ยามเอ็นไม่เล่นด้วย (ตอนที่ 2)

ยามเอ็นไม่เล่นด้วย-2

      

      นพ.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการป้องกันควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดแรงตึงต่อเอ็นกล้ามเนื้อมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อทำซ้ำเป็นเวลานาน ทำกิจกรรมออกกำลังกายให้หลากหลายและควรสับเปลี่ยนการออกกำลังกายชนิดอื่น อบอุ่นร่างกายให้พร้อมก่อนการทำกิจกรรม และหมั่นยืดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย ตลอดจนเลือกอุปกรณ์การเล่นกีฬาที่เหมาะสม น้ำหนักเบา และใช้ท่าทางการเล่นที่ถูกต้อง

      เอ็นอักเสบ (Tendinitis / Tendonitis) เป็นอาการบวมเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นแถบเนื้อเยื่อพังผืดที่ยืดหยุ่นคอยเชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูกไว้ด้วยกัน ช่วยในการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อต่อ

      เอ็นอักเสบมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งซ้ำ ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า เข่า จนทำให้มีอาการปวดหรือเจ็บรอบๆ ข้อต่อ มักเกิดในผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี เนื่องจากเส้นเอ็นจะมีความทนทาน ความยืดหยุ่นที่น้อยลงและฉีกขาดได้ง่าย

      ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเอ็นอักเสบ ได้แก่

  • ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง (Incorrect posture)
  • มีกระดูกหรือข้อต่อที่ผิดปกติ เช่น ขายาวไม่เท่ากัน หรือ เป็นโรคข้อต่ออักเสบ (Arthritis)
  • มีแรงกดจากภาวะอื่น เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคเกาต์ (Gout) โรคสะเก็ดเงินข้ออักเสบ (Psoriatic arthritis) ไทรอยด์ผิดปกติ (Thyroid disorders)
  • ไม่มีการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายหรือมีการใช้อวัยวะส่วนนั้นมากไป
  • การติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง เช่น โดนแมวหรือสุนัขกัดที่มือหรือนิ้ว
  • อายุที่มากขึ้นทำให้เอ็นขาดความยืดหยุ่น
  • อาชีพในการทำงาน ที่ต้องอยู่ท่าเดิมซ้ำๆ
  • กีฬาที่เล่น เช่น กอล์ฟ เทนนิส

      เอ็นอักเสบสามารถเกิดได้ในทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนที่พบบ่อย ได้แก่

  • ฐานนิ้วหัวแม่มือ
  • ข้อศอก
  • ไหล่
  • สะโพก
  • เข่า
  • เอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. 5 วิธีดูแล "โรคเอ็นอักเสบ" อาการไม่รุนแรง. https://m.mgronline.com/qol/detail/9610000092191 [2018, January 4].
  2. Tendinitis. https://www.webmd.com/fitness-exercise/arthritis-tendinitis#1 [2018, January 4].
  3. Tendinitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tendinitis/symptoms-causes/syc-20378243 [2018, January 4].