ยาบำรุงธาตุ ยาปรับธาตุ (Tonic elements)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 27 ธันวาคม 2556
- Tweet
ธาตุ 4 ธาตุในทางแพทย์แผนไทย ซึ่งเมื่อเราจะพูดถึงเกี่ยวกับเรื่อง ยาบำรุงธาตุ หรือยาปรับธาตุนั้น เรามีความจำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นเรื่องธาตุพื้นฐานนี้เสียก่อน เพื่อทำความเข้าใจ มุม มอง และนำไปสู่การวินิจฉัยโรค และการใช้ยาสมุนไพร เพื่อการรักษาได้อย่างเหมาะสม
พื้นฐานสำหรับแพทย์แผนไทย มององค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ประกอบขึ้นจากธาตุ 4 ธาตุ นั่นคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดังนี้
- ธาตุดิน (ปถวีธาตุ) เป็นธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนต่างๆของมนุษย์ หรือทำให้ร่างกายมีสิ่งยึดเหนี่ยวเป็นรูปร่างขึ้นมา ซึ่งประกอบกันทั้งสิ้น 20 ประการ คือ ผม ขน เล็บ เนื้อ ผิวหนัง เอ็น ฟัน กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่ อาหารเก่า (กาก) อา หารใหม่ และมันสมอง/ขมอง
ถ้าจะเปรียบกับแพทย์แผนปัจจุบัน ธาตุดินเปรียบเสมือนเซลล์ หรือเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย
- อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ถือว่าน้ำเป็นองค์ประกอบที่มีมากที่สุดในร่างกาย ทั้งในเซลล์และนอกเซลล์ ประกอบด้วย 12 ประการ คือ น้ำดี น้ำเสลด น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำมันเหลว น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร (น้ำปัสสาวะ)
แพทย์แผนปัจจุบัน น้ำมีความสำคัญต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ เพราะน้ำเป็นสื่อในการพาอาหารไปตามระบบต่างๆของร่างกาย ช่วยให้เกิดความอิ่มเอิบ ความตึงตัว ถ้าขาดน้ำ ผิวหนังจะเหี่ยวย่น ขาดความตึงตัว
- วาโยธาตุ (ธาตุลม) กำหนดไว้ 6 ประการ คือ ลมสำหรับพัดตั้งแต่ปลายเท้าตลอดศีรษะ, ลมพัดตั้งแต่ศีรษะตลอดปลายเท้า, ลมพัดตั้งแต่ท้องแต่นอกลำไส้, ลมพัดในลำไส้ถึงกระเพาะ, ลมพัดทั่วสรรพางค์กาย, และลมหายใจเข้าออก
ตรงกับแพทย์แผนปัจจุบัน ที่หมายความถึง ตัวควบคุมการเคลื่อนไหวทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การยืดหดของกล้ามเนื้อ การบีบตัว การสูบฉีดเลือดของหัวใจ การไหลเวียนเลือด การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร การเคลื่อนไหวของเซลล์ หรือกระแสสัญญาณของระบบประ สาท
- เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ประกอบด้วย 4 ประการ คือ ไฟสำหรับอุ่นกาย, ไฟที่ทำให้ร้อนระส่ำระ สาย (เช่น การอยู่ไม่เป็นสุขจากอากาศร้อน ต้องอาบน้ำ), ไฟสำหรับเผาให้คร่ำคร่า/ชรา, และไฟสำหรับย่อยอาหาร
ธาตุไฟ ตรงกับการแพทย์แผนปัจจุบัน คือกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย เพื่อให้เกิดพลังงานขึ้นมา พลังงานนี้จะทำให้ธาตุดิน (เซลล์และเนื้อเยื่อ) และธาตุน้ำ (เลือดและน้ำเหลือง) ให้คงอยู่ ไม่เน่าเสีย
การแพทย์แผนไทย
ทางการแพทย์แผนไทย การที่ร่างกายมีธาตุทั้ง 4 อย่างสมดุลย่อมหมายถึง ร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคภัย แต่ในทางกลับกัน ถ้าร่างกายมีธาตุทั้ง 4 ที่ไม่สมดุล ก็จำส่งผลให้ร่างกายเจ็บ ป่วย ไม่เจริญเติบโต ผอม โดยที่ถ้าเราต้องการรักษาอาการเจ็บป่วย หรือทำให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ ก็ต้องใช้ สมุนไพรเข้ามาช่วยเรื่องการปรับธาตุหรือปรับสมดุลร่างกายนั่นเอง
คำว่า ธาตุไม่สมดุล หมายความได้ 3 อย่าง คือ
- ธาตุกำเริบ (มีธาตุนั้นมากเกินไป)
- ธาตุหย่อน (มีธาตุนั้นน้อยเกินไป) และ
- ธาตุพิการ (ธาตุมีความบกพร่อง)
ยาบำรุงธาตุตามการแพทย์แผนไทย
