ยาพาโรโมมัยซิน (Paromomycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาพาโรโมมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาพาโรโมมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาพาโรโมมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาพาโรโมมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาพาโรโมมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาพาโรโมมัยซินอย่างไร?
- ยาพาโรโมมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาพาโรโมมัยซินอย่างไร?
- ยาพาโรโมมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคบิดมีตัว โรคบิดอะมีบา (Amebic dysentery)
- พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Cysticercosis)
- ตืดวัว พยาธิตืดวัว (Beef Tapeworm infection)
- โรคบิด (Dysentery)
- โรคติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคตับ (Liver disease)
บทนำ
ยาพาโรโมมัยซิน (Paromomycin) เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มอะมิโนกลัยโคไซด์ (Aminoglycoside: กลุมยาปฏิชีวนะที่เป็นสารประกอบของโปรตีนและน้ำตาลบางชนิดที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบได้)
ในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) นักวิทยาศาสตร์ได้แยกสกัดยานี้จากเชื้อจุลชีพที่ชื่อ Strep tomyces krestomuceticus วงการแพทย์นำมาใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิและเชื้ออะมีบาในลำไส้ ของมนุษย์ (โรคบิดมีตัว)
การศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า ยาพาโรโมมัยซินถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้น้อยมากและถูกขับออกมา กับอุจจาระ โดยอยู่ในรูปยาที่ไม่ถูกเปลี่ยนโครงสร้าง 100% แต่จะดูดซึมได้เร็วหากให้ยาโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งยาที่เหลือจากการรักษาจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโรคจัดให้พาโรโมมัยซินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของชุมชน แต่ประเทศไทย เราอาจจะพบเห็นการใช้ยาตัวนี้น้อย เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยการใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตาม ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาพาโรโมมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาพาโรโมมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาการติดเชื้อพยาธิต่างๆ และเชื้ออะมีบาในทางเดินลำไส้ของมนุษย์ (โรคบิดมีตัว)
- รักษาโรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)
ยาพาโรโมมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาพาโรโมมัยซินคือ ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนโดยเข้าไป จับกับสารอาร์เอ็นเอชื่อ 16เอส ไรโบโซมอล อาร์เอ็นเอ (16s ribosomal RNA) ทำให้เชื้ออะมีบา และพยาธิที่ตอบรับกับยานี้หยุดการแพร่กระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด
ยาพาโรโมมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพาโรโมมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำ ขนาดความแรง 125 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
*หมายเหตุ: ยานี้ในรูปแบบยาฉีดไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด เพราะการรักษาโดยทั่วไปได้ผลดีจากยารับประทาน
ยาพาโรโมมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาพาโรโมมัยซินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับโรคพยาธิตัวตืด (Tapeworm infection) เช่น ตืดหมู ตืดวัว: เช่น
- ผู้ใหญ่: ให้ยา 1 กรัมทุก 15 นาที เป็นจำนวน 4 ครั้ง
- สำหรับพยาธิตัวตืดที่มีชื่อ Hymenolepis nana (H. nana) ให้รับประทาน 45 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว/วัน เป็นเวลา 5 - 7 วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):
- สำหรับเชื้อพยาธิ D.latum, D.caninum, T.saganata (ตืดวัว), หรือ T.solium (ตืดหมู): รับประทาน 11 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 15 นาทีเป็นจำนวน 4 ครั้ง
- สำหรับพยาธิที่มีชื่อ H. nana: ให้รับประทาน 45 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง เป็นเวลา 5 - 7 วัน
ข. สำหรับการติดเชื้อปรสิตที่เรียกว่า Cryptosporidium parvum (Cryptospori diosis) ที่เป็นการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยโรคเอดส์: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.5 - 2.25 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 3 - 6 ครั้ง เป็นเวลา 10 - 14 วัน (หากจำเป็นอาจเพิ่มเวลาการรักษาเป็น 4 - 8 สัปดาห์)
- เด็ก: การใช้ยานี้รักษาโรคนี้ในเด็ก กำลังอยู่ในการศึกษา
ค. สำหรับการติดเชื้อปรสิต Giardia (Giardiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยแบ่งวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน
- เด็ก: รับประทาน 25 - 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยแบ่งวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน
ง. สำหรับการติดเชื้อปรสิต Dientamoeloa fragilis: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยแบ่งวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน
- เด็ก: รับประทาน 25 - 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยแบ่งวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน
จ. สำหรับโรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy): เช่น
- ผู้ใหญ่: เสริมการรักษาโรคตับในระยะโคม่า รับประทาน 4 กรัม/วันโดยรับประทานเป็นเวลา 5 - 6 วัน
- เด็ก: โรคนี้มักพบเป็นโรคในผู้ใหญ่ การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ฉ. สำหรับการติดเชื้ออะมีบา (Amoebiasis) หรือ โรคบิดมีตัว: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 35 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งให้ 3 ครั้งเป็น เวลา 5 - 10 วัน
- เด็ก: รับประทาน 25 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งให้ 3 ครั้งเป็นเวลา 5 - 10 วัน
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยาพาโรโมมัยซิน พร้อมกับอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาพาโรโมมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพาโรโมมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาพาโรโมมัยซินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาพาโรโมมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพาโรโมมัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้-อาเจียน
- มีอาการคล้ายกรดไหลย้อน
- อาจพบอาการ
- ปวดหัว
- เวียนศีรษะ
- ผื่นคัน
- เป็นพิษต่อประสาทหู
มีข้อควรระวังการใช้ยาพาโรโมมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพาโรโมมัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคลำไส้อุดตัน
- ห้ามใช้ยาพาโรโมมัยซินรักษาโรคบิดมีตัวชนิดที่เกิดนอกลำไส้เพียงยาตัวนี้ตัวเดียวลำพัง
- หากใช้ยานี้เป็นเวลานาน อาจเสี่ยงกับการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และยานี้มีการดูดซึมเข้ากระแสโลหิตได้น้อย ตัวยาจึงผ่านออกมาในน้ำนมได้น้อยจนอาจไม่ส่งผลข้างเคียงต่อเด็ก แต่ควรปรึกษาการใช้ยานี้จากแพทย์ก่อนเสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพาโรโมมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาพาโรโมมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพาโรโมมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาพาโรโมมัยซินร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจส่งผลให้ฤทธิ์การรักษาของยาเหล่านั้นลดน้อยลง จึงควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หรือแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับคนไข้ ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
- ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin
- วิตามิน เช่น วิตามินเอ
- ยารักษาโรคมะเร็ง
- ยาโรคภูมิแพ้ตนเอง/โรคออโตอิมมูน
- และยาใช้ในภาวะท้องนอกมดลูก (เช่นยา Methotrexate)
- การรับประทานยาพาโรโมมัยซินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่นยา Warfarin) สามารถเพิ่มฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดได้มากยิ่งขึ้น ควรต้องระวังการตกเลือดที่อาจติดตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับคนไข้
ควรเก็บรักษายาพาโรโมมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาพาโรโมมัยซิน เช่น
- เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาพาโรโมมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพาโรโมมัยซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Humatin (ฮิวมาติน) | Monarch Pharmaceuticals Inc. |
Paromomycin Sulfate (พาโรโมมัยซิน ซัลเฟต) | CARACO PHARMACEUTICAL LABORATORIES LTD |
Gabbryl (แกบบริล) | Kalbe Farma (indonesia) |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Paromomycin [2020,Dec19]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fDrug%2finfo%2fparomomycin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Actions [2020,Dec19]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fDrug%2finfo%2fParomomycin%2520Sulfate%2fParomomycin%2520Sulfate%2520Capsule%3ftype%3dfull [2020,Dec19]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fIndonesia%2fDrug%2finfo%2fGabbryl%2f%3ftype%3dbrief [2020,Dec19]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fSingapore%2fDrug%2finfo%2fGabbryl%2f [2020,Dec19]
- https://www.drugs.com/imprints/pd-529-pd-529-226.html [2020,Dec19]