, อินเตอร์ลิวคิน 2 ใช้ในการลดการต่อต้านของร่างกายภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ, อินเตอร์ลิวคิน 12, 17 และ 23 ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยายับยั้งอินเตอร์ลิวคิน

ยาที่มีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน มีข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้ เช่น

ก. ยาที่ยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน 1:

  • ยาอะนาคินรา (Anakinra): ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) และกลุ่มอาการไข้กลับซ้ำที่เกี่ยวข้องกับไครโอไพริน/สารโปรตีนชนิดหนึ่ง (Cryopyrin-associated periodic syndromes; CAPS, โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมากๆที่ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะทั่วร่างกาย)
  • ยาริโลนาเซปต์ (Rilonacept) และยาคานิคินูแมบ (Canakinumab): ใช้ในการรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง/โรคออโตอิมมูน(Autoimmune), ในกลุ่มอาการไข้กลับซ้ำที่เกี่ยวข้องกับไครโอไพริน (Cryopyrin-associated periodic syndromes; CAPS) ซึ่งผู้ป่วยจะผื่นและไข้กลับซ้ำ ร่วมกับการอักเสบของข้อและของบริเวณอื่นๆของร่างกาย

ข. ยาที่ยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน 2:

  • ยาดาคลิซูแมบ (Daclizumab) ใช้เพื่อป้องกันการต่อต้านของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายภายหลังการปลูกถ่ายไต
  • ยาบาซิลิซิแมบ (Basiliximab) ใช้เพื่อป้องกันการต่อต้านของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะไต

ค. ยาที่ยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน 6:

  • ยาโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ยาซิลทูซิแมบ (Siltuximab) ใช้ในการักษาโรค Castleman’s Disease ซึ่งเป็นโรคต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดจากการสะสมของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์(Lymphocyte)
  • ยาซิริลูแมบ (Sarilumab) ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ง. ยาที่ยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน 12 และ 23:

  • ยาอัสทีคินูแมบ (Ustekinumab) ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) และโรคโครห์น (Crohn’s)

จ. ยาที่ยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน 17:

  • ยาซีคูคินูแมบ (Secukinumab) ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน
  • ยาอิซีคิซูแมบ (Ixekizuab) ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินจะเข้าจับกับตัวรับอินเตอร์ลิวคิน (Interleukin receptor) บนผิวเซลล์เป้าหมายอย่างจำเพาะเจาะจงเพื่อรบกวนหรือยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน ทำให้ไม่เกิดกระบวนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายผ่านอินเตอร์ลิวคินชนิดต่างๆ

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินเป็นยาในรูปแบบยาฉีด การกำหนดขนาดยาขึ้นกับปัจจัยทางการแพทย์หลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย ภาวะของโรค ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดชนิดยาและขนาดยาให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาในกลุ่มยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง รวมไปถึงวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดต่างๆ
  • ประวัติการเกิดโรค ทั้งโรคที่เป็นอยู่ โรคเรื้อรัง และประวัติโรคในอดีต โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรควัณโรค ประวัติโรคระบบทางเดินอาหาร โรคกระเพาะอาหารทะลุ โรคไต โรคมะเร็ง
  • ประวัติการได้รับวัคซีนต่างๆโดยเฉพาะวัคซีนเชื้อเป็น (Live vaccines) เช่น วัคซีนหัด วัคซีนหัดเยอรมัน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากผู้ป่วยลืมเข้ารับการบริหารยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน ควรแจ้งให้แพทย์/สถานพยาบาลที่กำลังเข้ารับการรักษาอยู่ทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อนัดหมายในการรับยา

กลุ่มยายับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไรบ้าง?

ยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาฉีด อาการไม่พึงประสงค์จากยาในกลุ่มนี้โดยส่วนมากคือ การเกิด การระคายเคือง อักเสบ บวม แดง บริเวณที่ฉีด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรุนแรง และสามารถหายไปได้เองภายในเวลา 2-3 วัน

ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ปวดศีรษะ เกิดอาการคัน มีผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ไซนัสอักเสบ ปวดข้อ ไม่สบายเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดท้อง ท้องเสีย

บางรายที่ใช้ยาเพื่อรักษาโรคข้อรูมาตอยด์อาจรู้สึกว่าอาการของโรครูมาตอยด์มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการเหล่านี้

หากผู้ป่วยใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันตามจุดต่างๆของร่างกาย, ริมฝีปาก เปลือกตา บวม, หายใจไม่สะดวกหรือติดขัด/หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาใหม่ หากผู้ป่วยพบว่าตนเองเกิดอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบ และควรสอบถามรายละเอียดอาการไม่พึงประสงค์ของยาจาก แพทย์ และจากเภสัชกร เมื่อมีการสั่งใช้ยาและรับยาต่างๆรวมถึงยายับยั้งอินเตอร์ลิวคินทุกครั้ง

มีข้อควรระวังการใช้ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน เช่น

  • ไม่ใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในขณะที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวัณโรคก่อนเริ่มใช้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนเชื้อเป็น ขณะใช้ยาในกลุ่มนี้
  • แพทย์จะพิจารณาตรวจเลือดดู เอนไซม์การการทำงานของตับในเลือด ดูค่าการทำงานของไต และดูเม็ดเลือดตามความเหมาะสม
  • ผู้ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมขณะใช้ยาใน กลุมนี้ทั้งผู้ป่วยผู้ชายและผู้หญิง

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

การศึกษาเรื่องปฏิกิริยาระหว่างยาของยาในกลุ่มยับยั้งอินเตอร์ลิวคิน ยังไม่กว้างขางมากนัก อย่างไรก็ดี ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับวัคซีนเชื้อเป็น เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายมีโอกาสติดเชื้อต่างๆจากวัคซีนได้ เนื่องจากยามีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ควรเก็บรักษายาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินอย่างไร?

โดยทั่วไปยาในกลุ่มยับยั้งอินเตอร์ลิวคิน ควรเก็บในตู้เย็น อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บให้พ้นแสง/แสงแดด แต่อย่างไรก็ดี ควรปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายานี้

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคินอมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของอินเตอร์ลิวคิน มียาชื่อสามัญ ยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย ดังต่อไปนี้ เช่น

บรรณานุกรม

  1. Highlights of Prescribing Information. Kineret. US FDA. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/103950s5136lbl.pdf [2017,Feb25]
  2. Highlights of Prescribing Information. Arcalyst. US FDA. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/125249lbl.pdf [2017,Feb25]
  3. Highlights of Prescribing Information. Zenapax. US FDAhttp://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/103749s5059lbl.pdf [2017,Feb25]
  4. Highlights of Prescribing Information. Simulect. US FDA.http://www.fda.gov/downloads/drugs/developmentapprovalprocess/howdrugsaredevelopedandapproved/approvalapplications/therapeuticbiologicapplications/ucm113375.pdf [2017,Feb25]
  5. Highlights of Prescribing Information. Actemra. US FDA.https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2016/125276s107_125472s018lbl.pdf [2017,Feb25]
  6. Highlights of Prescribing Information. SYLVANT. US FDA. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/125496s000lbl.pdf [2017,Feb25]
  7. Highlights of Prescribing Information. Stelara. US FDA. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2016/761044lbl.pdf [2017,Feb25]
  8. Highlights of Prescribing Information. Secukinumab. US FDA. https://www.pharma.us.novartis.com/sites/www.pharma.us.novartis.com/files/cosentyx.pdf [2017,Feb25]
  9. Highlights of Prescribing Information. TALTZ. US FDA. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2016/125521s000lbl.pdf [2017,Feb25]
  10. List of Interleukin Inhibitors. WHO Collaborating Centre for Drug Statistics Methodology https://www.whocc.no/atc_ddd_index/?code=L04AC [2017,Feb25]
  11. โรค CAPS. https://www.printo.it/pediatric-rheumatology/TH/info/pdf/17/2/ [2017,Feb25]
  12. โรคไข้กลับซ้ำที่สัมพันธ์กับ cryopyrin หรือโรค CAPS สรวง รุ่งประกายพรรณ. บทบาทของ Interleukin-1 ในโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์และสารออกฤทธิ์ต้านตัวรับ Interleukin-1 สําหรับการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์. วารสารไทยไภษัชยนิพนธ์. ปีที่ 3 ฉบับเดือนมีนาคม 2549 ; 1-12. https://www.tci-haijo.org/index.php/TBPS/article/viewFile/33099/2812 [2017,Feb25]