จากที่ได้กล่าวข้างต้น ยาบำรุงธาตุ/ยาปรับธาตุ ทางการแพทย์แผนไทย หมายถึง ยาที่ช่วยปรับธาตุทั้ง 4 ให้อยู่ในสมดุล เพื่อให้ร่างกายปกติสุข กล่าวคือ ให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตปกติ ซึ่งส่วนใหญ่ คือ ยาบำรุงธาตุที่ช่วยเพิ่มน้ำหนัก หรือที่ทำให้อ้วน ดังนั้น บทความนี้ จึงจะกล่าวถึงเฉพาะ “ยาบำรุงธาตุที่ช่วยเพิ่มน้ำหนัก”
ก. กลไกการทำงานของยาบำรุงธาตุเพิ่มน้ำหนัก/ทำให้อ้วน ตามหลักแพทย์แผนไทย คือ
- ในกรณีที่การเผาผลาญมากผิดปกติ (เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/Hyperthyroid) เกิดจากธาตุไฟกำเริบ คือ ธาตุไฟมากเกินไป ซึ่ง ยาสมุนไพรเพิ่มน้ำหนักนี้ จะไปปรับธาตุทั้ง 4 ให้ปกติ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เสมอกัน ก็จะเผาผลาญพอดี
- ช่วยเจริญอาหาร ช่วยย่อย ช่วยขับลม ทำให้ทานอาหารได้มากขึ้น ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น ทำให้สารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
- บำรุงโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ล้างพิษในตับ ทำให้นอนหลับลึก หลับเต็มอิ่ม ส่งผลให้กระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอตามธรรมชาติของร่างาย เติมเต็มร่างกายอย่างเต็มที่
- เพิ่มการสะสมไขมัน เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และ เส้นเอ็น ให้แข็งแรง และ หนาแน่นขึ้น ทำให้ดูสมส่วนสุขภาพดี
- มีส่วนผสมของตัวยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิต่างๆได้
ข.ส่วนประกอบสำคัญ
- กำลังวัวเถลิง (Anaxagorea Iuzonensis Gray) มีสรรพคุณ บำรุงโลหิต ทำธาตุให้บริบูรณ์ บำรุงเส้นเอ็น บำรุงกำลัง บำรุงกระดูกให้แข็งแรง เป็นยาอายุวัฒนะ
- บอระเพ็ด (Tinospora crispa L.) มีสรรพคุณ เพิ่มน้ำหนัก บำรุงกำลัง เจริญอาหาร ขับพยาธิ ขับน้ำย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น ต้านอนุมูลอิสระ เป็นยาเย็น ช่วยลดการเผาผลาญที่มากเกินไปได้
- กำลังหนุมาน (Dracaena conferta Ridi.) มีสรรพคุณ ทำกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นให้เจริญแข็งแรง เพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
- กระชายดำ (Kaempferia parviflora Wall.) มีสรรพคุณ ช่วยเพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้ท่านชายหญิง บำรุงผิวพรรณสตรีให้สวยใส เป็นยาเจริญอาหาร ต้านอนุมูลอิสระ
- รากช้าพลู (Piper sarmentosum Roxb.) มีสรรพคุณ ช่วยเจริญอาหาร ขับลมในกระเพาะอา หาร มีปริมาณโปรตีนสูง
- ดีปลี (Piper retrofractum Vahl) มีสรรพคุณ เพิ่มน้ำหนัก ขับลม บำรุงร่างกาย เจริญอาหาร ต้านอนุมูลอิสระ
- แห้วหมู (Cyperus rotundus) มีสรรพคุณ เพิ่มน้ำหนัก เจริญอาหาร ปรับธาตุทั้ง 4 ให้ปกติ บำรุงธาตุ
- สมอไทย (Terminalia chebula) มีสรรพคุณ เป็นยาเจริญอาหาร ยาเพิ่มน้ำหนัก ปรับธาตุทั้ง4 ให้สมดุล กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ล้างพิษในตับ ปรับสมดุลขับถ่าย
- ขัดมอน (Sida rhombifolia L) มีสรรพคุณ เป็นสมุนไพรพลังเย็น ลดการกำเริบของธาตุไฟ (ลดการเผาผลาญที่มากไป) เพิ่มพูนเนื้อเยื่อของร่างกาย
- ถั่วแปปช้าง (Afgekia sericea Craib) มีสรรพคุณ บำรุงไขมัน เพิ่มการสะสมไขมันในร่าง กาย เหมาะสำหรับคนผอม (ถั่วแปปช้าง พบเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทยเท่า นั้น)
อนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ซึ่งในท้องตลาดยังมีอีกหลายตราสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากสมุนไพรไทย ซึ่งมีมากมายหลายชนิดที่ใช้ในการบำรุงธาตุ และยังมียาบำรุงธาตุ ตามบัญชียาหลักแห่งชาติอีก
ยาบำรุงธาตุตามบัญชียาหลักแห่งชาติ
ยาบำรุงธาตุตามบัญชียาหลักแห่งชาติ มีอยู่ 4 ชนิด มีดังนี้
1. ยาตรีเกสรมาศ ยาชง (รพ.)
