ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายกลุ่มเอไมด์ (Immunomodulatory imide drugs)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 8 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมกินยา/ใช้ ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ ควรทำอย่างไร?
- ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์อย่างไร?
- ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์อย่างไร?
- ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย (Immunomodulators)
- มัลติเพิลมัยอีโลมา มะเร็งเอ็มเอ็ม (MM: Multiple myeloma)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคเลือดเอ็มดีเอส (MDS: Myelodysplatic syndrome)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
บทนำ
การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดนั้น ยาส่วนใหญ่ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการเติบโตของเซลล์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ยาที่ยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ(DNA)ในช่วงของการแบ่งตัวของเซลล์ ทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ถูกควบคุม ซึ่งยาส่วนใหญ่ไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจงแก่เซลล์มะเร็ง แต่จะมีความเจาะจงต่อเซลล์ที่แบ่งตัวได้เร็ว ซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งของเซลล์มะเร็ง หากแต่ว่า เซลล์บางชนิดของร่างกายก็เป็นเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วด้วย เช่น เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร ขน เล็บ รวมไปถึงเซลล์เม็ดเลือดต่างๆ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเหล่านี้ จึงเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัด(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้มาก
ในระยะหลังมานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นหาวิธีการต่างๆเพื่อที่จะออกแบบให้ยาต้านมะเร็งมีความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งมากที่สุด เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากยา เช่น การใช้เทคโนโลยีผลิตยาชีววัตถุ รวมไปถึงการศึกษารูปแบบยากลุ่มใหม่ๆ หนึ่งในนั้นคือ การใช้สารเพื่อปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งมีรูปแบบยาหลายชนิด กลุ่มยาหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ กลุ่มยาเอไมด์(Amide) หรือ ยาปรับภูมิคุ้มกันเอไมด์ หรือยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายกลุ่มเอไมด์((Immunomodulatory imide drugs ย่อว่า IMiD)
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ ไม่ใช่กลุ่มยาใหม่แต่อย่างใด ทว่าเป็นการนำตัวยาเก่าแก่อย่าง ยาธาลิโดไมด์ (Thalidomide) มาทำการศึกษาถึงลักษณะการออกฤทธิ์ การนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และในการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ โดยใช้ยาธาลิโดไมด์เป็นยาต้นแบบ ยาธาลิโดไมด์เป็นยาที่เป็นข่าวและมีการวิพากษ์ วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นยาที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ครั้งเมื่อยาในอดีตไม่ได้มีการควบคุมกระบวนการวิจัยและหารพัฒนายา ตลอดจนการศึกษาประสิทธิผล การออกฤทธิ์ และความปลอดภัยจากยาในมนุษย์ จึงมีการนำมาใช้เป็นยาต้านอาเจียน/ยาแก้คลื่นไส้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์เมื่อราว ค.ศ. 1957 ผลปรากฎว่าทารกในครรภ์ที่เกิดมาเป็นโรคโฟโคมีเลีย (Phocomelia) หรือภาวะที่อวัยวะบางอย่างไม่งอก เช่น แขน ขา หรือไม่มีพัฒนาการของอวัยวะในลักษณะที่ควรเป็น แต่ปัจจุบัน เมื่อมีการนำยาในกลุ่มนี้มาศึกษาใหม่ แล้วพบว่ามีฤทธิ์ในการปรับภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จึงมีการนำมาศึกษา วิจัย และพัฒนาเป็นยาขนานอื่นๆในการรักษาโรคต่างๆขึ้น เช่น ยารักษา/ยาต้านมะเร็ง
บทความนี้ จะไม่รวมถึงยาอะพรีมิลาสต์ (Apremilast) ซึ่งเป็นยาที่มีโครงสร้างในกลุ่มเอไมด์ เนื่องจากการออกฤทธิ์ของยาอะพรีมิลาสต์ อาการไม่พึงประสงค์ และข้อควรระวังการใช้ยานี้ มีความแตกต่างจากยาชนิดอื่นๆในกลุ่มยาปรับภูมิคุ้มกันเอไมด์
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีข้อบ่งใช้/สรรคุณ เพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ เช่น
1. โรค Erythema nodosum leprosum ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อน เช่นยา ธาลิโดไมด์
2. โรคมัลทิเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeoloma) ซึ่งคือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง เช่น ยาธาลิโดไมด์ ยาเลนนาลิโดไมด์ (Lenalidomide) และยาพาโมลิโดไมด์ (Pamolidomide)
3. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Mantle cell lymphoma เช่น ยาเลนนาลิโดไมด์ (Lenalidomide)
