ยาป้องกันนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Medication for preventing the urinary tract stone formation)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาป้องกันนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะหมายความว่าอย่างไร?

ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หมายถึง ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารก่อนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กรดยูริค แคลเซียม เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีสารก่อนิ่วลดลง จึงไม่เกิดการตกผลึกและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนเป็นก้อนนิ่ว

อนึ่ง ต่อไปในบทความนี้ขอเรียก ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ว่า ‘ยาป้องกันการเกิดนิ่วฯ’

ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะแบ่งได้เป็นกี่กลุ่ม?

ยาป้องกันการเกิดนิ่วฯ แบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • ยารับประทานที่ออกฤทธิ์เพิ่มความเป็นด่างในปัสสาวะ (Oral alkalinising agent) เช่นยา โพแทสเซียมซิเตรท (Potassium citrate), โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate)
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide diuretics) เช่นยา ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide), คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide)
  • ยาต้านเอนไซม์แซนทีนออกซิเดส (Xanthine oxidase inhibitor) เช่นยา อัลโลพูรินอล (Allopurinol)
  • ยายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ยูรีเอส (Urease inhibitor) เช่นยา กรดอะซีโตไฮดรอกซามิก (Acetohydroxamic acid)

ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาผง (Powder)
  • ยาน้ำใส (Solution)

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • ยาป้องกันการเกิดนิ่วฯ สามารถลดอัตราการเกิดก้อนนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ จึงนำมาใช้ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติเป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วฯซ้ำ

มีข้อห้ามใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง/ไวเกินต่อยานั้นๆ
  • ห้ามใช้ยา Potassium citrate ในผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง รวมถึงมีโรคหรือภาวะอื่นๆ ที่อาจทำให้ร่างกายมีระดับโพแทสเซียมฯสูง เช่น ไตวายเรื้อรัง เบาหวานที่คุมอาการไม่ได้ ภาวะขาดน้ำเฉียบพลัน ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง มีการสลายของเนื้อเยื่อจำนวนมาก มีโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • ห้ามใช้ยา Potassium citrate ในผู้ที่มีภาวะผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อุดกั้น/ลำไส้อุดตัน เพราะจะทำให้เม็ดยาเคลื่อนผ่านไปไม่ได้ หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพราะอาจทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide ในผู้ที่มีภาวะไม่มีปัสสาวะ (Anuria) และมีประวัติแพ้ยาซัลฟา

มีข้อควรระวังการใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • ควรระวังการใช้ยา Sodium bicarbonate ในผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นด่าง (Alkalosis) ระดับโซเดียมในเลือดสูง ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ความดันโลหิตสูง ขาหรือเท้าบวม โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ไส้ติ่งอักเสบ เลือดออกในทางเดินอาหาร อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด มีความผิดปกติในการปัสสาวะ
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยา Sodium bicarbonate ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่นยา Phenobarbital, Salicylate เพราะอาจทำให้ระดับยา Sodium bicarbonate ในเลือดลดลง
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Potassium citrate ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่ม Potassium-sparing diuretics เช่นยา Spironolactone, Triamterine เพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นอย่างรุนแรง
  • ควรระวังการใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide ในผู้ป่วยโรค หืด เบาหวาน เกาต์ โรคตับ โรคไต โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus, SLE) ผู้มีภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย (Electrolyte imbalance) ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง กรดยูริคในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ควรระวังการใช้ยา Allopurinol ในผู้ที่มีความผิดปกติของไขกระดูก โรคตับ โรคไต
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Acetohydroxamic acid ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนัง เช่น ใบหน้าแดง ผิวหนังแดง ร้อนวูบวาบ และปวดชา (Tingling)

การใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  • หญิงมีครรภ์สามารถใช้ยากลุ่ม Oral alkalinising agent เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วฯได้ แต่ควรใช้เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่อาจได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
  • ห้ามใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ และภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ห้ามใช้ยา Allopurinol ในหญิงมีครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยานี้เพียงพอ
  • ห้ามใช้ยา Acetohydroxamic acid ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

การใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยสูงอายุสามารถใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วฯได้ แต่เนื่องจากเป็นวัยที่อาจมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และมีการทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง เช่น ตับ และไต ดังนั้นแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสม และเฝ้าระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

การใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยเด็กสามารถใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วได้เช่นเดียวกับวัยผู้ใหญ่ แต่แพทย์จะปรับขนาดยาฯให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในยาป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • ยา Sodium bicarbonate ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ระดับโซเดียมในเลือดสูง ทำให้ร่างกายบวมน้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้อาการปอดบวม หรือภาวะหัวใจล้มเหลว แย่ลง
  • ยา Potassium citrate ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ระคายเคืองทางเดินอาหาร ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ/ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน ผิวไวต่อแสง ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เบื่ออาหาร เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • ยา Allopurinol ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย ผื่นคัน ปวดบริเวณข้อเท้า เข่า และนิ้วหัวแม่เท้า มีอาการฝืดแข็งตามข้อ (Stiffness) ข้อบวม
  • ยา Acetohydroxamic acid ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายท้อง ผมร่วงมากผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาป้องกันนิ่วในทางเดินปัสสาวะ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. European Association of Urology. EAU Guidelines on Urolithiasis. https://uroweb.org/wp-content/uploads/EAU-Guidelines-Urolithiasis-2016-1.pdf [2018,Dec1]
  2. Fathallah-Shaykh, S., and Langman, C.B. Pediatric Urolithiasis Medication. https://emedicine.medscape.com/article/983884-medication#2 [2018,Dec1]
  3. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Potassium Citrate (Oral Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/potassium-citrate-oral-route/precautions/drg-20074773 [2018,Dec1]
  4. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Sodium Bicarbonate (Oral Route, Intravenous Route, Subcutaneous Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/sodium-bicarbonate-oral-route-intravenous-route-subcutaneous-route/before-using/drg-20065950 [2018,Dec1]
  5. Spernat, D. and Kourambas, K. Urolithiasis – medical therapies. BJU International 108 (2011) : 9-13.
  6. Wayment, R.O. and others. Pregnancy and Urolithiasis Treatment & Managementhttps://emedicine.medscape.com/article/455830-treatment#d6 [2018,Dec1]