ยาพรอกโตซีดิล (Proctosedyl suppository/ointment)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพรอกโตซีดิล (Proctosedyl suppository/ointment) เป็นยาชื่อการค้าของยารักษาและ บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร มีจัดจำหน่ายในรูปแบบของยาขี้ผึ้งและยาเหน็บทวาร ตัวยาสำคัญจะประกอบด้วย

  • ยาต้านการอักเสบกลุ่มยาสเตียรอยด์ ได้แก่ Hydrocortisone
  • ยาชาลดอาการปวดบริเวณริดสีดวงทวาร ได้แก่ Cinchocaine Hcl
  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) ได้แก่ Framycetin sulphate
  • ยาช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ได้แก่ Aesculin

ทั้งนี้ ยาพรอกโตซีดิลทั้งชนิดเหน็บทวารและชนิดขี้ผึ้ง เป็นยาใช้ภายนอกเฉพาะที่ชนิดหมวดยาอันตราย ดังนั้นก่อนการใช้ยานี้ ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง

ยาพรอกโตซีดิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาพรอกโตซีดิล

ยาพรอกโตซีดิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาและบรรเทาอาการโรคริดสีดวงทวารทั้งชนิดแบบภายนอกและภายใน
  • ลด การอักเสบ อาการปวด อาการคัน ที่รอยแผลในบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร

ยาพรอกโตซีดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาสำคัญที่เป็นส่วนประกอบในยาพรอกโตซีดิลมีดังนี้

  • Hydrocortisone: ลดการอักเสบ (เช่น บวม ปวด) อาการแสบ คัน
  • Cinchocaine Hcl: ลดอาการปวดของริดสีดวงฯ
  • Framycetin sulphate: ช่วยต้านแบคทีเรียในบริเวณริดสีดวง ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  • Aesculin: ลดการเกาะตัวของลิ่มเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

ยาพรอกโตซีดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพรอกโตซีดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบของยาเหน็บทวารหนักมีลักษณะเป็นแท่ง บรรจุแผงพีวีซี (PVC: Poly vinyl chloride: พลาสติกชนิดหนึ่ง)
  • รูปแบบของยาขี้ผึ้ง บรรจุในหลอดอลูมิเนียม (Aluminium) ขนาด 15กรัม

ยาพรอกโตซีดิลมีวิธีการใช้อย่างไร?

ยาพรอกโตซีดิลมีวิธีการใช้ เช่น

ก. การใช้ยาชนิดเหน็บทวาร: เช่น

  • สำหรับริดสีดวงทวารชนิดเฉียบพลัน: เหน็บยาครั้งละ 1 แท่ง เช้า เย็น และหลังขับถ่ายอุจจาระ หากอาการเริ่มดีขึ้นเหน็บยา 1 แท่ง ช่วงเช้าและหลังขับถ่ายอุจจาระ การใช้ยาควรอยู่ในช่วง 1 สัปดาห์
  • สำหรับริดสีดวงทวารชนิดเรื้อรัง: เหน็บยาวันละ 3 ครั้งของสัปดาห์แรก และลดเหลือวันละ 2 ครั้ง ในสัปดาห์ที่ 2 และเหน็บ 1 แท่งในสัปดาห์ที่ 3

อนึ่ง วิธีการเหน็บยาง่ายๆ ดังนี้ เช่น

  • ล้างมือให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง แกะยาออกจากแผง
  • ตะแคงตัวนอนในท่าที่ถนัด จับแท่งยาสอดเข้ารูทวารหนัก ดันแท่งยาให้เข้าไปอยู่ในทวาร

หนักจนมิดแท่งยา ควรรอเวลาสักพักหนึ่ง (15 นาทีขึ้นไป) ในท่านอนท่าเดิม เพื่อให้ยาดูดซึมเข้า บริเวณริดสีดวงและไม่หลุดออกมาเมื่อลุกขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง วิธีใช้ยาเหน็บทวาร หนัก ในเว็บ haamor.com)