4. โรค Myelodysplastic Syndrome (MDS) เป็นโรคทางระบบโลหิตวิทยาที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูก มีการแสดงออกในภาวะไขกระดูกไม่ทำงาน เช่น ยาเลนนาลิโดไมด์ (Lenalidomide)
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยทั่วไปคือ การปรับสมดุลของเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างไรก็ดี กลไกการทำงานที่แน่ชัดยังไม่สามารถระบุได้ แต่พบว่ายาในกลุ่มนี้ มีส่วนช่วยเพิ่มระดับเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายรวมไปถึงสารไซโตไคน์/Cytokine (สารโปรตีนสื่อสารระหว่างเซลล์) ที่ช่วยเพิ่มระดับภูมิต้านทานของร่างกาย บางการศึกษาพบว่า ยานี้มีส่วนช่วยในการยับยั้งกระบวนการสร้างหลอดเลือดใหม่เพื่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังต่อไปนี้ เช่น
ก. ยาธาลิโดไมด์ (Thalidomide) เป็นชนิดแคปซูลสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 50, 100, 150 และ 200 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
ข. ยาเลนนาลิโดไมด์ (Lenalidomide) เป็นชนิดแคปซูลสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 2.5, 5, 10, 15, 20 และ 25 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
ค. ยาโพมาลิโดไมด์ (Pomalidomide) เป็นชนิดแคปซูลสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 1, 2,3 และ 4 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาแตกต่างออกไปขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยา สภาวะของโรค/ชนิดของโรค ร่วมกับสภาะการทำงานของไตและตับ แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดยานี้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
เมื่อมีการสั่งยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเฉพาะ ยาต้านซึมเศร้า ยาคลายกังวล/ยาคลายเครียด ยาที่ใช้รักษาโรคจิตเภท ยานอนหลับ ยาต้านชัก และยาต้านมะเร็ง/ยาเคมีบำบัดอื่นๆ
- แจ้งให้ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร ทราบ หากเคยมีประวัติการติดเชื้อเอชไอวี (HIV), โรคเอดส์ (AIDS), ประวัติภาวะเม็ดเลือดต่างๆต่ำ โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวต่ำ, ประวัติโรคลมชัก, ประวัติโรคหัวใจ, โรคไต, โรคตับ, ภาวะการแข็งตัวของเลือดไม่ปกติ
- แจ้งให้ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร ทราบ หากกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้สตรีที่ใช้ยานี้ให้นมบุตร
- แจ้งให้ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร ทราบ หากกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์
หากลืมกินยา/ใช้ ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ ควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาปรับภูมิคุ้มกันกลุ่มเอไมด์ ให้ทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากเลยเวลามื้อยาปกติไปแล้วเกิน 12 ชั่วโมง ให้ข้ามไปทานมื้อยาถัดไปได้เลย ทานตามขนาดยาปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาปรับภูมิคุ้มกันในกลุ่มเอไมด์ อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์/ อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น เกิดอาการง่วงนอน (ยาธิลิโดไมด์) มึนงง สับสน วิตกกังวล อารมณ์เปลี่ยนไป/อารมณ์แปรปรวน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง และปวดกระดูก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปากแห้ง ผิวแห้ง ท้องผูก ในผู้ป่วยชายบางรายอาจมีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง เหงื่อออก กลางคืน น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลด หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลง หรือมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ
อาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง เช่น เกิดเกิดผื่นคัน ผิวหนังลอก รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้า เสียงแหบ มีอาการ ปวดตึง บวมแดง บริเวณแขนหรือขา หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หรือมีอาการโรคลมชัก ตัวเหลืองตาเหลือง ให้รีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด และหากผู้ป่วยที่มีอาการลักษณะเหมือนการเป็นโรคติดเชื้อ เช่น มีไข้ เจ็บคอ หนาวสั่น ไอ บ่อยครั้ง ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน
มีข้อควรระวังการใช้ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ เช่น
- ห้ามใช้ยาในผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในสตรีมีครรภ์โดยเด็ดขาด สตรีที่ต้องใช้ยานี้ควรได้รับการตรวจว่า “ไม่ตั้งครรภ์” อย่างน้อย 2 ครั้งก่อนเริ่มใช้ยานี้
- ขณะใช้ยาในกลุ่มนี้ ผู้ใช้ยานี้ควรใช้การคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 วิธีร่วมกัน ก่อนการใช้ยา 4 สัปดาห์, ระหว่างการใช้ยา, และหลังจากหยุดยาไปแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม และสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสยาในกลุ่มนี้โดยตรง เพราะตัวยาอาจซึมเข้าสู่ร่างกายได้
