ยาบำบัดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือ ยาบำบัดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormone replacement therapy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน หรือภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyroidism) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ป่วยเป็น Hashimoto disease(โรคออโตอิมมูนของต่อมไทรอยด์), ต่อมไทรอยด์ถูกทำลายโดยการผ่าตัด, ต่อมไทรอยด์ถูกทำลายจากการใช้สารกัมมันตรังสี(น้ำแร่รังสีไอโอดีน), หรือจากสาเหตุอื่นๆ จนเป็นผลให้ต่อมไทรอยด์หยุด/ลดการผลิตฮอร์โมนสำคัญคือ ที3 (T3 หรือ Triiodothyronine) และ ที4 (T4 หรือ Tetraiodothyronine หรือThyroxine) ซึ่งไทรอยด์ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัว มีความสำคัญต่อกระบวนการเมตาโบลิซึม(Metabolism/การใช้พลังงาน)ต่างๆของร่างกายเป็นอย่างมาก เช่น กระบวนการเปลี่ยนแปลงสารอาหารไปเป็นพลังงาน, กระบวนการทำให้การเต้นของหัวใจให้มีจังหวะความเร็วเป็นไปอย่างปกติ, การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย, ความสามารถในการคิดจดจำของสมอง,และอื่นๆ การพร่อง/ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจึงเป็นเหตุให้กระบวนการเมตาโบลิซึมต่างๆในร่างกายผิดเพี้ยนไป

ไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น ที3 (T3) จะเป็นตัวออกฤทธิ์ที่แรงกว่า ที4 (T4) แต่ ที3 (T3) มีอายุหรือค่าครึ่งชีวิต/ระยะครึ่งชีวิต(Half life)ในร่างกายได้เพียงประมาณ 24 ชั่วโมง หรือประมาณ 1 วัน ในขณะที่ ที4 (T4) มีอายุหรือค่าครึ่งชีวิตได้นานถึงประมาณ 7 วัน

ฮอร์โมนที4 (T4) ในกระแสเลือดจะเข้าจับกับเซลล์ของอวัยวะต่างๆในร่างกาย จากนั้นจะเกิดการปลดปล่อยธาตุไอโอดีน 1 อะตอมให้กับเซลล์ของอวัยวะนั้นๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างจาก ที4 (T4) ไปเป็น ที3 (T3) และฮอร์โมนที3/ที3 (T3) นี่เอง ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดกระบวนการเมตาโบลิซึมต่างๆตามมา

จากเหตุผลดังกล่าว เราจึงพบเห็นการใช้ยาฮอร์โมนที4 (T4) ที่ถูกผลิตออกมาเป็นไทรอยด์ฮอร์โมนสังเคราะห์ โดยมีชื่อเรียกว่ายา “เลโวไทรอกซิน (Levothyroxine)” มากกว่าการใช้ยา ที3 เพื่อนำมารักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โดยผู้ป่วยรับประทานเพียงวันละ 1 เม็ดก็สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายได้ทั้งวัน และยังคงระดับของไทรอยด์ฮอร์โมนในกระแสเลือดได้อย่างยาวนาน

ส่วนยาที่เป็นฮอร์โมนประเภท ที3 (T3) ก็ถูกผลิตขึ้นมาเช่นเดียวกัน โดยมีชื่อเรียกว่ายา “ไลโอไทโรนีน (Liothyronine)” และนำมาใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดผู้ป่วยหลังจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือระหว่างรอการบำบัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตรังสี

สำหรับผู้ที่ได้รับยาไทรอยด์ฮอร์โมน เกินขนาด อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึก ร้อน เหงื่อออกมาก มือสั่น หลับยาก อารมณ์แปรปรวน เสียสมาธิ น้ำหนักตัวลด ประจำเดือนผิดปกติ หากพบอาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นหลังการใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ได้ดูแลอาการ และพิจารณาปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

การบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นหน้าที่ของแพทย์ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด และควรหลีกเลี่ยงการซื้อหายานี้มารักษาตนเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกร

ยาเพื่อการบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนมีกี่ชนิด?

ยาบำบัดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

ยาเพื่อการบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน/ยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ มี2 ชนิด/กลุ่ม ได้แก่

  • ฮอร์โมนสังเคราะห์ ที4 (T4): มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 ไมโครกรัม/เม็ด
  • ฮอร์โมนสังเคราะห์ ที3 (T3): มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็น ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 5, 25, และ 50 ไมโครกรัม/เม็ด และเป็นยาฉีดขนาด 10 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพื่อบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นอย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบำบัดร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน/ยาไทรอยด์ฮอร์โมน คือ ตัวยาที่เป็นฮอร์โมนที3 (T3) และที4 (T4) จะทำให้กระบวนการเมตาโบลิซึม(Metabolism) ขั้นพื้นฐานของร่างกายดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ เช่น การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อนำมาเป็นพลังงาน การสังเคราะห์สารโปรตีน การเต้นของหัวใจ ความคิดอ่านของสมอง ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติและมีสมดุล

ขนาดรับประทานของผู้ที่มีภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นอย่างไร?

ในการเริ่มต้นบำบัดผู้ที่มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน แพทย์จะใช้ข้อมูลบางประการมาประกอบในการสั่งจ่ายยาไทรอยด์ฮอร์โมนนี้ เพื่อบำบัดอาการของผู้ป่วย อาทิ สภาพการทำงานของต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยขณะนั้นๆ น้ำหนักตัวผู้ป่วย อายุ และโรคร่วมต่างๆของผู้ป่วย ทั้งนี้การใช้ยาบำบัดผู้ที่มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน(ยาไทรอยด์ฮอร์โมน หรือ ยา ที4, หรือยาที 3) จะต้องอาศัยความต่อเนื่องไปสักระยะจนสภาพต่อมไทรอยด์กลับมาเป็นปกติ ซึ่งบ่อยครั้งก็ต้องใช้ยาฯไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ระหว่างที่มีการรับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล และรับการตรวจเลือด การตรวจร่างกายเป็นระยะๆไป เพื่อแพทย์จะได้ปรับการใช้ยาฯนี้ให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายปัจจุบันของผู้ป่วย รวมถึงตรวจสอบว่า ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนนี้หรือไม่

ขนาดรับประทานของยาไทรอยด์ฮอร์โมน มีความแตกต่างกันออกไป สำหรับผู้ป่วยคนเดียวกัน หากใช้ยาที4 (T4) ในการรักษา แพทย์สามารถสั่งจ่ายเพียงวันละ 1 ครั้ง กรณียา ที3 (T3) แพทย์อาจจะสั่งจ่ายมากกว่า 1 ครั้ง/วัน ทั้งนี้เป็นเพราะยาที3 (T3) มีการออกฤทธิ์ที่แรงกว่ายาที4 (T4) แต่มีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้สั้นกว่ายาที4 (T4) ถึงประมาณ 7 เท่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ยาที4 (T4) เป็นยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่ได้รับความนิยมมากกว่ายา ที3 (T3)

อาจเปรียบเทียบการใช้ยาที4 (T4) และยาที3 (T3) ดังนี้

ก. ขนาดรับประทานของยาที3 (T3/Liothyronine) เพื่อบำบัดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 25 ไมโครกรัม วันละ1 ครั้ง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 25 ไมโครกรัม ทุกๆ 1 – 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25 – 75 ไมโครกรัม/วัน

ข. ขนาดรับประทานของยาที4 (T4/Levothyroxine) เพื่อบำบัดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 – 125 ไมโครกรัม วันละ1 ครั้ง ผู้ป่วยอาจได้รับยาจากแพทย์สูงถึง 300 ไมโครกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางประการ เช่น ผู้ป่วยมีภาวะดูดซึมยานี้ต่ำ หรือมีการใช้ยาอื่นๆที่ลดการดูดซึมของยาที4 (T4)ร่วมอยู่ด้วย เช่น ยาลดกรด เป็นต้น

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยาและขนาดยานี้ในเด็กให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง หรือรับประทานยาก่อนอาหารประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี
  • ยาที4 (T4) จะมีความนิยมและใช้มากกว่ายาที3 (T3)