ข. การใช้ยาชนิดขี้ผึ้ง: เช่น

  • สำหรับริดสีดวงทวารภายนอก: ให้ทายาบางๆบริเวณริดสีดวงทวารเช้า - เย็นและหลังขับถ่ายอุจ จาระ ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 1 สัปดาห์
  • สำหรับริดสีดวงทวารภายใน: ให้ใช้ท่อต่อสำหรับสอดทวาร (มีให้มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์) ติดเข้ากับหลอดยา สอดท่อเข้ารูทวารหนักให้ลึกพอควร ค่อยๆบีบยาปริมาณตามที่แพทย์/เภสัชกร/พยาบาลแนะนำ จากนั้นค่อยๆดึงท่อต่อออกจากรูทวาร

*อนึ่ง:

  • การใช้ยาพรอกโตซีดิล ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • ไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 3 สัปดาห์ ยกเว้นเป็นคำสั่งแพทย์
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ยกเว้นเป็นคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาเหน็บทวารทุกชนิดที่รวมถึงยาพรอกโตซีดิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาเหน็บทวารชนิดใดหรือไม่ รวมถึงการแพ้ยาพรอกโตซีดิล และการแพ้ยาต่างๆ
  • อยู่ในภาวะท้องเสีย หรือมีเลือดออกทางทวารหนักหรือไม่
  • ถ้าเป็นสุภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์ ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่ ด้วยตัวยาบางชนิดของ ยาเหน็บทวาร ยาขี้ผึ้ง ยาใช้ภายนอก อาจซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงอาจส่งผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ และอาจสามารถขับออกไปกับน้ำนมมารดาได้

ยาพรอกโตซีดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพรอกโตซีดิลมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) คือ อาจพบอาการ เช่น

  • คัน ปวด และมีผื่นขึ้น บริเวณที่ทาหรือที่สัมผัสยา

มีข้อควรระวังการใช้ยาพรอกโตซีดิลอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาพรอกโตซีดิล เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ตัวยาในสูตรตำรับนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้เกิน 3 สัปดาห์ ยกเว้นเป็นคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัส วัณโรค และเชื้อรา ที่ยังไม่ได้รับการรักษา เพราะอาจส่งผล ให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินไป อาจได้รับผลข้างเคียงเหมือนกับการได้รับยาสเตียรอยด์ ชนิดรับประทาน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพรอกโตซีดิลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ “ยา” มีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ “ยา”ทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาพรอกโตซีดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่มีรายงานว่า ยาพรอกโตซีดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานตัวอื่น แต่หากพบ ว่าการใช้ยาพรอกโตซีดิลร่วมกับยาชนิดอื่นแล้วมีอาการผิดปกติ ให้หยุดการใช้ยาพรอกโตซีดิล แล้ว รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ควรเก็บรักษายาพรอกโตซีดิลอย่างไร

ควรเก็บรักษายาพรอกโตซีดิล เช่น

ก. สำหรับยาเหน็บทวาร : เช่น

  • ให้เก็บยาพรอกโตซีดิล ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง

ข. สำหรับยาขึ้ผึ้ง: เช่น สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องได้

ค. การเก็บยานี้ทั้ง 2 รูปแบบ: เช่น

  • ควรเก็บให้พ้นแสง/ แสงสว่าง/ แสงแดด ความร้อน ความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาพรอกโตซีดิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพรอกโตซีดิล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Proctosedyl (พรอกโตซีดิล) sanofi-aventis

บรรณานุกรม

1. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fProctosedyl%2f%3fq%3dProctosedyl%26type%3dbrief [2020,Nov28]
2. http://chealth.canoe.ca/drug_info_details.asp?channel_id=0&relation_id=0&brand_name_id=946&page_no=2 [2020,Nov28]
3. http://www.chm.bris.ac.uk/webprojects2001/gerrard/aesculin.html [2020,Nov28]
4. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fMalaysia%2fdrug%2finfo%2fProctosedyl%2f%3ftype%3dfull#Actions [2020,Nov28]
5. http://en.wikipedia.org/wiki/Aesculin [2020,Nov28]
6. https://medsafe.govt.nz/profs/Datasheet/p/Proctosedylointsupp.pdf [2020,Nov28]