สูตรตำรับ: ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง ลูกมะตูมอ่อน หนักสิ่งละ 30 กรัม
ข้อบ่งใช้: แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย
ขนาดและวิธีใช้: รับประทานครั้งละ 1 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร ดื่มขณะยายังอุ่น วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
ข้อควรระวัง:
- ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 1 เดือน
- หากใช้เกินจากขนาดที่แนะนำ อาจจะทำให้ท้องผูก
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ การใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และเด็กควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน
2. ยาตรีพิกัด ยาแคปซูล (รพ.)
สูตรตำรับ: ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย
- เนื้อลูกสมอไทย เนื้อลูกสมอพิเภก เนื้อลูกมะขามป้อม หนักสิ่งละ 10 กรัม
- เหง้าขิงแห้ง พริกไทยล่อน ดอกดีปลี หนักสิ่งละ 10 กรัม
- รากเจตมูลเพลิงแดง รากช้าพลู เถาสะค้าน หนักสิ่งละ 10 กรัม
ข้อบ่งใช้: ปรับสมดุลธาตุ
ขนาดและวิธีใช้: รับประทานครั้งละ 250 – 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และการใช้ในเด็กควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันก่อน
ข้อควรระวัง:
- ไม่ควรใช้ยานี้ในฤดูร้อน ส่งผลให้ไฟธาตุกำเริบ
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยา Phenytonin/ยากันชัก, Propranolol/ยาลดความดันโลหิต/ยาโรคหัวใจ, Theophylline/ยาโรคหืด, และ Rifampicin/ยารักษาวัณโรค เนื่องจากยาตำรับนี้มีพริกไทยและดอกดีปลีในปริมาณสูง จึงส่งผลให้อาจเกิดมีปฏิกิริยาระหว่างยา ของยาตำหรับนี้กับยาดังกล่าวได้
3. ยาเบญจกูล มีบางคนใช้ว่า ยาเบญจกุล ยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาแคปซูล (รพ.) ยาชง (รพ.) ยาเม็ด (รพ.)
สูตรตำรับ: ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย ดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูล เพลิงแดง เหง้าขิงแห้ง หนักสิ่งละ 20 กรัม
ข้อบ่งใช้: บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ
ขนาดและวิธีใช้:
- ชนิดชง รับประทานครั้งละ 1.5 – 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
- ชนิดผง รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 เวลา หลังอาหาร
- ชนิดแคปซูล ชนิดเม็ด และชนิดลูกกลอน รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และเด็กเล็ก
ข้อควรระวัง:
- ไม่ควรใช้ยานี้ในฤดูร้อน จะส่งผลให้ไฟธาตุกำเริบ
- ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 7 วัน
4. ยาปลูกไฟธาตุ ยาแคปซูล (รพ.) ยาลูกกลอน (รพ.)
สูตรตำรับ: ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย
- พริกไทยล่อน หนัก 50 กรัม
- ดอกดีปลี รากช้าพลู ผักแพวแดง (ทั้งต้น) เถาสะค้าน เหง้าขิงแห้ง ลูกผักชีล้อม เหง้าว่านน้ำ หัวแห้วหมู ผิวมะกรูด และลูกพิลังกาสา หนักสิ่งละ 5 กรัม
ข้อบ่งใช้: ปลูกไฟธาตุให้บริบูรณ์ ปรับระบบการย่อยอาหารให้ดีขึ้น
ขนาดและวิธีใช้: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ในเด็ก และผู้ที่มีไข้
ข้อควรระวัง: ควรระวังการใช้ ร่วมกับยา Phenytoin, Propranolol, Theophylline และ Rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูงเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน หัวข้อ ยาตรีพิ กัด
อนึ่ง ยาตำหรับนี้ เมื่อกินแล้ว อาจทำให้เกิด แสบร้อนกลางอก/กรดไหลย้อน ได้
หมายเหตุสำคัญ
ทุกๆคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราญ และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยา มีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
(รพ.) ย่อมาจาก โรงพยาบาล หมายความว่า เป็นยาที่ปรุงผลิตจากโรงพยาบาลไม่ใช่จากบริษัทยา)
บรรณานุกรม
- http://www.yaforyou.com [2012,Dec9].
- http://www.morsengrich.com/four-element-thai-traditional-medicine/ [2013,Dec9].
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/herbal/list/643 [2013,Dec9].
- http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-090.htm [2013,Dec9].
- http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/mobile/TH/knowledge.php?id=98 [2013,Dec9].