- สำหรับผู้ชายที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ ควรตระหนักว่า ยาสามารถขับออกทางน้ำอสุจิได้ ดังนั้น ต้องใช้การถุงยางอนามัยชายทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงชนิดของถุงยางอนามัยที่เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีมีครรภ์ ซึ่งการคุมกำเนิดเหล่านี้ ต้องกระทำทุกครั้งระหว่างการใช้ยา และหลังจากหยุดยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์
- หากสงสัยว่าเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างการใช้ยานี้ เช่น ประจำเดือนไม่ปกติ หรือไม่ได้ใช้การคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 วิธี ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ให้เข้าปรึกษาแพทย์โดยทันที
- ยานี้อาจมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือควบคุมเครื่องจักรกลต่างๆเมื่อทานยานี้ ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ยาในกลุ่มนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการแข็งตัวของเลือด (Blood Clots)/ลิ่มเลือด ในหลอดเลือดของ แขน ขา และปอด ดังนั้น หากผู้ใช้ยานี้มีอาการปวด รู้สึกตึง มีการบวมแดง บริเวณดังกล่าวอุ่นกว่าอวัยวะส่วนอื่นๆ หรือมีอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ปวด/เจ็บหน้าอก ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยานี้ ด้วยจะส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้น
- ยานี้อาจมีฤทธิ์ทำให้เกิด อาการมึนงง รู้สึกเหมือนเป็นลม โดยเฉพาะเมื่อลุกขึ้นอย่างรวดเร็วหลังตื่นนอน ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้สามารถทุเลาลงได้โดยให้นั่งบนเตียงหลังตื่นนอน ประมาณ 2-3 นาทีก่อน แล้วค่อยๆลุกขึ้นอย่างช้าๆ
- ยานี้สามารถถูกขับออกทางสารคัดหลั่งต่างๆของร่างกาย ผู้ที่สัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ใช้ยานี้ ควรสวมถุงมือและล้างมือให้สะอาดหลังเสร็จสิ้นการสัมผัสสารคัดหลั่งเหล่านั้น
- ห้ามบริจาคเลือดตลอดระยะเวลาที่ใช้ยากลุ่มนี้ และหลังจากหยุดยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาปรับภูมิคุ้มกันกลุ่มเอไมด์) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ในภาพรวม ยาปรับภูมิคุ้มกันกลุ่มเอไมด์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ หลายชนิด ผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งรายการยาที่ใช้อยู่ทุกชนิดให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบ ก่อนการใช้ยานี้ และตลอดการใช้ยานี้ หากต้องพบ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ท่านอื่น ก็ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นั้นๆทราบว่า กำลังใช้ยาในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
ยาอื่นๆที่มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาในกลุ่มยาปรับภูมิคุ้มกันกลุ่มเอไมด์ เช่น ยาจำพวกเสตียรอยด์ วัคซีนเชื้อเป็น ยาที่มีฤทธิ์เป็นยาการกดประสาทส่วนกลาง ยาที่มีฤทธิ์เป็นยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยาชีววัตถุบางชนิด
นอกจากปฏิกิริยาระหว่างยาในกลุ่มยาปรับภูมิคุ้มกันกลุ่มเอไมด์กับยาอื่นๆแล้ว ยาปรับภูมิคุ้มกันกลุ่มเอไมด์ ยังมีปฏิกิริยาระหว่างยากับผลิตภัณฑ์สมุนไพรบางชนิดด้วย เช่น เหลืองชัชวาลย์ (เล็บวิฬาร์ หรือ Cat’s Claw) และเอ็กไคนาเซีย (Echinacea) กับยาธาลิโดไมด์ ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของผสมไพรเหล่านี้กับยาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ควรเก็บรักษายาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยาปรับภูมิคุ้มกันกลุ่มเอไมด์ ในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ของยานี้ที่เภสัชกรจัดไว้ให้อย่างมิดชิดให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากที่ที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรงและในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำหรือในห้องครัว และหากมียานี้เหลือใช้ ให้ปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการทำลายยาที่เหมาะสม
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกายในกลุ่มเอไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย ดังต่อไปนี้ เช่น
บรรณานุกรม
- Drug Information Handbook. 19th edition. Americam Pharmacists Association.
- Thalidomide Celgene 50 mg Hard Capsules - Summary of Product Characteristics". UK Electronic Medicines Compendium. January 2017.
- Stephens TD, Bunde CJ, Fillmore BJ. Mechanism of action in thalidomide teratogenesis. Biochem. Pharmacol. 2000; 59 (12): 1489–99.
- Uptodate. Thalidomide, Lenalidomide, Pomalidomide.