ยานิโคลซาไมด์ (Niclosamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยานิโคลซาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยานิโคลซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยานิโคลซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยานิโคลซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยานิโคลซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยานิโคลซาไมด์อย่างไร?
- ยานิโคลซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายานิโคลซาไมด์อย่างไร?
- ยานิโคลซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณาณุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Cysticercosis)
- ตืดวัว พยาธิตืดวัว (Beef Tapeworm infection)
- โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)
- ตืดแคระ โรคพยาธิตืดแคระ (Dwarf tapeworm infection)
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
บทนำ
ยานิโคลซาไมด์ (Niclosamide) เป็นยาฆ่า/ยาถ่ายพยาธิที่เจาะจงกับพยาธิตัวตืด(เช่น พยาธิตืดหมู, พยาธิตืดวัว) ไม่สามารถฆ่าพยาธิตัวกลม หรือพยาธิเข็มหมุดได้ ยานี้ถูกออกแบบให้ต้องเคี้ยวก่อนกลืน ขนาดรับประทานจะขึ้นกับ ชนิดของพยาธิ และน้ำหนักตัวของผู้ป่วย
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ยานี้เป็นยาที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน ทางคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้นิโคลซาไมด์เป็นยาอันตราย การใช้ยาจึงควรอยู่ภายในการควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
ยานิโคลซาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร
ยานิโคลซาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น เพื่อรักษา
- พยาธิตืดหมู
- พยาธิตืดวัว และ
- พยาธิตืดแคระ
ยามีเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยานิโคลซาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการออกซิเดทีฟฟอสโฟรีเลชัน (Oxidative phosphorylation: กระบวนการแปรรูปพลังงาน) ในไมโทคอนเดรีย(Mitochondria: หน่วยสำคัญของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน) ของหนอนพยาธิ ทำให้ตัวพยาธิขาดพลังงานในการดำรงชีวิตและตายในที่สุด
ยานิโคลซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานิโคลซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 500 มิลลิกรัม/เม็ด
ยานิโคลซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยานิโคลซาไมด์ มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับฆ่าพยาธิตืดหมู: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี: รับประทาน 2 กรัม ครั้งเดียวหลังอาหารเช้า
- เด็กอายุ 2 - 6 ปี: รับประทาน 1 กรัม ครั้งเดียวหลังอาหารเช้า
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: รับประทาน 500 มิลลิกรัม ครั้งเดียวหลังอาหารเช้า
ข. สำหรับฆ่าพยาธิตืดวัว: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี: รับประทาน 1 กรัมหลังอาหารเช้า หลังจากนั้นอีก 1 ชั่ว โมงรับประทานอีก 1 กรัม
- เด็กอายุ 2 - 6 ปี: รับประทาน 500 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้าและหลังจากนั้นอีก 1 ชั่วโมง รับประทาน 500 มิลลิกรัม
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: รับประทาน 250 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้า หลังจากนั้นอีก 1 ชั่วโมง รับประทาน 250 มิลลิกรัม
ค. สำหรับฆ่าพยาธิตืดแคระ(โรคพยาธิตืดแคระ): เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี: รับประทานเริ่มต้น 2 กรัมในวันแรก และวันถัดมารับประ ทานวันละ 1 กรัม เป็นเวลา 6 วัน
- เด็กอายุ 2 - 6 ปี: รับประทานเริ่มต้น 1 กรัมในวันแรก และวันถัดมารับประทานวันละ 500 มิลลิกรัมเป็นเวลา 6 วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: รับประทาน 500 มิลลิกรัมในวันแรก และวันถัดมารับประทานวันละ 250 มิลลิกรัมเป็นเวลา 6 วัน
อนึ่ง กรณีโรคพยาธิตืดแคระ ควรรับประทานยานี้ พร้อมอาหาร หรือหลังอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยานิโคลซาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานิโคลซาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานิโคลซาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยานิโคลซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานิโคลซาไมด์อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- คลื่นไส้
- ปวดท้อง
- เวียนศีรษะ
มีข้อควรระวังการใช้ยานิโคลซาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานิโคลซาไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานิโคลซาไมด์
- ระมัดระวังการใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กเล็ก (โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด) และผู้สูงอายุ ซึ่งการใช้ยาในบุคคลกลุ่มนี้ ควรเป็นการสั่งใช้ยาจากแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยานิโคลซาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยานิโคลซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานิโคลซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยานิโคลซาไมด์ ร่วมกับแอลกอฮอล์ สามารถทำให้ผลข้างเคียงของการใช้ยานี้มีมากขึ้น จึงควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายานิโคลซาไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยานิโคลซาไมด์ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยานิโคลซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานิโคลซาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
CB-99 (ซีบี-99) | Charoen Bhaesaj Lab |
Heroanson (ฮีโรแอนซัน) | Heromycin Pharma |
Manoverm (แมโนเวิร์ม) | March Pharma |
Niclosamide Community Pharm (นิโคลซาไมด์ คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Niclosamide Picco (นิโคลซาไมด์ พิคโค) | Picco Pharma |
Niclosamide T Man (นิโคลซาไมด์ ทีแมน) | T. Man Pharma |
Sinchoni (ซินโชนี) | Chinta |
Sinper-Tabs (ซินเปอร์ แท็บส์) | SSP Laboratiories |
Telmitin (เทลมิทิน) | Nakornpatana |
Topida (โทพิดา) | T. Man Pharma |
Utosamide (ยูโทซาไมด์) | Utopian |
Yomesan (โยเมซาน) | Bayer HealthCare Pharma |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Niclosamide [2020,May9]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fniclosamide%2f [2020,May9]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=niclosamide[2020,May9]