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพื่อบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพื่อบำบัดภาวะร่างกายพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน/ยาไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ผู้ป่วยต้องแจ้งรายละเอียด ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ อาการที่มีในปัจจุบัน ให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด
  • ขนาดการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ในการบำบัดภาวะพร่องไทรอด์ฮอร์โมนต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ต้องไม่ปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานยานี้เอง โดยดูจากการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วยว่าเป็นอย่างไร
  • กรณีที่มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อการดำเนินของชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว ปวดศีรษะ มีไข้ เกิดอาการชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ควรรีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
  • ห้ามใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนสังเคราะห์ที4 (T4) กับผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง และผู้ป่วยด้วยหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน
  • ควรรับประทานยาฮอร์โมนที4 (T4) และยาที3 (T3) ก่อนอาหารประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการดูดซึมของยานี้จากอาหาร บางกรณีแพทย์อาจให้รับประทานยาฮอร์โมนนี้ในช่วงเวลาก่อนนอน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมอาหาร
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยาที4 (T4) และยาที3 (T3) ที่หมดอายุ นอกจากไม่ได้ทำให้การรักษาดีขึ้นแล้ว อาจทำให้อาการป่วยแย่ลง และอาจได้รับพิษจากยานี้ที่เสื่อมสภาพตามมา
  • ห้ามแบ่งยาไทรอยด์ฮอร์โมน(ยาที4 หรือ ยาที3)ให้ผู้อื่นรับประทาน และการใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนต้องได้รับการตรวจเลือด และการประเมินขนาดการใช้ยานี้โดยแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นยาลดน้ำหนัก
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาที4 และยา ที3) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฮอร์โมนที4 (T4) และที3 (T3) มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไทรอยด์ฮอร์โมน/ยาฮอร์โมน ที4 (T4) และยาที3 (T3) มีผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

ก. ผลข้างเคียงจากยาที3 (T3): เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีไข้ มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ความดันโลหิตผิดปกติอาจสูงหรือต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น

ข. ผลข้างเคียงจากที4 (T4): เช่น กระสับกระส่าย มือสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย เป็นตะคริว เหงื่อออกมาก หน้าแดง ปวดศีรษะ ตัวร้อน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ซึมเศร้าอย่างรุนแรง น้ำหนักตัวลด ประจำเดือนผิดปกติ ท้องเสีย อาเจียน ลดมวลกระดูก(กระดูกบาง หรือ กระดูกพรุน) มีอาการชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และโคม่า

หากลืมรับประทานที4 (T4) และที3 (T3) ควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมน/ยาที4, หรือยาที3 สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

ควรเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างไร?

ควรเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ยาไทรอยด์ฮอร์โมน เช่น

  • สำหรับยาฉีด ควรเก็บในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • สำหรับยาเม็ดชนิดรับประทาน ควรเก็บในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส
  • ทั้งนี้ยานี้ทุกรูปแบบผลิตภัณฑ์ ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยาไทรอยด์ฮอร์โมนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไทรอยด์ฮอร์โมนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Levothyroxine (ยาT4)ร่วมกับ ยาลดกรด สามารถรบกวนการดูดซึม ของยา Levothyroxine จนอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาการรับประทานห่างกันประมาณ 4 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ ยาลดกรดกลุ่มดังกล่าว เช่นยา Aluminium hydroxide, Calcium carbonate และ Magnesium hydroxide
  • การใช้ยา Levothyroxine (T4) ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน สามารถส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นได้ การใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานยาของผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป ยารักษาโรคเบาหวานดังกล่าว เช่นยา Glimepiride, Glipizide, และ Metfomin
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Liothyronine (T3) ร่วมกับยา Amiodarone, Carbamazepine, Phenytoin, Phenobarbital, Rifampicin, Estrogen, ด้วยยาเหล่านี้สามารถลดความเข้มข้นของยา T3 ในกระแสเลือดจนอาจส่งผลทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษาตามมา

ผลิตภัณฑ์ยาที4 (T4) และยาที3 (T3) มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต และผู้จำหน่าย เช่น

ก. ยาที4:

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
El-Thyro (เอล-ไทโร)M.J. Biopharm
Eltroxin (เอลทรอกซิน)Aspen Pharmacare
Euthyrox (ยูไทร็อก)Merck
Patroxin (แพทร็อกซิน)Patar Lab
Pondtroxin (พอนทร็อกซิน)Pond’s Chemical
Thyrosit (ไทโรซิด)Sriprasit Pharma
Thyroxine-Lam Thong (ไทร็อกซีน-แหลมทอง)Lam Thong

ก. ยาที3: ชื่อการค้า คือ Cytomel (ไซโทเมล) บริษัทผู้ผลิต คือ GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. http://www.endocrineweb.com/conditions/hypothyroidism/what-thyroid-hormone-replacement-therapy [2016,Nov26]
  2. http://www.endocrineweb.com/conditions/hypothyroidism/synthetic-t4-supplements-hypothyroidism [2016,Nov26]
  3. https://www.drugs.com/dosage/levothyroxine.html#Usual_Adult_Dose_for_Hypothyroidism [2016,Nov26]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/levothyroxine%20sodium/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov26]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/liothyronine/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov26]
  6. https://www.drugs.com/dosage/liothyronine.html#Usual_Adult_Dose_for_Hypothyroidism [2016,Nov26]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Liothyronine [2016,Nov26]