ยามิดาโซแลม (Midazolam) หรือ ดอร์มิคุม (Dormicum)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 ธันวาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยามิดาโซแลมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยามิดาโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยามิดาโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยามิดาโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยามิดาโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยามิดาโซแลมอย่างไร?
- ยามิดาโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายามิดาโซแลมอย่างไร?
- ยามิดาโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- วัตถุออกฤทธิ์ (Psychotropic substances)
- ยาอันตราย (Dangerous drug)
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
บทนำ
มิดาโซแลม (Midazolam) เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ดอร์มิคุม/โดมิคุม (Dormicum) หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า “ยาเสียตัว” ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2513) วงการแพทย์นำมาใช้รักษาอาการโรคลมชักชนิดเฉียบพลัน ใช้เป็นยานอนหลับ และใช้สงบประสาท (ยาคลายเครียด) ในผู้ป่วยก่อนทำหัตถการทางการแพทย์อื่นเช่น การส่องกล้องตรวจอวัยวะต่างๆ (Endoscopy) หรือสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด
การใช้ยานี้เป็นที่แพร่หลายด้วยมิดาโซแลมเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว มีประสิทธิภาพสูง มีความเป็นพิษน้อย การบริหารยา/การใช้ยากับผู้ป่วยทำได้หลายทางเช่น เป็นยารับประทาน ยาฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าเส้นเลือด
ธรรมชาติของยามิดาโซแลมสามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 36% หากฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อจะมีการดูดซึมถึงประมาณ 90% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 97% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลา 1.8 - 6.4 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกจัดให้มิดาโซแลมเป็นยาจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุวัตถุประสงค์การใช้เพื่อเตรียมผู้ป่วยก่อนให้ยาระงับความรู้สึก (ยาสลบ) และจัดให้มิดาโซแลมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 2 การใช้ยานี้จะต้องใช้ใบสั่งแพทย์มาประกอบก่อนการจ่ายยาทุกครั้ง เราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลของรัฐและของเอกชนทั่วไป
ยามิดาโซแลมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยามิดาโซแลมมีสรรพคุณดังนี้คือ
- ใช้สงบประสาทในผู้ป่วยที่ต้องรับหัตถการทางการแพทย์เช่น การส่องกล้องตรวจอวัยวะ ต่างๆ การทำหัตถการทางทันตกรรม หรือการวางยาสลบก่อนการผ่าตัด
- บรรเทารักษาอาการนอนไม่หลับ อาการโรคลมชัก
ยามิดาโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
มิดาโซแลมเป็นกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiaxepine) ที่ออกฤทธิ์สงบประสาทและทำให้รู้สึกง่วงนอน รวมถึงทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อพร้อมกับลดอาการวิตกกังวล ด้วยฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อร่างกายดังกล่าวจึงทำให้ยามีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยามิดาโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามิดาโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ด ขนาด 15 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 15 มิลลิกรัม/3 มิลลิลิตร
ยามิดาโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยามิดาโซแลมมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. สำหรับอาการนอนไม่หลับ:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 7.5 - 15 มิลลิกรัมครั้งเดียวก่อนนอน
- เด็ก: ไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
ข. สำหรับสงบประสาทก่อนทำหัตถการทางทันตกรรมหรือผ่าตัดเล็ก:
- เด็กที่อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป: รับประทานครั้งเดียว 250 - 500 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และขนาดสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: ไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- ผู้ใหญ่: ใช้ในลักษณะของยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2.5 มิลลิกรัม ระยะเวลาของการฉีดควรอยู่ในช่วง 2 - 5 นาทีก่อนที่จะรับการทำหัตถการ 5 - 10 นาที หากจำเป็นต้องให้ยาเพิ่มให้เว้นระยะห่างจากการให้ยาครั้งแรกประมาณ 2 นาทีเป็นอย่างต่ำ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามิดาโซแลม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยามิดาโซแลมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยามิดาโซแลมสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยามิดาโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามิดาโซแลมอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ทำให้อัตราการหายใจต่ำลง ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ไอ ตากระตุก อยากอาหารมากขึ้น ผื่นคันตามผิวหนัง สับสน หัวใจเต้นเร็ว ปากซีด อ่อนแรง วิงเวียน มีภาวะประสาทหลอน สะลึมสะลือ/ง่วงซึม ตัวเหลือง หัวใจหยุดเต้น พูดไม่ชัด หลอดลมเกร็งตัว (หายใจลำบาก) อาจพบอาการถอนยา การติดยา และความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยามิดาโซแลมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามิดาโซแลมดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกหรือโคม่า ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจติดขัด/หายใจลำบากระยะรุนแรง
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่มีภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่มีประวัติโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันการถอนยาหรือการติดยา
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องระมัดระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุจากอาการง่วงนอน
- ระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามิดาโซแลมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยามิดาโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามิดาโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยามิดาโซแลมร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาท หรือกลุ่มยาที่เป็นอนุพันธุ์ของฝิ่น หรือร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม จะทำให้เพิ่มฤทธิ์กดการหายใจในผู้ป่วยมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกัน
- การใช้ยามิดาโซแลมร่วมกับยาบางตัวอาจทำให้ความเข้มข้นของยามิดาโซแลมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจมีอาการข้างเคียงของยามิดาโซแลมติดตามมามากขึ้น ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Cimetidine, Erythromycin, Clarithromycin, Diltiazem (ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง), Verapamil, Ketoconazole, Itraconazole และ ยาต้านไวรัสอีกหลายรายการ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
- ยามิดาโซแลมในกระแสเลือดอาจลดลงจนด้อยประสิทธิภาพในการรักษาหากใช้ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่น Phenytoin, Carbamazepine, Phenobarbital, Rifampicin, Halothane (ยาดมสลบ), และ Thiopental (ยาสลบ) หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรลดหรือปรับขนาดของยากลุ่มดังกล่าวให้เหมาะสมต่อร่างกายคนไข้เป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษายามิดาโซแลมอย่างไร?
ควรเก็บรักษายามิดาโซแลมในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยามิดาโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามิดาโซแลมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dormicum (ดอร์มิคุม) | Roche |
Midazol (มิดาโซล) | Hameln |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Midazolam [2014,Nov22]
2 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/195#item-9085 [2014,Nov22]
3 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=midazolam [2014,Nov22]
4 http://www.drugs.com/cdi/midazolam.html [2014,Nov22]
5 http://www.mims.com/USA/drug/info/midazolam/ [2014,Nov22]
6 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Dormicum/ [2014,Nov22]
7 https://www.mims.com/thailand/drug/info/Midazol/ [2014,Nov22]